ยาคุมกำเนิด เป็นวิธีที่ได้ผลดีหากผู้หญิงไม่ลืมรับประทานยา หากลืมกินยาให้ต่อเนื่องเพียงไม่กี่วันอาจนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ แต่ปัญหานั้นอาจหมดไปในไม่ช้า เพราะทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ MIT เริ่มคิดค้นยาคุมกำเนิดแบบรับประทานแค่เดือนละครั้ง และจากการทดลองในสัตว์ ก็เริ่มเห็นแววความสำเร็จ
ยาคุมกำเนิดแบบเดือนละครั้งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะวางจำหน่ายในร้านขายยาได้ แต่ความคืบหน้าครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้หญิงหลายคนมีความหวัง โดยเมื่อวันพุธที่ 4 ธ.ค. 2019 กลุ่มนักวิจัยรายงานว่า ยาที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ใช้ได้ผล เมื่อทดลองกับสัตว์
สำนักข่าว AP รายงานข่าวการวิจัยครั้งนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนมูลค่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 390 ล้านบาท) จาก มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ โดยวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คือต้องการให้ยานี้ช่วยพัฒนาการวางแผนครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนา
ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงที่ต้องการการคุมกำเนิดระยะยาวสามารถเลือกวิธีการได้หลากหลาย ตั้งแต่แผ่นแปะคุมกำเนิดรายสัปดาห์ วงแหวนคุมกำเนิดรายเดือน จนถึงยาฉีดซึ่งคุมกำเนิดได้นานหลายปี ขณะที่ยาคุมกำเนิดรายวันนั้นอาจไม่ถูกนับเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะผ่านร่างกายและสูญสลายไปภายในวันเดียว
สิ่งที่ทีมนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต แลงเจอร์ กำลังพัฒนาอยู่ คือการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันตัวยาจากสิ่งแวดล้อมเป็นกรดสูงในระบบย่อยอาหาร
“เราพัฒนาระบบแคปซูลที่หน้าตาเหมือนกับปลาดาว และทำให้แคปซูลนี้อยู่ในกระเพาะได้หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือนานถึงหนึ่งเดือน” ดร.จีโอวานนี ทราเวอร์โซ จากโรงพยาบาลหญิง Brigham ในเมืองบอสตัน หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
แคปซูลรูปปลาดาว มีแขนทั้งหมด 6 แขน แต่ละแขนเป็นที่เก็บตัวยาในปริมาณเท่าๆ กัน อุปกรณ์นี้ถูกห่อไว้ในแคปซูลปกติอีกชั้นหนึ่ง เมื่อผู้บริโภคทานยาลงไปแล้ว กรดจะละลายแคปซูลตัวหุ้มด้านนอกออก จากนั้นแคปซูลปลาดาวจะหลุดออกมา ขนาดของมันจะใหญ่เกินช่องทางออกจากกระเพาะอาหาร แต่ไม่ใหญ่เกินไปจนขัดขวางการทำงานของกระเพาะ เมื่อตัวยาละลายออกจากแขนแต่ละแขนจนหมด แคปซูลปลาดาวจะแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อผ่านระบบย่อยอาหาร
นอกจากจะใช้แคปซูลปลาดาวเพื่อบรรจุตัวยาคุมกำเนิดแล้ว ทีมนี้ยังนำไปทดลองใช้กับยามาลาเรียและยาต้านเชื้อ HIV ซึ่งปกติต้องกินทุกวันเหมือนกับยาคุม โดยสามารถพัฒนาจนตัวยาอยู่ในกระเพาะได้ถึง 1-2 สัปดาห์
ทีมวิจัยทำการทดลองแคปซูลเหล่านี้ใน สุกร ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีระบบย่อยอาหารเหมือนมนุษย์ ผลปรากฏว่าตัวยาคุมกำเนิดสามารถละลายออกมาอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลา 4 สัปดาห์ และปริมาณยาในเลือดของหมูก็เท่าๆ กันกับตัวที่กินยารายวัน
ความท้าทายต่อจากนี้คือการติดตามการแตกตัวของแคปซูลหลังยาละลายออกหมดว่าจะเหมือนกันหรือต่างกันในแต่ละบุคคล รวมถึงโดสของตัวยาที่จะใช้สำหรับผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนต่างกัน
- อ่านเพิ่มเติม: ญี่ปุ่นตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านเยน ให้เงินทุน “นักวิจัยรุ่นใหม่” ยาว 10 ปี ดันสร้างนวัตกรรมใหม่
ถ้าหากทีมวิจัยนี้ทำสำเร็จ อาจจะมีการยกระดับไปสู่แคปซูลปลาดาวที่บรรจุทั้งยาคุมกำเนิดและยาต้าน HIV เพื่อนำไปใช้ใน ประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์