“ครม.” เห็นชอบโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถมอเตอร์ไซค์ในอัตราใหม่ที่อิงตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป คาดกระทบตลาดบิ๊กไบค์จ่ายภาษีเพิ่มหลักแสนบาทต่อคัน
เท่ากับว่าการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีจากเดิมที่ยึดตามขนาดเครื่องยนต์ ไปเป็นยึดตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยการจัดเก็บภาษีนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มอีกประมาณ 500 – 700 ล้านบาทต่อปี
สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่กำหนดว่าหากเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 150 ซีซี (รถทั่วไป) จะมีสัดส่วนกว่า 90% ซึ่งอาจจะทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณกว่า 100 บาท แต่ผลกระทบสำคัญจะเป็นรถประเภทบิ๊กไบค์ (500 ซีซีขึ้นไป) แต่ค่ายรถจากยุโรปและญี่ปุ่นที่อาจจะมีเทคโนโลยีสูงน่าจะสามารถผลิตรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ (CO2) ลดลงได้
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์บางค่ายที่มีรถขนาดซีซีสูงเหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพอาจจะกินน้ำมันมากกว่า ก็จะส่งผลให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจะขึ้นอยู่กับการปล่อย CO2
หากเป็นรถบิ๊กไบค์ซึ่งมีราคาขายในระดับล้านบาทนั้น อาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นแสนบาทต่อคัน เช่น เคยเสียภาษีอยู่ 9% ถ้าเกิดปล่อย CO2 มากจะต้องเสียภาษี 18% ซึ่งจะมีผลเฉพาะรถใหม่หรือนำเข้ามา
ด้านโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่จะแบ่งเป็น 5 ขั้นอัตรา คือ
- หากปล่อย CO2 ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีที่ 1%
- มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า-EV ปล่อย CO2 ระหว่าง 10 – 50 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 3%
- ปล่อย CO2 ระหว่าง 50 – 90 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 6%
- ปล่อย CO2 ระหว่าง 90 – 130 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 9%
- ปล่อย CO2 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสีย 18% ซึ่งกรณีรถบิ๊กไบค์ (500 ซีซีขึ้นไป) ก็น่าจะเสียที่อัตราสูงสุด เนื่องจากเครื่องยนต์ใหญ่และมีการปล่อย CO2 มากกว่า 130 กรัมต่อกิโลเมตร