เปิด 10 เบื้องหลัง “คาร์นิวัลเมจิก” บิ๊กโปรเจกต์ของภูเก็ตแฟนตาซี หวังขึ้นแท่น Top 3 สวนสนุกในเอเชีย

ทำความรู้จักกับโปรเจกต์ “คาร์นิวัลเมจิก” ที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดภูเก็ต โดยจะเป็นสวนสนุกสไตล์ไทยๆ แต่หวังเทียบเท่าสวนสนุกในเอเชียให้ได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวภูเก็ตกลับมาคึกคัก

ใครที่เคยไปเยือนจังหวัดภูเก็ตน่าจะต้องคุ้นเคย หรือเคยไปเที่ยวที่ “ภูเก็ตแฟนตาซี” กันอยู่บ้าง จนถึงวันนี้ภูเก็ตแฟนตาซีได้เปิดให้บริการมา 20 ปี ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดภูเก็ตไปแล้วเช่นกัน

ในปีนี้ก็มีการเคลื่อนไหวสำคัญ โดยที่มีการลงทุนครั้งใหญ่ในการสร้างโครงการ “คาร์นิวัลเมจิก” สำหรับรายละอียด และเบื้องหลังของโครงการนี้ เราได้สรุปมาให้แล้ว

1. ส่วนสนุกธีมปาร์ค ไม่ใช่โรงละคร

“คาร์นิวัลเมจิก” เป็นสวนท่องเที่ยวธีมปาร์ค สไตล์ไทยๆ เป็นสวนสนุกที่มีคอนเซ็ปต์การจัดงานรื่นเริงสไตล์งานฟันแฟร์ หรืองานวัดของไทย บริหารงานโดย บริษัท คาร์นิวัลเมจิก จำกัด เป็นบริษัทในเครือของภูเก็ตแฟนตาซี ตั้งอยู่ ณ หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต บนพื้นที่กว่า 100 ไร่

ภายในจะประกอบไปด้วย 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 คือ ถนนช้อปปิ้ง มีชื่อว่า Carnival Fun Fair, โซนที่ 2 คือ ภัตตาคารบุฟเฟต์ Bird of Paradise, โซนที่ 3 คือ โรงละครขนาดใหญ่ River Palace พร้อมชมการแสดงพาเหรดสุดยิ่งใหญ่ River Carnival และโซนที่ 4 คือ เมืองไฟ มีชื่อว่า Kingdom of Lights

คาร์นิวัลเมจิกเป็นโครงการที่คนไทยทำเอง 100% ตั้งแต่การคิด ออกแบบ โดยใช้พนักงานของภูเก็ตแฟนตาซีกว่า 1,600 คนพนักงานช่วยกันทำ

2. ลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี

คาร์นิวัลเมจิกเป็นธีมปาร์คแห่งที่ 3 ของ “ดร.ผิน คิ้วคชา” ประธานกรรมการบริหาร ของอาณาจักรซาฟารีเวิลด์ โดยที่ก่อนหน้านี้ได้ประสบความสำเร็จกับการสร้าง “สถานที่ท่องเที่ยว” ซาฟารีเวิลด์ และภูเก็ตแฟนตาซีมาแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยทำมามีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดิน

โดยที่ 33 ปีก่อนได้ลงทุน 1,300 ล้านบาทสร้างซาฟารีเวิลด์ เป็นสวนสัตว์แห่งใหญ่ในกรุงเทพฯ จากนั้นเมื่อ 20 ปีก่อนได้ลงทุน 3,500 ล้านบาท สร้างภูเก็ตแฟนตาซีให้เป็นเดสติเนชั่นของจังหวัดภูเก็ต

นอกจากมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้น พื้นที่ก็มากขึ้นเช่นกัน คาลนิวัลเมจิกมีพื้นที่รวม 100 ไร่ ส่วนภูเก็ตแฟนตาซีมีพื้นที่รวม 70 ไร่

3. กระตุ้นการท่องเที่ยวภูเก็ต หลังจากซบเซามา 3 ปี

การเปิดโครงการคาร์นิวัลเมจิกในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นจังหวะที่ดีในการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพราะเกิดภาวะซบเซามาหลายปีแล้ว

ดร.ผินบอกว่า การท่องเที่ยวในภูเก็ตซบเซามา 3 ปีแล้ว มีนักท่องเที่ยวลดลง 30% ส่วนของภูเก็ตแฟนตาซีก็ลดลงราวๆ 30% เช่นกัน คนที่มาเที่ยวก็ลดลง การใช้จ่ายเงินก็ลดลงไปด้วย เกิดจากหลายปัจจัยโดยมีสัญญาณต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไว้ทุกข์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปจนถึงการจัดการเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ ข่าวเรือล่ม และค่าเงินบาทแข็ง

รวมถึงคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ที่ยอดนิยมที่มีการเติบโตดีก็คือบาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม

นักท่องเที่ยวชาวจีน ยุโรป และออสเตรเลียได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ได้กลุ่มอินเดียเข้ามาเพิ่ม 30% จากอินไซต์พบว่านักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย รัสเซียชอบประเทศไทย

การเปิดโครงการใหม่คาดว่าช่วยดึงนักท่องเที่ยวที่ขาดหายไปหลายปีให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนภูเก็ตตกปีละ 12 – 13 ล้านคน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ

