GAP มาช้ายังดีกว่าไม่มา (หรือเปล่า)

จดจ่ออยู่นาน ในที่สุดแบรนด์แฟชั่นวัยย่าง 41 ปี อย่าง GAP ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวในไทย โดยการถือครองสิทธิ์แฟรนไชส์จาก GAP Inc. สหรัฐอเมริกา ของไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น แม้จะไม่เรียกเสียงฮือฮาได้มากนัก แต่นี่นับเป็นอีกหนึ่งความหวังของMINT หลังจากที่ไม่มีแบรนด์แฟชั่นใหม่มานานหลายปี และเป็นห้วงเวลาที่แบรนด์อินเตอร์ถาโถมเข้ามาเปิดช็อปในไทยกันอย่างเอิกเกริก

GAP ถือเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวของความสำเร็จและล้มเหลว โดยแรกก่อตั้งเมื่อปี 1969 มี Positioning เป็น Hip & Fun Experience มีจุดขายเป็นยีนส์ลีวายส์ ในยุคนั้น GAP ขึ้นชื่อว่าเป็นกบฏแห่งวงการแฟชั่น และปักหมุดแจ้งเกิดได้ด้วยความแตกต่าง ไม่นานGAP ก็ Repositioning ตัวเอง ในปี 2526 มาสู่แฟชั่นที่เรียบง่าย
สะท้อนสไตล์แบบอเมริกันมากขึ้น และจำหน่ายในราคาสมเหตุสมผล

ในปี 2544 GAP เริ่มเปลี่ยนทิศทางของตัวเองอีกครั้ง โดยหันเข้าหากลุ่มวัยรุ่น และนั่นทำให้ GAP ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งตัวฉกาจอย่างZARA, H&M, J.Crew, TOPSHOP และ A&F โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นทำให้ GAP สูญเสีย Brand Idenityไป GAP กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่เชื่องช้าไม่ปราดเปรียวพอที่จะเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่น และนั่นทำให้ GAP หวนคืนสู่รากเหง้าและตัวตนของ GAP คือการเป็น Iconic American Style ที่เรียบง่ายและ Value for Money หลังจากแกว่งไกวมาซักระยะและพบว่าไม่เป็นผลดี

สำหรับสาขาแรกในไทยบนชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ของ GAP ใช้พื้นที่ร้านขนาด 700 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยสินค้าสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงเด็กทวีนและเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นสาขาในรูปแบบ Combo Stores โดยแบ่งสัดส่วนยอดขายจากเสื้อผ้าผู้ใหญ่และเด็กประมาณ60 : 40 โดยมีราคาจำหน่ายเริ่มต้น 490 บาทสำหรับเสื้อยืด 1,490 บาทสำหรับเสื้อเชิ้ต และ 1,790 บาทสำหรับยีนส์ เป็นต้น

แม้จะไม่บอกงบลงทุนแต่ด้วยขนาดสาขาที่ใหญ่เมื่อเทียบกับแบรนด์แฟชั่นทั่วไป อีกทั้งการเปิดตัวด้วยแฟชั่นอย่างยิ่งใหญ่ทำให้เชื่อว่า MINT เอาจริงเอาจังกับ GAP มากเพียงใด

ไมเคิล บิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MINT บอกว่า Positioning ของ GAP คือแบรนด์แฟชั่น Casual Lifestyle แบบอเมริกันสำหรับคนทุก Generation และเป็น Positioning ที่ชัดเจนแล้วโดยมีผลิตภัณฑ์เด่นคือเดนิม ยีนส์

ต่อข้อถามที่ว่า คนไทยรู้จักและเฝ้ารอ GAP มานาน แต่ในปี 2553 ซึ่งเต็มไปด้วยแบรนด์อินเตอร์มากมาย
กลัวว่า GAP จะถูกลดทอนความสนใจและไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ บิงเกอร์ตอบว่า

“มั่นใจมาก เพราะ GAP ยัง High Recognition เมื่อ GAP เปิดสาขาที่เมืองไทย ทำให้แฟนๆ ชาวไทยไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่ต่างประเทศ และ MINT ได้เตรียมแผนธุรกิจไว้รองรับอย่างรัดกุมแล้ว โดยประเดิมด้วยการโปรโมตคอลเลคชั่น GAP 1969 Premium Jeans”

ขณะนี้เตรียมขยายอีก 3 สาขาที่สยามพารากอน พาราไดซ์ พาร์ค และเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยจะเน้นขยายสาขาในกรุงเทพฯก่อน ปัจจุบัน GAP มีช็อปในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,200 แห่ง และมีช้อปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 2,000 แห่ง ยอดขายที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีของ GAP ในไทย ซึ่งต้องเฝ้ารอดูกันต่อไป

จะสังเกตเห็นว่าแบรนด์แฟชั่นของไมเนอร์ (Esprit, Bossini, Timberland, Charles&Keith, Timberland, Tumi, Red Earth, Bloom, Laneige, Smashbox) ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ High Fashion ไม่ใช่ Fast Fashion และนั่นอาจทำให้ไมเนอร์ต้องมองหาแบรนด์ที่มีความหวือหวาและเปลี่ยนแปลงซีซั่นรวดเร็ว เพื่อมาต่อกรกับคู่แข่งและรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เบื่อง่ายหน่ายเร็วด้วย