จับตา! ทุนจีนจ้องซื้อมหา’ลัยดัง หลังเทกฯ “เกริก-แสตมฟอร์ด” สำเร็จ

จับตา “มหาวิทยาลัยเอกชนไทย” กำลังจะถูกกลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการ หลังจากมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ระบุยังมีอีกกว่า 10 แห่งที่อยู่ระหว่างการเจรจา ชี้ “เกษมบัณฑิต” “ร่มเกล้า-พัฒนาการ” เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ มีจุดเด่นเรื่องทำเลใกล้สนามบินและเขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC แจงหลังกลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการ เปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้น และผู้บริหารแล้วจะมีการดึงตลาดนักศึกษาจีนที่สอบเข้ามหา’ลัยไม่ได้ปีละกว่า 5 ล้านคน มาเรียนในไทยแทน และปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็นภาษาจีน พร้อมดึงบุคลากรจีนเข้ามา แจงสาขาเด่น บัญชี บริหารธุรกิจ ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เป็นสาขายอดฮิตของคนจีน

วันนี้ธุรกิจการศึกษาของไทย กำลังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กลุ่มทุนจีนให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการโดยเฉพาะหลังจากที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเกริก เมื่อปี 2561 และตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์ กระแส ชนะวงศ์ เป็นอธิการบดี พร้อมเปิดวิทยาลัยนานาชาติและปรับหลักสูตรต่างๆ เพื่อรองรับนักศึกษาจากประเทศจีนที่จะเข้ามาเรียนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการหลั่งไหลของกลุ่มทุนจีนที่จะเข้าซื้อหรือร่วมทุนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเอกชนในไทย กำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน และจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดน้อยอย่างต่อเนื่องจากปริมาณการเกิดที่น้อยลง อันเป็นผลจากการรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดตั้งแต่เมื่อปี 2513 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในสภาวะปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงอย่างมาก

จากปี 2526 มีทารกเกิดใหม่จำนวน 1,055,802 คน หรือ 21.3 คนต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือ 704,508 คน หรือ 10.7 คนต่อประชากร 1,000 คน

ส่งผลให้สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อแย่งชิงจำนวนนักศึกษาเพื่อความอยู่รอดของสถาบันให้มากที่สุด แต่การจะมีนักศึกษาไทยเพียงอย่างเดียวโอกาสจะอยู่รอดก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก สถาบันการศึกษาต่างๆ จึงมีการเปิดหลักสูตรนานาชาติหรือการทำโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนเพื่อส่งนักศึกษาจีนมาเรียนในไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่ง

แต่ที่สำคัญการรุกธุรกิจการศึกษาของกลุ่มทุนจีนนั้นเป็นเพราะกลุ่มทุนจีนมองเห็นอนาคตที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตและสามารถขยายตลาดจากจีนเข้าสู่ไทยได้อย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัญฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กทม. นิด้า

ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัญฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กทม. นิด้า ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ประชาคมอาเซียนศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายสาธารณะ บอกว่า กลุ่มทุนจีนหลายกลุ่มมีความสนใจที่จะซื้อกิจการหรือร่วมทุนด้านธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย จึงได้มีการติดต่อที่จะซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนในการซื้อมหาวิทยาลัยเกริกไปแล้ว

“นักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทยเพิ่มขึ้นตลอด ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เยอะมาก ประมาณ 4,000-5,000 คน แต่ที่มหาวิทยาลัยเกริก กลุ่มทุนจีนเพิ่งซื้อไปซึ่งปีนี้เป็นปีแรก มีประมาณ 2,000 กว่าคน”

การที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนของไทย เป็นเพราะมหาวิทยาลัยในไทยมีความพร้อมอยู่แล้วทั้งเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ สถานที่ และบุคลากร ขณะที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนมีการแข่งขันสูงมากและมีนักศึกษาถึงปีละเกือบ 5 ล้านคนไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนได้ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องออกไปเรียนยังต่างประเทศ และประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าจะไปเรียนในอเมริกาหรือยุโรป

“กลุ่มทุนจีนที่เคยจัดส่งนักศึกษามาเรียนในไทย ก็เห็นโอกาสและช่องทางที่จะทำธุรกิจการศึกษาจากการซื้อหรือร่วมทุนมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะเขารู้อยู่แล้วว่านักศึกษาจีนจะมีปริมาณเท่าไหร่ที่จะส่งมาเรียนในไทยได้ และเมื่อซื้อแล้วก็จะมีการปรับหลักสูตรให้เป็นภาษาจีน มีการดึงบุคลากรจีนเข้ามาสอนในสถาบันการศึกษานั้นๆ ต่อไป”

