สิ่งที่ทำให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Berlinale ยั่งยืนมาได้ถึงวันนี้ มาจาก 3 องค์ประกอบหลักคือ 1. ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายการจัดงานทั้งหมด การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศโดยไม่ปล่อยให้การเมืองมาเป็นอุปสรรค และความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิชาชีพและวิชาการ 2. ภาคธุรกิจ ทั้งจากอุตสาหกรรมหนังเอง, สปอนเซอร์ อาทิ ลอรีอัล ซึ่งร่วมเป็นเจ้าภาพมานานกว่าทศวรรษแล้ว และซัพพลายเออร์ที่ให้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องประดับ ไปจนถึงเครื่องดื่ม และ 3. หน่วยงานบริหาร ซึ่งมี Dieter Kosslick เป็นผู้อำนวยการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001
การจัดแบ่งเนื้อหาของงาน เป็นเสมือนภาพสะท้อนสังคมและสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มต้นจากหนังที่เข้าประกวด สะท้อนภาพการช่วงชิงความเป็น “เจ้า” แห่งอุตสาหกรรมหนัง ระหว่างอเมริกา จีน และอินเดีย ในขณะที่เยอรมนีพุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างบุคลากร (ผู้กำกับฯดังๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนเป็นชาวเยอรมัน อาทิ Fritz Lang, Rainer Werner Fassbinder, Wim Wenders, Werner Herzog, Fatih Akin, Tom Tykwer) เปิดเวทีต่างๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิด ได้แก่ Perspektive Deutsches Kino (เวทีประกวดสำหรับคนทำหนังเยอรมันรุ่นใหม่), Generation (ประกวดหนังเยาวชน), Panorama (เวทีของหนังสะท้อนสังคมและการเมือง), Forum (หนังสารคดีจากทั่วโลก), Berlinale Shorts (ประกวดหนังสั้น), Berlinale Talent Campus (เวทีสำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ ซึ่งปีนี้มีสถิติจำนวนผู้สมัครสูงถึง 4,773 รายจาก 145 ประเทศ) และ Kulinarisches Kino (สารคดีและหนังเกี่ยวกับอาหาร)
สถิติคร่าวๆ งานนี้มีนักข่าว 4,000 รายจาก 86 ประเทศ จำนวนผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์ทั้งหมดราว 5 แสนคน จำนวนคนทำหนังและนักธุรกิจที่มาร่วมงานทั้งหมดกว่า 15,500 คนจาก 136 ประเทศ และมีหนัง 400 เรื่องฉายในโปรแกรมอย่างเป็นทางการ