เตรียมใจ! สรุปวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ 2020 ส่งออก-ค่าเงิน-ตลาดหุ้นไทย จาก KBank

ดูท่าจะต้องเหนื่อยกันยาว กสิกรไทยมองปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง คาด GDP โตแค่ 2.7% ส่งออกติดลบ-เสียมาร์เก็ตเเชร์ เเถมเเนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 จะแข็งค่ามากขึ้นอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์  ส่วนตลาดหุ้นไม่โตเเต่พอลงทุนได้ ยังมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเช่น ท่องเที่ยว เฮลท์เเคร์  เเนะนำให้ลงทุนต่างประเทศไว้บ้าง

Positioning สรุปประเด็นสำคัญที่คุณต้องรู้จากสัมมนา “ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีชวด” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย กับมุมมองสภาพเศรษฐกิจในปีหน้าที่โลกกำลังเผชิญความท้าทาย เเละเศรษฐกิจไทยต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เหมือนกัน

ประเมินปีหน้าโตเเค่ 2.7% ห่วงไทยโดนเเย่งมาร์เก็ตเเชร์ส่งออก

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะเติบโตที่ระดับ 2.7% ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้

โดยได้รับเเรงกดดัยจากปัจจัยอย่าง ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องที่ระดับ -2% เเละการบริโภคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 2.5% จากปีนี้ที่คาดการณ์เติบโต 3.2% นอกจากนี้ไทยยังมีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง

“ในช่วงที่ค่าเงินบาทเเข็งทำให้เราเสียมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก และการที่สินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ ลำบากขึ้นก็ทำให้จีนหันตลาดมายังอาเซียน ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกของไทย”

โดยเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงเป้าหมายเติบโตในกรอบ 2.6-2.8% มีแนวโน้มอยู่ในกรอบล่าง และการส่งออกคาดการณ์ -1%

“เราให้การส่งออกปีหน้าติดลบ ด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าที่ยืดเยื้อเเละปัจจัยภายในอย่างปัญหาในเชิงโครงสร้างที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจยังเปราะบาง”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2020 จะเป็นการลงทุนของภาครัฐที่จะได้รับการอนุมัติในช่วงต้นปีหน้า

“มองว่าเเม้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า”

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 คาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้น โดยกรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์ ในครึ่งปีแรก และ 29.20-29.25 บาทในสิ้นปี จากสิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.50 บาท บนที่ตั้งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 บาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีเเรกเเละเดือน ก.ย. พร้อมคาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.25%

ขณะที่ความเห็นเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนว่าจะสิ้นสุดหรือบรรเทาลงหรือไม่นั้น ผู้บริหารกสิกรไทยตอบว่า คาดว่าจีนจะยังคงดูสถานการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020 เเละยังคงต้องรอดูว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะถูกถอดถอนก่อนหรือไม่ จีนคงยังร่วมข้อตกลงในช่วงนี้ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้นำก็จะเจรจาใหม่ลำบาก เเละคิดว่าหากพรรคคู่เเข่งอย่างเดโมเเครตจะเดินเกมก็คงจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. เหมาะที่สุด และการที่จีนอยากขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลก โดยสั่นสะเทือนสหรัฐฯ ด้วยเทคโนโลยี 5G นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

มองเป้า SET Index ปี 2020 ที่ 1,725 จุด 

กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่าได้มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2020 ไว้ที่ 1,725 จุด โดยทิศทางตลาดหุ้นไทยในปีหน้าน่าจะแกว่งตัวในกรอบ เเละคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปีหน้าไม่น่าจะดีเท่ากับปีนี้

เเละอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกังวลคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มี New High เเต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทั้งเรื่องอัตราการว่างงานเเละการบริโภคภายในประเทศ สวนทางกับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ มีการเติบโตสูงเเละมีรายได้จากทั่วโลก

สำหรับการเติบโตของตลาดหุ้นไทยนั้น เขามองว่า ตลาดหุ้นไทยยังโตได้เเคบเนื่องจากเราไม่มีบริษัทเทคโนโลยีในประเทศที่สร้างมูลค่าระดับโลก หากถามว่าโตไหม ก็คงโตได้ เเต่จะไม่โตไปไกลกว่านี้ ถ้าไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสของบริษัทภาคการท่องเที่ยว การบริการ และเฮลท์แคร์ที่เป็นจุดเด่นของไทยจะโตขึ้นมาได้มากเเละเเนะนำให้ซื้อหุ้นต่างประเทศไว้ด้วย