ที่ผ่านมานักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในไทยจะสนใจเรียนด้านบัญชี การบริหารธุรกิจ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เป็นหลัก ส่วนด้านการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาไม่ได้ให้ความสนใจ

ด้าน ดร.ฐิติมา วงศ์อินตา ประธานสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า นักศึกษาจีนจะให้ความสนใจด้านบริหารธุรกิจ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ ซึ่งมหาวิทยาบูรพาก็จะมีหลักสูตรภาษาไทยด้านโลจิสติกส์ในระดับปริญญาตรี และมีหลักสูตรนานาชาติก็จะมีนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาจีนเข้ามาเรียน และนักศึกษาจีนส่วนหนึ่งที่จบปริญญาตรีที่ ม.บูรพา แล้วก็จะต่อปริญญาโทที่คณะโลจิสติกส์ด้วย

“นโยบายของจีนเรื่อง One Belt, One Road และเชื่อมต่อยุทธศาสตร์ EEC ของไทย ซึ่งจีนมองว่าเขามีสินค้าอยู่แล้ว สินค้าเหล่านี้เขาจะกระจายอย่างไร จึงสนใจเรื่องโลจิสติกส์ เพราะจากการพูดคุยกับนักธุรกิจจีน ก็ชี้ชัดว่า ธงของเขาต้องการมาทำธุรกิจในไทย จึงเข้ามาเรียนที่ไทย”

นอกจากนี้ สิ่งที่จีนต้องการรู้ก็คือโลจิสติกส์ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร รู้ลึกเรื่องของการขนส่ง ระบบคลังสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือรู้ทั้งกระบวนการ วิธีการ การวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ ควบคุม การบริหารธุรกิจ รวมไปถึงการตลาดและวัฒนธรรมของคนไทย

ขณะที่ ดร.นพปฎล สุวรรณทรัพย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต กล่าวว่า นักศึกษาจีนที่มาเรียนในไทยระดับปริญญาตรี จะสนใจด้านการบริหารธุรกิจ และ ม.รังสิต ก็มีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีนหลายแห่ง โดยเฉพาะโครงการ 2 ปริญญา ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ และการเงินยูนนาน ซึ่งเด็กไทยเรียนที่ ม.รังสิต จะได้ปริญญาจาก ม.รังสิต และ ม.เศรษฐศาสตร์และการเงินยูนนานด้วย ส่วนนักศึกษาจีนที่เรียนอยู่ ม.เศรษฐศาสตร์ และการเงินยูนนาน ก็จะเป็นนักศึกษาเอกภาษาไทย ก็ต้องมาเรียนรายวิชาที่คณะบริหารธุรกิจ 1-2 ภาคการศึกษาที่ ม.รังสิต

“นักศึกษาจะได้ปริญญาตรีของยูนนาน ด้านบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ส่วนของ ม.รังสิต ก็ขึ้นอยู่กับว่านักศึกษาลงสาขาอะไร ของคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเด็กไทยที่เลือกเรียนก็จะได้ภาษาจีนด้วยเพราะต้องไปซัมเมอร์ที่ยูนนาน 1 ภาคการศึกษา คนที่จบไปแล้วก็มีทั้งไปเรียนต่อ ทำงานธนาคารและทำธุรกิจนำเข้า ส่งออก”

สำหรับสาขาโลจิสติกส์นั้น ม.รังสิต ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจีนต้องการให้เปิดในระดับปริญญาโท ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการจัดทำและขออนุมัติหลักสูตร ซึ่งต้องการจะเปิดเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติด้วย และ ม.รังสิตก็ต้องมั่นใจในการควบคุมคุณภาพ เพราะระดับปริญญาโทจะมีเรื่องการวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ปริญญาตรี ฝึกเด็กให้เป็นนักปฏิบัติ ทำงานตอบสนองความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมได้ แต่ปริญญาโท จะเน้นการเป็นผู้บริหาร เรียนเชิงกลยุทธ์ คิดวิเคราะห์ ต้องตระหนักถึงการทำงานวิจัย เพื่อมุ่งเน้นให้สามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ”

รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต ระบุว่า สาขาโลจิสติกส์ในระดับปริญญาตรี มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ EEC ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ที่กำลังพัฒนาโครงการใหม่ มีความต้องการแรงงานทางด้านโลจิสติกส์มากกว่า 1 แสนตำแหน่ง และหากโครงการเสร็จสมบูรณ์ และมีการเกิดขึ้นของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บริษัทโลจิสติกส์ที่ต้องขนส่งสินค้าในประเทศ มีการขยายตัวมากและต้องการแรงงานมากขึ้นตามไปด้วย

