เปิดเหตุผล… ทำไมการประท้วงฮ่องกงจึงบานปลายจนควบคุมไม่อยู่

บทความจาก www.asiatimes.com กล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมการประท้วงที่ประเทศฮ่องกงจึงบานปลาย ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน จนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 

สถานการณ์อันสลับซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงเวลานี้ ไม่สามารถจัดการคลี่คลายได้อย่างง่ายๆ เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมากมาย ผลกระทบของหลักสูตรการศึกษาที่ใช้กันในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมถูกปกครองโดยอังกฤษ ข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้โครงสร้างแห่ง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และความแตกแยกกันภายในรัฐบาลฮ่องกงตลอดจนภายในประชากรของฮ่องกง

เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่พวกนักเคลื่อนไหว “ฝักใฝ่ประชาธิปไตย” ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างมหาศาลให้แก่ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของฮ่องกง โดยเริ่มแรกทีเดียวมาจากการประท้วงร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งฉบับนั้นเวลานี้ได้ถูกถอนออกไปแล้ว กระนั้นความรุนแรงอย่างไร้สติก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ได้ลดถอยลง แต่มันกำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2019/sep/04/hong-kong-lam-to-withdraw-extradition-bill-say-reports)

ในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงที่เป็นหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งได้ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนจริง จนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าอก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/10/article/hk-protester-shot-on-chinas-national-day/) ทว่าในประเทศจำนวนมากนั้น หากพวกเขากำลังเผชิญกับความรุนแรงอย่างที่ฮ่องกงกำลังอดทนอดกลั้นอยู่ในเวลานี้แล้ว ปฏิกิริยาเช่นนี้จากผู้มีอำนาจหน้าที่ย่อมเป็นสิ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยพวกซึ่งรับผิดชอบสำหรับความรุนแรงดังกล่าวจะต้องถูกจับกุมหรือกระทั่งถูกยิง ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีนจึงยอมปล่อยให้ความโกลาหลวุ่นวายนี้ดำเนินต่อไป?

มีต่างชาติเข้ามาเอี่ยว จัดการยากขึ้น

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์อันสลับซับซ้อนคราวนี้ไม่สามารถจัดการคลี่คลายได้อย่างง่ายๆ เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมากมาย ผลกระทบของหลักสูตรการศึกษาที่ใช้กันในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมถูกปกครองโดยอังกฤษ ข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้โครงสร้างแห่ง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และความแตกแยกกันภายในรัฐบาลฮ่องกงตลอดจนภายในประชากรของฮ่องกง

สถาปัตยกรรมด้านการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งอนุญาตให้ฮ่องกงยังคงสามารถรักษา “สถานะเดิม” ก่อนอังกฤษส่งคืนดินแดนนี้ให้แก่จีน โดยมีข้อยกเว้นในเรื่องกิจการด้านการต่างประเทศและการป้องกันแห่งชาติ คือสิ่งที่มัดมือจีนเอาไว้ การส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าไปปราบปรามบดขยี้พวกผู้ประท้วง จะเป็นการเชื้อชาติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรจากฝ่ายตะวันตก

โดยที่รัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อตอนถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือนครแห่งนี้จากอังกฤษมาสู่จีนในปี 1997 การใช้กำลังจะเป็นการเชื้อเชิญบรรดาข้อกล่าวหาโจมตีที่ว่าจีนกำลังเข่นฆ่าคนหนุ่มสาวของตนอย่างเดียวกับในคราวปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ดังนั้นจึงกำลังทำให้รัฐบาลส่วนกลางตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางได้ชัยชนะ

บางทีอาจจะเป็นด้วยต้องการฉวยคว้าความได้เปรียบจากการที่จีนมีทางเลือกที่จะกระทำได้เพียงจำกัด พวกผู้จัดตั้งดำเนินการจึงได้ทำให้การประท้วงครั้งนี้บานปลายขยายตัว เพิ่มพูนความเสียหายที่พวกเขาก่อขึ้นกับบรรดาสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของฮ่องกงให้ได้มากที่สุด

มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยเมื่อพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติและกลุ่มพลเมืองต่างๆ ของฮ่องกง เกิดการโต้เถียงในหมู่พวกเขากันเองเกี่ยวกับสิ่งที่พึงกระทำเพื่อยุติความรุนแรงคราวนี้ ขณะที่พวกสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งมวล” (pan-democrat) ไม่เห็นด้วยกับทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งพวกสมาชิกฝ่ายนิยมปักกิ่งเสนอ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อตอนที่ฝ่ายหลังเสนอให้ถมทะเลขยายพื้นที่เพื่อให้มีที่ดินสำหรับการสร้างโครงการอาคารสงเคราะห์ในปี 2017 ขณะที่กลุ่มพลเมืองฝ่ายนิยมการรวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจสูงสุดเพื่อยุติการประท้วง ทว่าคนซึ่งนิยมการเป็นเอกราชกลับสนับสนุนพวกผู้ประท้วง สรุปแล้ว ฮ่องกงที่แบ่งแยกแตกร้าวกันเช่นนี้ได้ทำให้รัฐบาลฮ่องกงกลายเป็นอัมพาต ทำให้รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถที่จะใช้มาตรการอันทรงประสิทธิภาพใดๆ เพื่อขจัดความรุนแรง