4. ร่างโปรเจกต์มาเป็น 10 ปีแล้ว

เบื้องหลังของคาร์นิวัลเมจิกได้ผ่านกระบวนการคิดมาเป็น 10 ปีแล้ว โดยที่ “กิตกิกร คิ้วคชา” ทายาทเจน 2 ของดร.ผิน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพใหญ่ของโครงการนี้

กิตกิกรได้บอกว่า เริ่มวาดรูปแรกของโปรเจ็คต์ ตั้งแต่ปี 2002 เป็นช่วงที่หลังจากภูเก็ตแฟนตาซีเปิดมา 4 ปี อีกทั้งในช่วงปี 2013 – 2015 ที่ภูเก็ตแฟนตาซีมีลูกค้าเยอะ จนทำให้ต้องเปิดการแสดง 2 รอบตลอดทุกวัน จึงมองว่าเป็นโอกาสในการขยายอะไรใหม่ๆ เลยทำคาร์นิวัลเมจิกเฟสแรกปี 2015 วางงบลงทุนไว้ที่ 3,000 ล้านบาท จากนั้นก็มองว่าอีก 10 – 20 ปี ประเทศไทย และภูเก็ตยังมีศักยภาพในการเติบโต เลยเพิ่มงบลงทุนเป็น 5,000 ล้านบาท

5. ต้องเล่นใหญ่เท่านั้น โครงการเล็กๆ โลกไม่จำ

ดร.ผินบอกว่า นโยบายของที่นี่ต้องสร้างสิ่งที่โลกยังไม่มี ต้องสร้างอะไรใหม่ๆ และต้องทำบิ๊กโปรเจ็คต์ที่เป็นโครงการใหญ่ๆ เท่านั้น เพราถ้าทำโครงการเล็กๆ ก็จะไม่มี Impact ที่มากพอ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการลงทุนของอาณาจักรซาฟารีเวิลด์ต้องมีการลงทุนใหญ่ขึ้นตลอด

ไม่แน่ว่าโครงการต่อจากคาร์นิวัลเมจิกก็อาจจะใหญ่กว่านี้อีกก็ได้…

6. จับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์มากขึ้น

ดร.ผินวางจุดยืนให้คาร์นิวัลเมจิกอยู่ในระดับที่พรีเมียม และภูเก็ตแฟนตาซีอยู่ในระดับแมส โดยที่ปัจจุบันภูเก็ตแฟนตาซีมีค่าบัตรผ่านประตูอยู่ที่ 1,800 บาท ส่วนคาร์นิวัลเมจิกคาดว่าจะมีราคาบัตรอยู่ที่ 2,200 บาท ส่วนซาฟารีเวิลด์มีค่าบัตรอยู่ที่ราคา 690 บาท

โครงการนี้จะจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัวระดับไฮเอนด์มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเด็กๆ น่าจะชอบแสงสี และสวนสนุก

7. หวังกระตุ้นลูกค้าปีละ 1 – 2 ล้านคน

ตอนนี้ลูกค้าของภูเก็ตแฟนตาซีเฉลี่ย 600,000 – 700,000 คน/ปี ลดลงมาจากประมาณ 1 ล้านคน/ปี เป็นตัวเลขที่ลดลงมาติดต่อกัน 3 ปีแล้ว แบ่งสัดส่วนเป็นชาวต่างชาติ 70% และคนไทย 30%

กลุ่มลูกค้า 5 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และรัสเซีย โดยที่กลุ่มอินเดียเพิ่งมาบูมในช่วงไม่กี่ปีมานี้

สำหรับคาร์นิวัลเมจิกตั้งเป้าดึงดูดลูกค้า 1 – 2 ล้านคน/ปี จะมาช่วยเสริมให้ภูเก็ตแฟนตาซีแข็งแกร่งมากขึ้น

ดร.ผินบอกว่า… คนซื้อบัตรเข้าคาร์นิวัลเมจิก แค่มาเข้าห้องน้ำ หรือเข้ามาถ่ายรูปในห้องน้ำก็คุ้มแล้ว

8. เตรียมเปิดปี 2020

คาร์นิวัลเมจิกได้ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี ตอนนี้สร้างไปแล้ว 80% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 1 ปี 2020

การที่โครงการเปิดในช่วงเวลานี้ก็ถือว่าเป็นจังหวะดีที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และกระตุ้นการท่องเที่ยวของภูเก็ตแฟนตาซีให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้

9. เป็นสวนสนุกอันดับ 1 ใน ไทย และ Top 3 ของเอเชีย

นอกจากความตั้งใจที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักแล้วนั้น อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญก็คือ การปั้นให้คาร์นิวัลเมจิกเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในไทย เป็นเดสติเนชั่นของภูเก็ตให้ได้ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายไกลไปถึงการเทียบชั้นกับสวนสนุกระดับโลกอย่างดิสนีย์แลนด์ และยูนิเวอร์ซัล ขออยู่อันดับ 3 ของสวนสนุกในระดับเอเชีย

10. เป้ารายได้ 1,500 ล้านบาท

หลังจากทีเปิดให้บริการในปีหน้า มีการตั้งเป้าลูกค้าใช้บริการ 1 – 2 ล้านคน คาดว่าจะมีรายได้ 1,500 บาท และตั้งเป้าจะคืนทุนราวๆ 7 – 10 ปี