“ม.รังสิต ร่วมมือกับภาคเอกชนหลายแห่ง ในการพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่นร่วมมือกับไทยเบฟเวอเรจโลจิสติกส์ ในการพัฒนาคลังสินค้าจำลอง เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม”

ดร.นพปฎล สุวรรณทรัพย์ บอกอีกว่า การที่นักศึกษาจีนต้องการมาเรียนที่ประเทศไทยเพราะไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในจีนได้ อีกทั้งนักศึกษาจีนมองเห็นโอกาสและอนาคตทางด้านโลจิสติกส์ เช่น ฐานธุรกิจอาลีบาบา ขยายศูนย์กระจายสินค้ามาทางฝั่งตะวันออก (EEC) มองเห็นโรงงานของจีน อุตสาหกรรมของจีนเข้ามาลงทุนและเปิดตลาดใประเทศไทยมาก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอด จึงอยากเข้ามาเรียนที่ประเทศไทย

“จากการพูดคุยกันจึงรู้ว่าจุดประสงค์ของนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนเพราะอยากได้ภาษาไทย คือพูดได้ เขียนได้ด้วย เพราะที่จีนมีการแข่งขันสูง ซึ่งถ้าได้ภาษาไทยและจีน แถมยังคุ้นชินกับวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมจีน ก็จะสามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างไทย-จีน ได้ง่ายขึ้น หรือหากกลับไปที่จีน ก็สามารถไปทำงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่ไปลงทุนในจีนได้ง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการศึกษา ระบุว่านอกจากกลุ่มจีนจะเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเกริกแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่กลุ่มบริษัทไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด (China YuHua Education Invesment Limited) จากประเทศจีน เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% ไปแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความต่างจากกลุ่มทุนที่ซื้อมหาวิทยาลัยเกริก

กลุ่มทุนจีนที่ซื้อเกริก เริ่มจากกลุ่มที่จัดหานักศึกษาจีนมาเรียนที่ประเทศไทย เห็นโอกาสและช่องทางการขยายตลาด ไปรวบรวมทุนจีนและซื้อพร้อมเปลี่ยนหลักสูตรเป็นสอนภาษาจีน บุคลากรมาจากจีน ทั้งคณะบัญชี บริหารธุรกิจ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ อนาคตที่นี่จะมีนักศึกษาจีนจำนวนมากมาเรียน ”

รายงานข่าวบอกอีกว่า กลุ่มทุนดังกล่าวยังได้ติดต่อรวบรวมทุนจีน ที่จะเข้าถือหุ้นในมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้ติดอันดับต้นๆ และเลือกเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในด้านพื้นที่เป้าแรกจะอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใกล้เขตพัฒนาอีอีซี และจะมีการกระจายไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ ด้วยเช่นกัน

ว่ากันว่าการรุกธุรกิจการศึกษาของจีน น่าจะมีมหาวิทยาลัยเอกชนร่วม 10 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการเจรจาของกลุ่มทุนจีน เพราะต้องไม่ลืมว่านักศึกษาจีนที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐในจีนถึงปีละเกือบ 5 ล้านคนคือเป้าหมายสำคัญ

“มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มี 2 แห่ง ก็มีการเข้าไปเจรจา ทำเลที่ตั้งดีมากๆ โดยเฉพาะที่ร่มเกล้าพื้นที่ใหญ่มากๆ และยังมีเกษมบัณฑิต พัฒนาการ อีก”

อีกทั้งประเทศไทยจะเป็นประเทศที่รองรับการขยายตัวของกลุ่มทุนจีนตามนโยบายของรัฐบาลจีนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อการเปิดตลาดสินค้าและอุตสาหกรรมไปยังประเทศต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งวันนี้การเชื่อมต่อของถนนจากจีน ผ่านลาวเข้าไทย หรือจากเวียดนาม-กัมพูชา เข้ามาไทย ล้วนสะดวกสบายทั้งระบบถนนและขนส่งระบบรางที่จะทำให้การค้า การลงทุน ประสบความสำเร็จได้ง่ายเช่นกัน

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าการรุกของกลุ่มทุนจีนในด้านธุรกิจการศึกษา มหาวิทยาลัยใดจะเป็นคิวต่อไป!

Source