Big Move! Sports Mall ทุ่ม 500 ล้านปรับใหญ่ขยายพื้นที่ขาย รับเทรนด์ไลฟ์สไตล์กีฬาโต

Sports-Mall-open

Sports Mall ในเครือเดอะมอลล์ลงทุน 500 ล้านบาท รีโนเวต 7 สาขา ปรับโฉมครั้งใหญ่เป็น Global Flagship Store ขนแบรนด์ดังขยายพื้นที่เพิ่มความเอ็กซ์คลูซีฟ แย้มวางแผนเปิดร้านแบบสแตนด์อะโลนเจาะชุมชน ตอบรับเทรนด์ไลฟ์สไตล์กีฬาโตต่อเนื่อง 5 ปี

ไลฟ์สไตล์กีฬายังแรงดีแม้มีแกว่งตามสภาพเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ยังคุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะมองระยะยาวยังไม่หยุดง่ายๆ ทำให้ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ปรับใหญ่ วางแผนปี 2562-64 ทยอยรีโนเวต 7 สาขาจาก 11 สาขาของ Sports Mall ได้แก่ สยามพารากอน, ดิ เอ็มโพเรียม, งามวงศ์วาน, บางแค, บางกะปิ, โคราช, ท่าพระ ใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยวันนี้สาขาแรกที่สยามพารากอนพร้อมให้บริการแล้ว

สองผู้บริหารจากเดอะมอลล์ กรุ๊ป “วิภา อัมพุช” ผู้จัดการใหญ่ SPECIALTY RETAIL DEVELOPMENT บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และ “สุนทร สุรีย์เหลืองขจร” ผู้จัดการทั่วไปบริหารสินค้าสปอร์ตมอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันเปิดเผยถึงการปรับพื้นที่ใหม่ของ Sports Mall ว่า พื้นที่ในแต่ละสาขาจะปรับโฉมภายใต้คอนเซ็ปต์ Global Flagship Store ที่เปลี่ยนหรือเสริมจุดแข็งหลายด้าน ได้แก่ พื้นที่ขาย สินค้า และบริการ

Sports Mall
“วิภา อัมพุช” ผู้จัดการใหญ่ SPECIALTY RETAIL DEVELOPMENT บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และ “สุนทร สุรีย์เหลืองขจร” ผู้จัดการทั่วไปบริหารสินค้าสปอร์ตมอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

สำหรับ “พื้นที่ขาย” Sports Mall มีการปรับพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสาขาสยามพารากอน พื้นที่รวมจากเดิม 3,200 ตร.ม. เพิ่มเป็น 5,000 ตร.ม. ทำให้แบรนด์ที่วางจำหน่ายในร้านมีพื้นที่ขายเพิ่มเกือบเท่าตัวและสามารถจัดวางดิสเพลย์สินค้าให้น่าสนใจ

การจัดพื้นที่โดยรวม Sports Mall ยังปรับลุคให้ ‘น่าเดิน’ ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มนักกีฬาแต่ขยายไปถึงกลุ่มเสื้อผ้าสปอร์ตสแฟชั่น จึงตกแต่งพื้นที่ขายด้วยสไตล์แบบสตรีท ทางเดินโอ่โถง มีจุดถ่ายรูปและกิจกรรมเช่นตู้เกมบาสเกตบอล พร้อมพื้นที่ Sports Hall ส่วนกลางให้แบรนด์ผลัดกันจัดกิจกรรมดึงดูดลูกค้ารายสัปดาห์ ร้านยังมีการปรับโลโก้ใหม่จากลุคนักกีฬามาเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่น ซึ่งโลโก้นี้ยังนำไปปรับเข้ากับยูนิฟอร์มของพนักงานของ Sports Mall ด้วย

นอกจากบรรยากาศโดยรวมที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามาแล้ว บริษัทยังเน้นเรื่อง “สินค้า” ที่เข้ามาขาย ครบทุกประเภทกีฬา เช่น วิ่ง กอล์ฟ ว่ายน้ำ เทนนิส จนถึงเดินป่า-แคมปิ้ง และมีการเซ็นดีลเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นร้านที่ได้ลงขายสินค้า Limited Edition ของแบรนด์ดังซึ่งมีโควตาจำนวนจำกัดในแต่ละประเทศ นับเป็นจุดสำคัญเพราะสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขาย

ปิดท้ายคือการปรับ “บริการ” พนักงานของร้านจะต้องเสริมเรื่องความรู้สินค้า สามารถช่วยเลือกและแนะนำลูกค้าได้ รวมถึงปรับความเร็วหลังลูกค้าตัดสินใจซื้อแล้วการชำระเงินและรับสินค้าต้องเสร็จสิ้นภายใน 5 นาที

Lookbook ยูนิฟอร์มใหม่ของพนักงาน Sports Mall
Lookbook ยูนิฟอร์มใหม่ของพนักงาน Sports Mall

สองผู้บริหาร Sports Mall กล่าวด้วยว่า คอนเซ็ปต์นี้อาจจะนำไปใช้ในร้านค้าแบบสแตนด์ อะโลนเพื่อเจาะแหล่งชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีศูนย์การค้าเครือเดอะมอลล์ เป็นร้านขนาด 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป ที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ครบทุกเพศทุกวัยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นแผนระยะ 3 ปีจึงยังอยู่ระหว่างศึกษ

ไลฟ์สไตล์กีฬาโต 2 หลักตลอด 5 ปี

สุนทรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดอะมอลล์เล็งเห็นการเติบโตของตลาดเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาตลอด 5 ปีมีการเติบโต 2 หลักมาทุกปี โดยปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดเครื่องกีฬาที่ขายผ่านช่องทางรีเทลอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% ขณะที่ปี 2562 นี้คาดว่าจะโต 6% เติบโตช้าลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ แต่เทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ แล้วจะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่า

ส่วนยอดขายของ Sports Mall เอง ปี 2561 มียอดขายราว 3.7 พันล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 7% สูงกว่าตลาดเล็กน้อ

วิ่ง+ผู้หญิง ผลักกระแสพุ่งทะยาน

ภาพระยะยาวของธุรกิจเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา วิภามองว่ายังเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมาพร้อมกับความตระหนักเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ กลายเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้สถิติโรงงานผู้ผลิตให้กับแบรนด์ดังทั่วโลกยังมีแนวโน้มขยายกำลังผลิต สะท้อนให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

สุนทรเสริมว่า ในไทยเองมีจุดสำคัญที่ทำให้เสื้อผ้ากีฬาเติบโตคือกระแสกีฬาวิ่ง โดยปัจจุบันเมืองไทยมีการจัดงานแข่งขันวิ่ง 1,300 รายการต่อปี มีฐานนักวิ่งราว 20 ล้านคน และมีการจัดงานฟูลมาราธอนระดับโลกถึง 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังเริ่มมีกระแสวิ่งเทรลมาเสริมซึ่งทำให้ Sports Mall มีโซนเดินป่าและแคมปิ้งเข้ามา

อีกปัจจัยหนึ่งคือกลุ่มผู้หญิง ที่เมื่อ 5 ปีก่อนมีสัดส่วนในกลุ่มผู้ซื้อเพียง 30% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 45% ผู้หญิงจึงเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ทั้งแบรนด์และร้านค้ามุ่งจับตลาด