PACE ส่อแวววิกฤต ภาระหนี้รวมกว่า 2 หมื่นล้าน หุ้นดิ่งลงไปแตะ 0.04 บาท/หุ้น

PACE ยังคงส่อแวววิกฤต หลังผิดนัดชำระหนี้ ตอนนี้มีหนี้สินรวมกว่า 20,000 ล้าน หุ้นตกกว่า 98% เหลือ 0.04 บาท/หุ้น นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจ

บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ PACE แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ซึ่งเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2562 จำนวน 2,645 ล้านบาท โดยธนาคารได้เรียกให้บริษัทชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว คือวันที่ 4 พ.ย.นี้

หลังจากที่ PACE ได้ออกหนังสือแจ้งไปยัง ตลท.เพื่อแจงการผิดนัดชำระหนี้กับแบงก์ไทยพาณิชย์ ทาง ตลท.ก็ออกโรงเพื่อเตือนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้ของ PACE ด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องด้วย PACE ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ บริษัทและบริษัทย่อยผิดนัดชำระหนี้รวม 2,645 ล้านบาท ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 คิดเป็น 12.55% ของสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ซึ่งต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562

หนี้สินรวมกว่า 20,000 ล้าน

นอกจากนี้ การผิดนัดดังกล่าวเป็นผลให้เกิดการผิดนัดในมูลหนี้อื่น (Cross Default) โดยที่เจ้าหนี้ยังมิได้ส่งหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ รวม 9,227 ล้านบาท คิดเป็น 43.76% ของสินทรัพย์รวม และบริษัทจะเร่งดำเนินการปรึกษาและเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อจัดทำแผนปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ โดยจะแจ้งความคืบหน้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะที่บริษัทหยุดการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ จากการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทเกิดการผิดนัดชำระหนี้อื่นๆ (Cross Default) อีกจำนวน 9,227 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าที่ผิดชำระหนี้ 11,872 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 บริษัทมีหนี้สินรวม 20,819 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีสินทรัพย์รวม 21,074 ล้านบาท

แบ่งหนี้เป็น

  • เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้อื่น 2,719 ล้านบาท
  • เงินรับล่วงหน้าและเงินมัดจำรับจากลูกค้า 3,185 ล้านบาท
  • หนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนอื่น 954 ล้านบาท
  • หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 13,961 ล้านบาท

หุ้นดิ่งอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้หุ้น PACE ดิ่งลงไปอีก ล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค. 2562 อยู่ที่ 0.04 บาท/หุ้น ลดลงไป 3.46 บาท หรือกว่า 98% และตลอดมานับตั้งแต่เข้าซื้อขายช่วง ส.ค. 2556 หุ้น PACE เคยทำจุดสูงสุดไว้ที่ 4.05 บาท/หุ้น ช่วง ส.ค. 2559 หรือเกือบ 2 ปีนับตั้งแต่เริ่มซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ นั่นเพราะปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แม้ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการและทีมผู้บริหารได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด

และล่าสุดทาง ผู้บริหารของบริษัทได้กำชับให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการเร่งทำการเจรจา และให้ความร่วมมือกับธนาคารในการทำแผนปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท หลังมีข่าวลือว่าโครงการที่มุ่งหวังจะช่วยฟื้นคืนศักยภาพของบริษัทอย่าง “โครงการนิมิต หลังสวน” มูลค่า 8,000 ล้านบาท ใกล้แล้วเสร็จ แถมมียอดขายแล้วกว่า 90% นั้น แต่ทุกอย่างอาจต้องชะลอออกไป เมื่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้สั่งให้หยุดดำเนินการก่อสร้าง จนอาจกระทบต่อแผนการส่งมอบ หรืออาจจะต้องเจรจากับลูกค้าเลื่อนวันส่งมอบออกไป

นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจ

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าทั้งนักลงทุนและเจ้าหนี้ของบริษัทไม่เชื่อมั่นต่อการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านๆ มา รวมถึงมูลหนี้ค้างที่เป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบสินทรัพย์ จนมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value) อาจลดลงจากระดับที่ต่ำมากอย่าง 0.02 บาท/หุ้น ลงไปอีก หากต้องตั้งสำรองเกี่ยวกับหนี้ในอนาคต มีโอกาสจะลดลงไปอีก

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นของ “สรพจน์ เตชะไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE ที่ให้เหตุผลว่า แม้ขณะนี้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังมีมูลค่าทรัพย์สินสูงกว่าภาระหนี้

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าในไตรมาส 2/62 สินทรัพย์รวมของบริษัทอยู่ที่ 21,074 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวม 20,819 ล้านบาท แทบกล่าวได้ว่า “หายใจรดต้นคอ”

“สรพจน์ เตชะไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE

และเมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ของ PACE ตั้งแต่เข้าระดมทุนพบว่า ไม่ธรรมดา เพราะเคยเป็นแหล่งชุมนุมของนักลงทุนชื่อดังมากมาย อาทิ “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง”,”เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์”,”เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” ซึ่งล้วนแต่เป็นเซียนหุ้นที่มีบทบาทและคร่ำหวอดในวงการตลาดหุ้นไทยมายาวนาน ทำให้เมื่อมีรายชื่อระดับเซียนเหล่านี้ร่วมลงทุน ย่อมเปรียบเสมือนคำเชื้อเชิญแมลงเม่า หรือนักลงทุนที่ไม่หวั่นเกรงต่อความเสี่ยงมาเข้าร่วม แม้ต่อมาหลายคนออกมาให้เหตุผลเข้าเก็บหุ้น PACE เข้าพอร์ตส่วนหนึ่งมาจากญาติมิตรและความสนิทกับตระกูล “เตชะไกรศรี”

อย่างไรก็ตาม ด้วยแต่ละคนคลุกคลีอยู่ในวงการตลาดหุ้นมานาน ทำให้ปัจจุบันไม่เหลือชื่อของเซียนหุ้นชื่อดังเหล่านี้อยู่ในลิสต์ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอีกเลย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าคงอาศัยจังหวะและช่วงเวลาปล่อยของออกไปเป็นที่โล่งอกโล่งใจจนหมดแล้ว

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปสำหรับ PACE คือการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยเพราะที่ผ่านมาบริษัทใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาแก้ไขปัญหาแล้วหลายอย่าง แต่ยังถือว่าไม่ประสบความเร็จ อาทิ การเพิ่มทุนถึง 2 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งแรกเมื่อปลายปี 2560 ในราคา 0.50 บาท/หุ้น สัดส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่ และครั้งถัดมาเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ในราคา 0.25 บาทต่อหุ้น สัดส่วน 3 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่ พร้อมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ฟรี ในสัดส่วน 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ กำหนดราคาแปลงสภาพ 25 สตางค์

แต่ทว่าดูเหมือนแผนดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมบางส่วนไม่อยากถมเงินเข้าไปในหุ้นตัวนี้อีก โดยที่พอจะเรียกความเชื่อมั่นได้บ้างน่าจะมาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ PACE ในราคาหุ้นละ 51 สตางค์ และเป็นการขายบุคคลในวงจำกัด อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นเดิมหลายรายที่จับทาง PACE ได้ และยอมตัดสินใจตัดขาดทุน ถอยออกจากหุ้นตัวนี้ เพราะคาดว่าจะกลายเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่ถมไม่เต็ม

Source