ครม.ไฟเขียวคลอดกองทุน Super Savings Fund (SSF) ทดแทนกองทุน LTF หักลดหย่อยได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่เกิน 2 แสนบาท หวังกระตุ้นให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางเริ่มต้นการออมระยะยาวมากขึ้น
ด้านประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ผิดหวังที่คลังไม่ให้ความสำคัญการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น รวมทั้งเหมารวมวงเงินหักลดหย่อนทุกกองทุนได้ไม่เกิน 5 แสนบาท จากเดิมที่ 1 ล้านบาท
เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม กระทรวงการคลัง เคาะกองทุน Super Savings Fund หรือ SSF แทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งกำลังจะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปีนี้เป็นปีสุดท้าย
ก่อนที่บอกว่า SSF มีคุณสมบัติอย่างไรนั้น หลาย ๆ คนอาจจะลืมไปแล้วว่า LTF ลงทุนอย่างไรบ้าง โดยคุณลักษณะหลักๆของ LTF ก็จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนใน “หุ้น” ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 65 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยมีทั้งกองทุนที่จ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
ส่วนรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ สำหรับการซื้อกองทุน SSF ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กำหนด ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ผู้ซื้อกองทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
นอกจากนี้ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนได้ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563-2567 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมอีกครั้งหลังปี 2567 ทั้งนี้คาดว่ากองทุน SSF จะเริ่มขายอย่างช้าสุดในเดือน ก.พ.เพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัวและทำระบบใหม่ โดยในส่วนนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานที่ดูแล โดยหารือร่วมกับผู้จัดการกองทุนต่างๆ ถึงกองทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อกองทุน RMF ประกอบด้วยปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และได้ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (เดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม
เน้นส่งเสริมคนรายได้ปานกลาง-น้อย ออมระยะยาว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุชัดเจนว่า การออกกองทุนใหม่ SSF มาแทนที่กองทุน LTF เดิมนั้นยังเน้นย้ำเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมระยะยาวมากขึ้น และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว
“กระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยการออม เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้เมื่อพ้นวัยทำงาน”
ปี 61 ยอดขอคืน LTF รวม 1 หมื่นล้าน
ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีนี้ นักลงทุนยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี สำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่น
โดยรอบปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้ลดหย่อนภาษีจากกองทุน LTF จำนวน 400,000 ราย ขอคืนภาษีรวม 10,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุน RMF มีผู้ขอยื่นเพื่อขอลดหย่อนภาษี 200,000 ราย คิดเป็นเงินคืนภาษีกว่า 6,000 ล้านบาท
เทียบคุณสมบัติกองทุนใหม่-เก่า
สำหรับข้อมูล 3 กองทุนเพื่อการออม LTF-RMF และ SSF นั้นมีความเหมือนและต่างกันในรายละเอียด แต่ทั้ง 3 กองทุนผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สามารถลงทุนในปีนี้ได้อีกปี บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ โดยไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่สามารถลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี โดย LTF ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยจะนับเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปีเมื่อลงทุนแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาจากเงินลงทุนที่ขายคืนนั้น
ทั้งนี้ การลงทุนกองทุน LTF เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ในปี 2562 เป็นปีสุดท้ายที่จะครบกำหนดการขยายสิทธิ์ (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562)
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ฉบับแก้ไขใหม่ บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ทั้งนี้การได้มีการแก้ไขเงินลงทุน จากเดิมต้องลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปีอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าจำนวนเงินใดจะต่ำกว่า และสามารถลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี ปรับเปลี่ยนเป็นไม่กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ แต่ยังต้องลงทุนต่อเนื่องตามเงื่อนไข โดยนับเวลาแบบวันชนวัน เริ่มจากวันแรกที่ได้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุน
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) บุคคลธรรมดาสามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
การหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กำหนดไว้ 5 ปี (2563 – 2567) หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะประเมินผลและทบทวนมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไปผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะต้องถือครอง SSF เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ โดยไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี และไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุนเพียงแต่ปีที่ลงทุนจึงจะได้ลดหย่อนภาษี และการลงทุนของ SFF จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท
วงการตลาดทุน หวั่นกอง SSF กระทบตลาดหุ้น
อย่างไรก็ดี มีได้ก็ต้องมีเสีย เพราะแม้กองทุนใหม่จะช่วยส่งเสริมการออม แต่สำหรับวงการตลาดทุนนั้น ส่วนใหญ่มองว่าการเปลี่ยนกองทุนจาก LTF มาเป็น SSF อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดหลักทรัยย์ เพราะ LTF นั้นระบุให้ลงทุนในหุ้นได้ถึง 65% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม แต่ SSF ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะหุ้น ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า พอใกล้ปลายปีเม็ดเงินจากการลงทุน LTF มักจะเข้ามาหนุนตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้พอร์ตการลงทุนดีขึ้น แต่หากปี 2563 หมดกองทุน LTFแล้ว เราอาจจะเห็นว่ามูลค่าการซื้อขาย หรือเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นลดน้อยลง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่กระทรวงการคลังไม่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น และที่ไม่เห็นด้วยคือ การที่กระทรวงการคลังเอาวงเงินลดหย่อนของกองทุนเพื่อการออมทุกประเภทมารวมกัน และกำหนดเพดานไว้ที่ 500,000 บาทเท่านั้น (จากเดิม 1 ล้านบาท) ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คนรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพในการออมสูง อาจเลือกที่จะออมน้อยลง และถ้ากลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลต้องการให้ออมมาก ๆ เลือกที่จะออมไม่เต็มที่ ก็จะทำให้วงเงินออมรวมทั้งระบบไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร
แต่ชื่นชมที่ยังเห็นถึงความสำคัญของการออมระยะยาว ด้วยการขยายวงเงินลงทุนสูงสุดในกองทุน SSF และ RMF ให้ถึง 30% ของรายได้ที่พึงประเมิน (จากเดิม 15%) โดยกลุ่มคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดตั้งกองทุน SSF และการปรับเงื่อนไขกองทุน RMF คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนที่รายได้ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะวินัยการออมต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน
“การที่ไม่บังคับให้กองทุน SSF ต้องลงทุนในหุ้นเลย (ผิดกับ LTF ที่บังคับให้ลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้น) ไม่น่าจะตอบโจทย์สังคมสูงวัยที่ต้องทำให้ทุกคนมีรายได้พอใช้หลังเกษียณ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของภาครัฐ เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยยังมีความรู้เรื่องการลงทุนน้อย และมีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกองทุน SSF ประเภทเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการออมก็จะต่ำตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ” นายไพบูลย์ กล่าว
เขายังกล่าวด้วยว่า น่าเสียดายมากถ้าวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ (นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุน LTF) เริ่มสะดุดลงเพราะขาดแรงจูงใจ และนักลงทุนหันกลับไปลงทุนระยะสั้น แบบวันต่อวันกันมากขึ้น เสถียรภาพของระบบการเงินก็จะลดลง
ด้านนายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ระบุว่า จากสถิติแรงซื้อหุ้นของกองทุน LTF ในช่วง4 ปีย้อนหลังอยู่ที่ประมาณปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ จากวงเงินที่ให้สิทธิซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับ กองทุน RMF และกองทุนอื่นไม่เกิน 5 แสนบาท ลดลงจากเดิมที่ 1 ล้านบาท ทำให้คนที่มีฐานรายได้ เกิน 4 ล้านบาทต่อปี ซื้อได้น้อยลงเหลือ ไม่เกิน 2 แสนบาท โดยบริษัทได้มีการจัดทำผลสำรวจ เบื้องต้นกลุ่มคนที่ได้สิทธิซื้อวงเงินเพิ่มจาก 15% เป็น 30% นั้น พบว่าประมาณ 70-80 % จะไม่ใช้สิทธิซื้อเพิ่ม ดังนั้นประเมินว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนลดลงไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท เหลือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องบอกว่าเก่าไป LTF ใหม่มา SSF ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาก่อนการลงทุน คนที่ลงทุน LTF มาเป็นประจำอยู่แล้ว อาจมองว่า SSF ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า แต่ถ้ามองในแง่ของการออมแล้วก็ยังถือเป็นทางเลือกที่รัฐบาลพยายามหามาให้แทนที่ของเดิม และใครที่มองว่าออมแล้วได้ผลตอบแทนน้อย ก็อาจจะต้องหาทางเลือกจากการออมด้านอื่นเป็นตัวเลือกถัดไป แต่อย่างน้อย ๆ กองทุน SSF ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีของคนรายได้ไม่มากที่อยากจะออม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่