การบินไทยยังคงขาดทุนกว่า 4,600 ล้าน แข่งหั่นราคาดุเดือด ทำรายได้ทรุด

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 3 ของปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือ 6.1% มีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 994 ล้านบาท (27.0%)

ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8%

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 7.8% แต่ สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ จนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง และอีกหลายสายการบินต่างประสบปัญหาการขาดทุน สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก และค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยเพิ่มเติม กรณีเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน กอปรกับปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2562 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัทฯ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ด้านการเพิ่มรายได้ บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้เสริมรวม 4,604.17 ล้านบาท เร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือนมีนาคม 2563 สูงถึง 80%

นายสุเมธ คาดว่า ในไตรมาส 4/62 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว(ไฮซีซั่น) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญ ในปี 2563 โดยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการหารายได้เสริม และยังคงมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่

  1. การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้
  2. การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ
  3. การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า
  4. การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
  5. การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล

นอกจากนี้ จะวิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้รูปแบบเซนไดโมเดล สำหรับ สายการบินไทยสมายล์เข้าสู่ระบบ Connecting Partner ของกลุ่ม Star Alliance อย่างเต็มรูปแบบ เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการบิน รวมถึงมีความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวาระครบ 60 ปีของ 2 หน่วยงาน โดยจัดทำแคมเปญทางการตลาดร่วมกัน กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ.

Source