ตลาดดาวรุ่ง! Uniqlo เตรียมขยายสาขาในอาเซียนอีก 800 แห่งใน 10 ปี

เพราะต้องการขยายตัวให้รวดเร็วแต่ยั่งยืน Uniqlo จึงวาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนร้านค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นอีก 4 เท่าตัวเป็น 800 สาขาใน 10 ปีนับจากนี้ ด้าน CEO ยอมรับว่า Uniqlo จะขยายตลาดอาเซียนได้เร็วกว่าตลาดจีน ที่ต้องใช้เวลากว่า 17 ปีกว่าจะขยายได้ 800 สาขา

Photo : fastretailing

Tadashi Yanai ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ระบุว่าเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้านค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 เท่าตัวนี้เป็นไปตามการขยายตัวของตลาด โดยยกให้เอเชีย (ซึ่งหากรวมจีนและอินเดียแล้วจะมีจำนวนประชากร 4,000 ล้านคน) เป็นภูมิภาคเดียวของโลกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากที่ต้องใช้เวลากว่า 17 ปีในการสร้างเครือข่ายร้าน Uniqlo กว่า 800 สาขา วันนี้ Uniqlo มีสาขาทั่วโลกประมาณ 2,200 แห่ง โดยตัวเลขกำไรจากการดำเนินงาน Uniqlo ในต่างประเทศนั้นแซงหน้ารายได้ในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกช่วงรอบปีบัญชี 2019 ซึ่งสิ้นสุดเดือนสิงหาคม โดยในเดือนธันวาคม Uniqlo มีแผนจะเปิดร้านสาขาแรกในเวียดนาม

Photo : fastretailing

ยังไม่ไปลาวพม่า

CEO ต้นสังกัด Uniqlo ประเมินว่าการเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเร็วกว่าตลาดจีน เนื่องจาก Uniqlo ในจีนต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานค้าปลีกจากศูนย์ ต่างจากตลาดอาเซียนที่ Uniqlo มีต้นแบบเครือข่ายรออยู่ก่อนแล้ว ถึงกระนั้น สิ่งที่ Uniqlo ให้ความสำคัญต่อเนื่องคือการเลือกสรรและเลือกตลาดเป้าหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน โดยยอมรับว่าตลาดบางแห่งจะยังไม่มีการเปิดร้าน Uniqlo เช่น กัมพูชา ลาว และพม่า

ชัดเจนว่า Uniqlo จะเลือกเปิดร้านค้าใหม่ที่ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในการสัมภาษณ์ CEO อย่าง Yanai ย้ำว่าในขณะที่ Fast Retailing ขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ บริษัทก็จะส่งเสริมบุคลากรผู้หญิงและจะตั้งพนักงานมากความสามารถที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นมาเป็นผู้บริหารระดับผู้จัดการ พร้อมกับกล่าวว่าได้วางแผนตั้งผู้จัดการร้านค้าท้องถิ่นโดยการพิจารณาหรือค้นหาพนักงานที่มีความสามารถในร้านนั้น

เน้น Uniqlo สีเขียว

นอกจากแนวคิด HR หรือการจัดการทรัพยากรบุคคลที่เน้นจัดจ้างบุคลากรการศึกษาดีและการฝึกอบรมอาชีพที่เหมาะสมในอาเซียน Yanai ยังย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคทั่วโลกคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทำให้ต้นสังกัดอย่าง Fast Retailing เปิดตัวโครงการรักษ์โลกจำนวนมาก ทั้งการรีไซเคิล และกระบวนการผลิตสีเขียวที่สร้างมลภาวะน้อยลง ซึ่งจะถูกโปรโมทมากขึ้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวทางนี้เป็นไปทางเดียวกับคู่แข่งในตลาด เช่น Gap, Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara และ H&M Group ซึ่งในปีนี้มีแบรนด์หรูเข้าร่วมจากฝรั่งเศสนั้นคือ Kering ที่ร่วมกันจัดตั้งโครงการ Fashion Pact เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย Kering ได้แชร์วิธีการวัดผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม Yanai ยอมรับว่า Fast Retailing จะไม่เข้าร่วมสนธิสัญญานี้ แม้จะเห็นด้วยกับบริษัทต่างๆ เช่น Kering เกี่ยวกับความจำเป็นในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินกระบวนการปรับปรุงต่อไป

ในเดือนกันยายน Fast Retailing ได้ประกาศความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนงานในเอเชีย การประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจาก Fast Retailing ถูกวิจารณ์เรื่องใช้แรงงานไม่เหมาะสมในอินโดนีเซีย แต่ Yanai ย้ำว่าความรับผิดชอบของเรื่องนี้อยู่ที่โรงงาน ไม่ใช่ผู้ที่สั่งงาน เช่น Fast Retailing

ประเด็นนี้ Yanai เชื่อว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายโรงงาน ดังนั้นทางออกของปัญหานี้จึงอยู่ที่การศึกษา และการฝึกอบรม คู่กับสภาพความเป็นอยู่ของคนงานในโรงงานที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fast Retailing วางแผนจะทำจริงจังกับแรงงานในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก.

Source