วิเคราะห์เศรษฐกิจดิจิทัล ‘อาเซียน’ โตเเรง ดึงเงินทุนทั่วโลก ฉายเเววมี ‘ยูนิคอร์น’ เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน กำลังเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีเเนวโน้มเติบโตสดใส แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ‘หน้าใหม่’ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด เทคสตาร์ทอัพดาวรุ่ง การขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเเละการเงินดิจิทัล

Nikkei Asia นำเสนอบทวิเคราะห์น่าสนใจ ถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศอาเซียนที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

ชาวเน็ตหน้าใหม่ มาพร้อมช้อปปิ้ง 

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ซึ่งเผยเเพร่เมื่อ 10 ..ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของ Google , Temasek ของสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษาอย่าง Bain & Co. สำรวจกลุ่มเศรษฐกิจในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

พบว่า ในปีนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่กว่า 40 ล้านคนในภูมิภาค เข้ามาในโลกออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันยอดรวมของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และที่สำคัญคือในจำนวนนี้กว่า 8 ใน 10 คน เคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

Stephanie Davis รองประธาน Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคก็เป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการบริโภคออนไลน์ในระดับสูงอยู่เเล้ว

เเต่หลังจากโรคระบาด การเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่นอกเมือง มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในปี 2020 และขยายตัวมากขึ้นไปอีกในปีนี้ เราจะเริ่มมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและในชนบท

‘ยูนิคอร์น’ ในอาเซียนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

อีกประเด็นสำคัญ คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่าง ผู้ให้บริการซูเปอร์แอป Grab และ GoTo รวมถึง Sea Group บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้อาเซียน มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เพิ่มขึ้นถึง 11 ราย ทำให้ปัจจุบันมียูนิคอร์นรวมเป็น 23 ราย

การที่บริษัทต่างๆ มุ่งเน้นไปในอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีทางการเงิน จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียนในทศวรรษหน้า

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปีเกิดข้อจำกัดทางสังคมเเละเศรษฐกิจต่างๆ มากมายผู้บริโภคทั่วโลกต้องพึ่งพาบริการดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหล่านี้ ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในอาเซียนในปีนี้ ขยายตัวถึง 49% เป็น 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020

ธุรกิจการจัดส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด โดย 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ขณะที่ บริการทางการเงินดิจิทัล ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง’ รายงานระบุว่า การชำระเงินดิจิทัลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets) กลายเป็นเทรนด์กระแสหลักอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่การซื้อสินค้ามักจะถูกชำระผ่านออนไลน์แทนที่จะใช้เงินสด

การชำระเงินทางดิจิทัลขยายตัว 9% ตามมูลค่าธุรกรรมรวม จาก 6.46 เเสนล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 7.07 เเสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดว่าจะสูงถึง 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

ด้านการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในอาเซียน เพิ่มขึ้น 48% จาก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เเละคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.16 เเสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

Photo : Shutterstock

ดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลก 

ความโดดเด่นของฟินเทคและอีคอมเมิร์ซฉายเเสงดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนในสตาร์ทอัพ รายงานของ Google ระบุว่า เงินทุนของจากทั่วโลกเข้ามาในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของอาเซียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

โดยมูลค่าข้อตกลงทางธุรกิจในบริษัทเทคโนโลยีอาเซียนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 65% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเกือบเท่ากับมูลค่ารวมของข้อตกลงตลอดทั้งปี 2020 ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนใหญ่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมการขนส่งและอาหาร สื่อออนไลน์และการเดินทางออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Sea Group บริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมหลายธุรกิจทั้งเกมออนไลน์อย่าง Garena เเละอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee

การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มทุนในภูมิภาคหรือท้องถิ่นเท่านั้น เเต่กระแสเงินทุนจำนวนมากนี้มาจากนักลงทุนทั่วโลก

 

ที่มา : Nikkei Asia