เลือกหุ้นอุตฯ ที่ไม่ใช่อุตฯ

เมื่อถามว่า “ปีหน้ายังคงลงทุนได้ไหม” กวีตอบว่า “ยังลงทุนได้เเต่ต้องเลือกให้ดี”

โดยแนะนำเทคนิคเลือกหุ้นในตลาดไทย ตามทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า 3 ข้อ ได้แก่ 1) ลงทุนในบริษัทไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในอาเซียน 2) ลงทุนในบริษัทที่สามารถเติบโตในประเทศได้ ไม่พึ่งพาการส่งออก และ 3) ลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นภาคบริการ โรงแรม ท่องเที่ยวและเฮลท์แคร์

แนะหุ้นเด่นน่าลงทุน  

สำหรับ หุ้นกลุ่มที่น่าลงทุน มองเป็นหุ้นที่มีกำไรคงที่ และมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น กลุ่ม ICT ที่มีการแข่งขันน้อยและการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยแนะหุ้น ADVANC และ DTAC, กลุ่มค้าปลีก สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง CPALL รวมถึงพลังงานต้นน้ำ อย่าง PTTEP และกลุ่มท่องเที่ยว อย่าง MINT จากการขยายโรงแรมไปในยุโรป และกลุ่มหุ้นปันผล จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น TISCO ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 7%, RATCH ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 4% และกองทุน TFFIF

ส่วน หุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง การลงทุนในปีหน้า คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและมีความไม่แน่นอนของกำไร อย่าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหนี้ NPL รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี ที่อยู่ในช่วงขาลงและกลุ่มค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมองกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่าจะทำกำไรได้ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบในเรื่องเงินบาทแข็งค่าและการส่งออกที่หดตัว

ภาคท่องเที่ยวยังพอช่วยได้ 

ด้าน ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.7% และคาดว่าปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% แม้การส่งออกจะเป็นขาลง แต่ก็จะได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการมาช่วยเสริม ซึ่งมองว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว ขณะที่ช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปนั้น ก็ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่าง “อินเดีย” มาช่วย

และสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือ การลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง เกษตร แร่ เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและเคมีภัณฑ์ โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด คือญี่ปุ่น จีน และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ การส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกของ ปี 2019 หดตัวลง 2.1% ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ดี ไทยยังมีสินค้าที่ทดแทนจีนได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แผงวงจรรวม และน้ำมันเครื่อง เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ทดแทนสหรัฐฯ ได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ น้ำแอปเปิล น้ำผึ้ง เฟอร์นิเจอร์ ฝาพลาสติก เป็นต้น

เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง

สรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2020 ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เงินในระบบหมุนเวียนในระบบของไทยลดลงอย่างมากจากในปี 1999 อยู่ที่ 12 รอบ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 6 รอบ เเละการเจรจายุติสงครามการค้ายังไม่เเน่นอน รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจาก 2.3% เหลือ 1.8% ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอลงด้วย ขณะที่ประเทศในเอเชียที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ อย่างอินเดียเเละฟิลิปปินส์ยังเติบโตได้ดี

ส่วนไทยและสิงคโปร์ ที่พึ่งพาการส่งออก มีโอกาสโตเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2562 รวมถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทย

ด้าน พีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ธปท.ออกมาเพื่อบรรเทาการเเข็งค่าของเงินบาทนั้นใช้ไม่ได้ผลนัก เนื่องจากผู้ส่งออกมีต้นทุนการเงิน ไม่สามารถพักเงินดอลลาร์ได้อย่างที่ผ่อนคลายให้

สรุปทิศทางเศรษฐกิจปีชวด

  • เศรษฐกิจโลก

ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ-จีนแม้การเจรจามีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังนำโดยการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การผลิตที่อ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปี 2020

  • เศรษฐกิจไทย

มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจในประเทศแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ผ่านการเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ตกต่ำลง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมอ่อนแอลง ส่งผลถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง

ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐอาจมีผลจำกัดและเป็นการวางเป้าหมายเพียงระยะสั้น โดยมีข้อจำกัดสำคัญจากหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

  • เงินบาท

ยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยประเมินว่าความเสี่ยงของโลกยังสูง โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินบาท เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลสูงและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าไทยและกดดันเงินบาทให้แข็งค่า

ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทแต่อาจยังไม่สามารถลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงได้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.25 ณ สิ้นปี 2020

อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าอย่างรวดเร็วหากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกสูงขึ้น ความกังวลดังกล่าวอาจสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอลง เป็นผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

ความสามารถในการผลิตของแรงงานในแต่ละประเทศ