มาทำความรู้จักกับ ‘ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I’ กองทุนสตาร์ทอัพ มูลค่า 3 พันล้าน โปรเจกต์ใหม่จาก ‘กรุงศรี ฟินโนเวต‘ เตรียมเปิดรับนักลงทุนสถาบัน–นักลงทุน Ultra High Net Worth ร่วมปั้นทีม ‘ยูนิคอร์นไทย’ ลุยฟินเทค–อีคอมเมิร์ซ–ออโตโมทีฟ
‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ บริษัทร่วมลงทุนเเบบ Corporate venture Capital หรือ CVC ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ ที่เปิดตัวมาตั้งเเต่ปี 2558 ด้วยเป้าหมายเฟ้นหาสตาร์ทอัพใหม่ๆ บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยเเละอาเซียน
หลังคลุกคลีในวงการนี้หลายปี ทุ่มเงินลงทุนให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่หลายสิบเจ้า จนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ธุรกิจขนส่งดาวรุ่งอย่าง ‘Flash Express’ ขึ้นเเท่นยูนิคอร์นรายเเรกของไทยได้สำเร็จ
มาวันนี้ ถึงเวลาขยับไปอีกก้าว ด้วยการจัดตั้ง ‘ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I’ กองทุนสตาร์ทอัพ ประเภท Private Equity Trust รายแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่า 3,000 ล้านบาท
ความน่าสนใจคือ เป็นการเปิดให้นักลงทุนสถาบันเเละนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) มีช่องทางใหม่ในการลงทุนบริษัทสตาร์ทอัพที่พวกเขาสนใจได้โดยเฉพาะ
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เล่าให้ฟังว่า ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย และองค์กรที่สนใจลงทุนในสตาร์ทอัพ แต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพได้เข้าลงทุน ซึ่งกรุงศรีฟินโนเวตจะเข้ามาช่วยในจุดนี้
โดยจะเริ่มเดินสายนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Roadshow) และเปิดขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ตั้งแต่ปลายเดือนส.ค. จากนั้นจะเตรียมขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ผ่านกองทุนรวม บริหารจัดการโดย บลจ.กรุงศรีอยุธยา ในช่วงเดือน พ.ย. เปิดลงทุนขั้นต่ำที่รายละ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) ตามนิยามของ ก.ล.ต. คือ บุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ต่อปี 7 ล้านบาทขึ้นไป (ถ้ารวมคู่สมรสจะเป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป) เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ไม่รวมเงินฝาก 25 ล้านบาทขึ้นไป หรือรวมเงินฝากจะเป็น 50 ล้านบาทขึ้นไป
ตามหา ‘สตาร์ทอัพ’ เเบบไหน ?
กองทุนขนาด 3,000 ล้านบาทนี้ จะมุ่งเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘ระดับซีรีส์ A ขึ้นไป’
เเบ่งคร่าวๆ เป็นการลงทุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย ราว 70% และในต่างประเทศ อีก 30% โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เเละความน่าสนใจ เบื้องต้น จะเน้นไปการลงทุนในสตาร์อัพ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้เเก่
- ฟินเทค 40%
- อีคอมเมิร์ซ 30%
- นวัตกรรมยานยนต์ อีก 30%
นอกจากนี้ ยังมองหากลุ่มสตาร์ทอัพที่ ‘ฟื้นตัวเร็ว’ หรือได้รับโอกาสทางธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า Post-Pandemic Boom Startup