บางทีปัจจัยข้อใหญ่ที่สุดซึ่งมีส่วนอยู่ในความรุนแรงอย่างยืดเยื้อคราวนี้ ได้แก่การเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายของฝ่ายตะวันตก ร่างกฎหมาย “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง” (Hong Kong Human Rights and Democracy Bill) ที่กำลังใกล้จะผ่านออกมาจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลอเมริกันแซงก์ชั่นคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ฮ่องกงหรือเจ้าหน้าที่จีนคนใดก็ตาม หากพวกเขาใช้กำลังเข้าจัดการกับการประท้วง คือการเพิ่มกำลังใจเสริมความกล้าให้แก่ฝูงชนที่จะ “ทำลายฮ่องกงให้ล่มจม” (wreck Hong Kong) บางทีพวกผู้ประท้วงอาจคิดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนไหนหรอกที่กล้าจะต่อสู้เผชิญกับการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritoriality) ของสหรัฐฯ เช่นนี้ เนื่องจากบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ทางการเงินอยู่ในอเมริกันหรือในดินแดนต่างๆ ซึ่งอเมริกาสามารถเข้าถึงได้

กระทบธุรกิจท่องเที่ยว ตกฮวบ 40%

ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไรก็ตามที ความรุนแรงจะต้องยุติลง ขณะที่พลเมืองมีสิทธิที่จะดำเนินการประท้วงเพื่อประกาศปกป้องสิ่งที่พวกเขาเชื่อถือศรัทธา แต่พวกเขาย่อมไม่มีสิทธิที่จะสร้างอันตรายให้แก่ความปลอดภัยสาธารณะและทำลายทรัพย์สินต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจของฮ่องกงกำลังอยู่ในอาการโซซัดโซเซแล้ว การท่องเที่ยวลดต่ำลงถึง 40% และธุรกิจต่างๆ กำลังโยกย้ายออกไปจากนครแห่งนี้ ถ้าความรุนแรงยังไม่ยุติลง ความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางทรัพย์สินมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกจะต้องเกิดขึ้นมา กระทั่งชีวิตของประชาชนก็อาจต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

แท้ที่จริงแล้ว การปล่อยให้ความรุนแรงและการทำลายล้างยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจสามารถตีความได้ว่าคือการทอดทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบ รัฐบาลนั้นดำรงคงอยู่ขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ และนี่แหละคือเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องมีกองทัพและกำลังตำรวจ

การไม่อนุญาตให้ตำรวจสามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาเอง หรือ “ใช้ไฟมาสู้ไฟ” อาจจะเป็นสิ่งถูกต้องที่จะกระทำก็เป็นได้ ทว่าพวกผู้ยุยงและพวกผู้ประท้วงดูเหมือนมองท่าทีการแสดงออกเช่นนี้ว่าคือความอ่อนแอ ไม่ว่าทางฝ่ายนักการเมืองจะพูดอะไร หรือพวกเขาจะยินยอมอ่อนข้อมากแค่ไหนก็ตาม ก็ดูเหมือนไม่เพียงพอไปเสียทั้งนั้น เพราะการประท้วงคราวนี้จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่เป็นกลอุบายร้ายกาจที่ต้องการทำลายฮ่องกงให้ล่มจม และบ่อนทำลายเสถียรภาพของจีนแผ่นดินใหญ่

ถึงแม้ความขัดแย้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ (ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน) และการเมืองภายในท้องถิ่น อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรุนแรงบานปลายจนควบคุมกันไม่อยู่ กระนั้นมันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พวกนักเคลื่อนไหว “ฝักใฝ่ประชาธิปไตย” จะเป็นผู้ชนะในศึกคราวนี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทางการทหารของประเทศจีน ซึ่งถึงอย่างไรก็กำลังเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน การตรวจพลสวนสนามเมื่อวันอังคาร (1 ต.ค.) ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการอวดโอ่อาวุธอันก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (ซูเปอร์โซนิก) แบบ ดี-17 (supersonic D-17 missile) ซึ่งสามารถที่จะฝ่าผ่านพวกระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ แล้วจีนยังมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่จะสร้างฮ่องกงขึ้นมาใหม่ไม่ว่าในเวลานี้หรือในอนาคตข้างหน้า

พิจารณาจากสภาวการณ์เช่นนี้ พวกผู้ประท้วงควรที่จะยุติก่อนที่พวกเขาจะเผชิญกับ “ชะตากรรมแบบจัตุรัสเทียนอันเหมิน” หลังจากการปราบปรามเมื่อปี 1989 พวกผู้ยุยงและพวกผู้นำของการประท้วงคราวนี้ต่างหลบหนีไปสู่โลกตะวันตก ขณะที่เยาวชนคนหนุ่มสาวส่วนข้างมากที่สุดซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกชี้นำไปในทางที่ผิดและเดินตามพวกเขาไปอย่างมืดบอดนั้น กลับถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลังและต้องแบกรับผลต่อเนื่องที่เกิดตามมา

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น ข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)


เขียนโดย เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ นโยบายภาคสาธารณะ และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China’s Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer.

Source