ย้อนดู ‘3 ยูนิคอร์น’ สัญชาติไทยที่เกิดพร้อมกันในปี 2021

หากพูดถึงวงการสตาร์ทอัพไทยที่มีมานานเกือบ 10 ปี แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังหลายคนเริ่มมองว่าเป็นขาลง ขนาด ‘Dtac’ ยังยุบ ‘Dtac Accelerate’ ไป หลายคนในแวดลงมองว่ามีเพียง ‘ยูนิคอร์น’ หรือ บริษัทที่มีมูลค่า ‘1,000 ล้านดอลลาร์’ เท่านั้นที่จะฟื้นความเชื่อมั่นได้ และในที่สุดปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยก็มียูนิคอร์นถือกำเนิดแถมไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่กลับมีถึง 3 ราย ภายในปีเดียวกัน โดย Positiongmag จะสรุปยูนิคอร์นไทย 3 รายว่ามีใครบ้าง

1. Flash Express

ผู้ก่อตั้ง : นายคมสันต์ ลี

ธุรกิจ : บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซครบวงจร (Flash Logistics, Flash Fulfillment, Flash Home, Flash Pay, Flash Money)

Flash Express (แฟลช เอ็กซ์เพรส) ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ก่อนจะให้บริการในปี 2018 ซึ่งถือเป็นช่วงที่อีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต จุดเด่นของแฟลชคือ ให้บริการตลอด 7 วันไม่มีหยุด มีบริการรับถึงบ้านฟรี เพื่อตัดปัญหาการหาหน้าร้าน รวมถึงราคาที่เริ่มต้นเพียง 15 บาท โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา Flash มีการเติบโตกว่า 1,000% และได้มีการแตกบริการไปอย่างครบวงจร และในวันที่ 31 พ.ค. 2021 Flash ได้ระทมทุนซีรีส์ D+ และ E จาก SCB 10X, PTTOR, TOP และอื่น ๆ ส่งผลมูลค่าบริษัททะลุ 30,000 ล้านบาท ขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย

2. Ascend Money

ผู้ก่อตั้ง : นายศุภชัย เจียรวนนท์

ธุรกิจ : บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ในเครือแอสเซนด์ ให้บริการ Fintech เช่น E-Wallet (True Money), สินเชื่อออนไลน์ (Ascend Nano), ประกันออนไลน์ (Ascend Assurance, Ascend Weath)

Ascend Money เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี หากพูดถึงชื่อบริษัทหลายคนคงไม่คุ้น แต่ถ้าพูดชื่อของ True Money คนต้องรู้จักแน่นอน โดย True Money เริ่มให้บริการปี 2003 และในปี 2016 สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยบริการ True Money Wallet นอกจากนี้ยังได้ Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group เป็นพันธมิตร

ปัจจุบัน True Money ได้ให้บริการใน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดผู้ใช้กว่า 50 ล้านราย เฉพาะยอดผูู้ใช้ไทยมีมากกว่า 20 ล้านราย ส่วนยอดการทำธุรกรรมรวมทั้งหมดกว่า 2,200 ล้านครั้ง เป็นมูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ (ตัวเลขสิ้นปี 2020)

และในเดือน ก.ย 2021 Ascend Money ก็มีมูลค่าเพิ่มเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากระดมทุนรอบล่าสุดจำนวน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ (Bow Wave Capital Management) จากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ทำให้บริษัทกลายเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย

3. Bitkub 

ผู้ก่อตั้ง : นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโอชา

ธุรกิจ : บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในเครือบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป Exchange Platform สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

หากพูดถึงคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum ต่างก็มีอยู่นานเเล้ว เเต่กระเเสกลับมาร้อนแรงขึ้นในช่วงปี 2020-2021 เนื่องจากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนใคร ๆ ก็อยากลงทุน โดยในไทยเองก็มี บิทคับ (Bitkub) Exchange Platform สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดย Bitkub ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018

เนื่องจากกระเเสความร้อนแรงของคริปโตเคอร์เรนซีรวมถึงแพลตฟอร์มของ Bitkub ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2021 กลุ่ม SCBX ประกาศใช้เงินลงทุนถึง 17,850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน Bitkub ทำให้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของเมืองไทยทันที

เชื่อว่าอนาคตของสตาร์ทอัพไทยคงไม่ได้มียูนิคอร์นแค่ 3 ตัวนี้แน่ ๆ เพราะยังมีสตาร์ทอัพอีกหลายรายที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น ‘LineMan Wongnai’ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าถึงระดับ ‘เซนทอร์’ หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท หรืออย่าง ‘Omise’ ก็เพิ่งสามารถระดมทุนในซีรีส์ C มาได้ ดังนั้น ในปี 2022 นี้จะได้เห็น ยูนิคอร์น ตัวที่ 4 หรือไม่ต้องติดตาม