เพราะการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของคนไม่ว่าจะทำงาน, เรียน หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ ต้องทำผ่านออนไลน์ ทาง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ทำการสำรวจใน 77 จังหวัด จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 39,145 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจถึงพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยในช่วง COVID-19
วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจว่า ประชากรทั้งประเทศมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยถึงวันละ 6-10 ชั่วโมง และในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยแบ่งเป็น
- ใช้ประชุมออนไลน์ หรือ ทำงานจากที่บ้าน 75.2%
- ใช้สำหรับเรียนออนไลน์ 71.1%
- ซื้อสินค้าออนไลน์ 67.4%
- ใช้เพื่อการติดต่อเล่นโซเชียล 65.1%
- ทำธุรกรรมการเงิน 54.7%
และจากการสำรวจพบว่า ประชาชนยอมรับและเชื่อถือการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ประชาชนที่มีการซื้อ สินค้าบริการออนไลน์สูงขึ้นทําให้เติบโตเร็วจาก 37.7% เป็น 76.6% ในปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับที่ สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยซื้อสินค้าออนไลน์บนสมาร์ทโฟนทุก ๆ สองวัน หรือเฉลี่ย 14 ครั้งในหนึ่งเดือน นอกจากนี้ 82% ได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดในช่วงการระบาด และ 71% ใช้อิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์
อีกทั้งจากการสำรวจยังพบว่าธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ธุรกิจการเกษตรเพิ่มขึ้น 54.6% อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 27.4% ขนส่งและโลจสิติกส์เพิ่มขึ้น 27.9%
โดยผู้ประกอบการเอกชนมีการใช้งานเทคโนโลยียุคใหม่ ทั้ง คลาวด์ และ ดาต้า อนาไลติกส์ ในสัดส่วนที่สูงขึ้น แบ่งเป็นคลาวด์ 70.3% ดาต้า อนาไลติกส์ 61.5% และ เอไอ 41%
ส่วนธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์ลดลงในช่วง COVID-19 คือ การท่องเที่ยวและสันทนาการลดลง -76.4% แฟชั่นลดลง -44.8% วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -36.8%