H&M หุ้นพุ่งหลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2019 ดีกว่าเป้าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เดินหน้าโละสต็อกสินค้าคงคลังคู่กับการคุมกำเนิดโปรโมชั่นลดราคา มั่นใจการเติบโตของรายได้ H&M ยังคงส่งผลถึงช่วงต้นไตรมาส 4 ระบุยอดขายออนไลน์โต 30% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยจีนเป็นประเทศเดียวจากเอเชียที่มีเก้าอี้ในทำเนียบ Top 5 ของตลาด H&M โลก
Hennes & Mauritz AB หรือ H&M ยกความดีให้ความฮอตของคอลเลกชั่นฤดูร้อนที่ช่วยให้ H&M มียอดขายรวมทั่วโลกเติบโตขึ้น 12% คิดเป็น 6,350 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 193,357 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากเยอรมนี รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน
สำหรับปีนี้ H&M ย้ำว่าจะเปิดร้านสาขาใหม่ราว 120 สาขาเท่านั้น ยอดดังกล่าวน้อยกว่าเป้าหมายเดิมที่ H&M มองว่าจะเปิดร้านใหม่ 290 สาขาในปี 2019 ซึ่งจะรวมทั้งร้านสาขาที่เป็นแฟรนไซส์ โดยสาขาส่วนใหญ่จะเปิดทำการในช่วงไตรมาส 4 ปลายปี
ตลาดอเมริกันสดใส
สวนทางกับ Forever 21 แบรนด์ fast-fashion สัญชาติสหรัฐฯ ที่ขอล้มละลายไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Karl-Johan Persson ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร H&M เชื่อว่าสภาพอากาศอบอุ่นในเดือนกันยายน ช่วยผลักดันยอดขายของ H&M ในหลายตลาด โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่ H&M เคยอาการโคม่าเพราะมีสินค้าล้นสต็อก แต่ไตรมาสที่ผ่านมา H&M หั่นราคาหฤโหด และลุยนโยบายโละสต็อก ทำให้ยอดขายในสหรัฐเพิ่มขึ้น 19%
แม้จะเน้นโละสต็อกสินค้า แต่ในสถิติภาพรวม H&M กลับเสนอส่วนลดน้อยลงจนดึงให้ยอดขายเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยที่ H&M สามารถควบคุมสินค้าคงคลังได้ดีกว่าเดิม รูปการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า H&M มีโอกาสในการฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะยาวติดกันหลายปี เพราะยอดขายของ H&M ไตรมาสนี้เติบโตเร็วกว่าสินค้าคงคลังเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
ดูเหมือนว่าความแข็งแกร่งของ H&M จะเกิดขึ้นท่ามกลางแบรนด์ดั้งเดิมในยุโรปที่เริ่มฝ่อตัวลง ที่เห็นชัดคือ Ted Baker ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าชื่อดังจากอังกฤษที่ยอมรับว่ารายได้ของบริษัทอาจลดลงฮวบฮาบในปีนี้ ส่งให้มูลค่าหุ้น Ted Baker ดำดิ่งจนมูลค่าบริษัทหดหายมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
วิกฤติของ Ted Baker ในเอเชียถูกวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะการถอดใจของพันธมิตรในอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ทำให้หลายร้านค้าของ Ted Baker ปิดตัวลง แต่อานิสงส์จากร้านค้าที่ยังอยู่ดีในสิงคโปร์ อินเดีย และไทย ทำให้ Ted Baker มียอดขายในเอเชียทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ลดลงราว 4.6%
บุกดิจิทัล
Kate Ormrod หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์การค้าปลีกของบริษัท GlobalData กล่าวว่า ผลประกอบการล่าสุดแสดงให้เห็นถึงการยกเครื่องเชิงกลยุทธ์ของ H&M ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากการค้าปลีกในร้านมาเป็นดิจิทัล เห็นได้ชัดจากเป้าหมายการเปิดร้านใหม่ 120 สาขาในปีนี้ซึ่งลดลง 170 สาขาจากแผนดั้งเดิม เบื้องต้น CEO อย่าง Persson กล่าวว่าบริษัทกำลังอยู่ระหว่าง “transformation” กิจกรรมหลักในองค์กร ทั้งการเปลี่ยนแปลงขนาด ความครอบคลุมของการลงทุน ซึ่งกำลังขยายไปถึงเกือบทุกส่วนของธุรกิจ
ข้อความนี้ถือเป็นจุดที่โดดเด่นและบ่งบอกถึงวิวัฒนาการของ H&M ในยุคที่ต้องพยายามสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เบื้องต้น นักวิเคราะห์มองว่า H&M ยังมีความท้าทายสูงภายใต้แรงกดดันจากคู่แข่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน และทุกรายพร้อมที่จะเล่นสงครามราคาในเซ็กเมนต์ mid-market หรือตลาดกลาง
ในภาพรวม นักวิเคราะห์มองว่าอีกปัจจัยที่ทำให้ H&M กลับมารุ่งโรจน์ คือความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้ารักษ์โลกที่ทำให้ H&M ดูแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น แต่กับข่าวลือว่า H&M จะทดลองขายสินค้าของแบรนด์อื่น นักวิเคราะห์มองว่าไม่เข้าท่า เพราะอาจมีคำถามในเรื่องแบรนด์และความสับสนของผู้บริโภคในระยะยาว.