กองทุนนี้มีโมเดลธุรกิจมาจาการลงทุนสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นเเละสหรัฐฯ เเละการที่กรุงศรี ฟินโนเวต มีบริษัทเเม่เป็น MUFG ธนาคารใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายทั่วโลก มีความเชี่ยวชาญการลงทุนสตาร์ทอัพ ก็เป็นการ ‘อุดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง’ เเละต่อยอดพัฒนาธุรกิจกับพันธมิตรได้ในอนาคต
ผู้บริหาร กรุงศรี ฟินโนเวต ย้ำว่า ผลตอบแทนกองทุนนี้ ’ไม่สามารถการันตีได้’ เเต่มั่นใจว่าจะสร้างผลตอบเเทนได้มากกว่าที่บริษัทเคยทำได้ เฉลี่ยที่ 20.8% มากกว่าผลตอบแทนของกองทุนเวนเจอร์ต่างๆ ในตลาดที่เฉลี่ยราว 18%
ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรุงศรี ฟินโนเวตเข้าลงทุนใน 15 สตาร์ทอัพ มูลค่าลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาทส่วน ธนาคารกรุงศรีฯ เป็นสถาบันการเงินที่ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 63 บริษัท กว่า 106 โปรเจกต์ และส่งเสริมการทำงานด้านดิจิทัลของกรุงศรีและบริษัทในเครือ 37 หน่วยธุรกิจ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าประเทศไทยเเละอาเซียน มีศักยภาพเเละฐานผู้บริโภคหลายร้อยล้านคน เเต่ทำไมบริษัทลงทุนต่างชาติ ยังไม่เข้ามาลงทุนมากนัก เมื่อเทียบกับโซนตะวันตก
หลักๆ มาจากปัจจัยวัฒนธรรมที่เเตกต่างกัน ปัญหาเรื่องภาษา เเละกฎระเบียบต่างๆ โดยกรุงศรี ฟินโนเวต จะพยายามเข้ามาเป็น ‘ตัวกลาง’ ประสานเเละเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สตาร์ทอัพคนไทยเเละอาเซียน
“เราต้องการสร้างร่วมผลักดันให้สตาร์ทอัพในไทยและอาเซียน เติบโตเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกลายยูนิคอร์นตัวที่ 2 3 4 5 ต่อไปเรื่อยๆ ”
โอกาสตลาด ‘สตาร์ทอัพ’ โตในอาเซียน
ด้านความพร้อมของกองทุน ‘ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I’ คาดว่าจะสามารถเริ่มลงทุนในบริษัท ‘สตาร์ทอัพรายแรก’ ได้ในเดือนธ.ค.นี้ (หลังเปิดระดมทุนจากนักลงทุนสถาบัน/นักลงทุน Ultra High Net Worth)
ขณะนี้ มีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจวางไว้ใน Pipeline ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท และน่าจะสามารถเข้าไปลงทุนได้แน่นอน ราว 5 บริษัท
ส่วนตลาดสตาร์ทอัพในอาเซียนที่น่าจับตามองหลักๆ จะอยู่ที่สิงคโปร์เเละอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีฟิลิปปินส์และเวียดนาม ที่มีเทคสตาร์ทอัพใหม่ๆ เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง และเป็นประเทศที่เเละเป็นประเทศที่ธนาคารกรุงศรีเข้าไปขยายธุรกิจด้วย
สำหรับเเนวโน้มการเติบโตของ ‘สตาร์ทอัพในไทย’ เเซมมองว่า ในระยะ 3-5 ปี จากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาเเห่งการเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ เเละน่าจะมีการเติบโตมากขึ้น
โดยนับจาก ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตขึ้น 3 เท่า เเละกำลังมีบริษัทที่รอจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกกว่า 10 เเห่ง ซึ่งหากมีโอกาสที่ดี มีเงินลงทุนช่วยเสริมศักยภาพที่มีอยู่ให้ดีขึ้น สตาร์ทอัพไทยก็มีความหวังที่จะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นไปอีก
- อนาคตของที่ทำงาน “สตาร์ทอัพ” หันไปเช่า Airbnb แทนการต่อสัญญาออฟฟิศ
- พัทธ์หทัย กุลจันทร์’ นำทัพ ‘กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์’ สร้างเครดิตทางการเงินเพื่อคนรุ่นใหม่