Positioning คุยกับ Group CEO และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ นอกจากนี้เขาเองยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Thailand Investment Forum ในหลากเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นมุมมองการลงทุนของวัยรุ่น การลงทุนในชีวิต มุมมองการลงทุนในระยะยาว หรือแม้แต่การหาความสุขในชีวิต
วัยรุ่นไทยนั้นในปัจจุบันถือว่ามีความลำบากในการใช้ชีวิตไม่น้อย หลายครั้งถ้าหากมีการพูดคุยเรื่องการลงทุน หรือแม้แต่เรื่องของการออมเงิน อาจสร้างความไม่พอใจให้กับวัยรุ่นเช่นกัน ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเกิดมหกรรมทัวร์ลงเสียด้วยซ้ำโดยเฉพาะผ่านช่องทางเครือข่ายสังคม
และเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยเช่นเดียวกัน เพราะวัยรุ่นหลายคนเองก็พูดถึงปัญหาของการเก็บเงินออมไว้เช่นกัน
เรื่องที่เกิดขึ้นรวมถึงพฤติกรรมการลงทุนของวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบันเราจะทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร
Positioning พาไปคุยกับ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ Group CEO และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ นอกจากนี้เขาเองยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Thailand Investment Forum
เรื่องของการปรับค่าแรง เพื่อวัยรุ่นได้เหลือเงินเก็บ
ศกุนพัฒน์ มองว่าควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากทุกวันนี้ค่าแรงไม่ได้ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควร ถ้าเราเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่มีสถิติที่ชัดเจนว่า ประเทศไหนที่ค่าแรงสูง แล้วเศรษฐกิจจะมีปัญหา แต่มันจะทำให้เกิดการหมุนเวียน ประชาชนมีกำลังซื้อ มีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น ถึงแม้ว่าตอนแรกเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ในท้ายที่สุดนั้นเงินเฟ้อก็จะปรับตัวกลับไปสู่ตัวเลขตามปกติ
เขามองว่าประเด็นเรื่องค่าแรงในไทยดังกล่าวไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงในสังคมเท่าไหร่ มองว่าเรื่องของการเพิ่มรายได้ยังสร้าง Peace of mind ให้กับประชาชนด้วย ขณะที่เรื่องของทัวร์ลงของวัยรุ่นมองว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องค่าแรงที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
นอกจากนี้เขายังได้ให้มุมมองว่ารัฐฯ ควรที่จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เพื่อคนใช้แรงงานหรือ First Jobber ฯลฯ จะได้มีมาตรฐานในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น และยังเพิ่มสวัสดิภาพของประชาชน
ทำไมวัยรุ่นถึงลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมวัยรุ่นหลายคนถึงชื่นชอบหรือแม้แต่มองสินทรัพย์ดิจิทัลในแง่บวกอย่างมาก ศกุนพัฒน์ ได้กล่าวว่า เราต้องมองว่าทำไมวัยรุ่นถึงทำอย่างงั้น จะเห็นได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ว่าคนที่อายุเยอะกว่าเห็นแล้วยังตื่นเต้นกับราคาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเขามองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ราคาเพิ่มขึ้นมาในช่วงหลายปีสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตคนได้ และถ้าหากมองกลับไปว่าวัยรุ่นเองนั้นมีเงินตั้งต้นที่น้อยกว่า ก็ต้องพึ่งพาการเติบโตของผลตอบแทนที่สูง ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลตอบโจทย์ดังกล่าว
เขายังยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นถ้าต้องการเก็บเงิน 10,000 บาทอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แต่ถ้าหากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในจังหวะที่ราคาเพิ่มขึ้นร้อนแรง ก็อาจใช้เวลาน้อยกว่านั้นมาก และตัวของวัยรุ่นเองก็หมดหวังในหลายเรื่องรวมถึงเรื่องการลงทุนในรูปแบบทั่วไปด้วย กว่าที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้นั้นโอกาสมีน้อยมาก
ช่วงเวลาดังกล่าวสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเปรียบเหมือแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทำให้วัยรุ่นหลายคนตัดสินใจลงทุน ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ของทุกคน จึงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ราคาที่ขึ้นมาจากหลักหมื่นบาทเป็นหลักล้านบาท ฉะนั้นแล้วการมองการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวของวัยรุ่นว่าเป็นเรื่องลบก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรมเท่านัก
วัยรุ่นและการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ
ผู้ก่อตั้งของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ เทรเชอริสต์ รายนี้เคยเขียนไว้ใน Facebook ส่วนตัวว่า เขาทำงานในสถาบันการเงิน การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจมหภาค บางช่วงก็ยาก โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ถือว่ายากขึ้น หากสินทรัพย์เวลาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในบางช่วง ทุกอย่างถือว่าเป็นเรื่องง่ายหมด แต่ถ้าหากราคาสินทรัพย์ไม่ไปไหน แกว่งตัวไปมา คนในวงการเองก็ยังมองยาก
เมื่อประกอบกับเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลในระดับที่ต่างกันระหว่างบุคคลทั่วไป กับนักลงทุนสถาบัน ที่นักลงทุนสถาบันและมืออาชีพ เข้าถึงได้ง่ายกว่า ยังรวมถึงเงินลงทุนที่มากกว่า ทำให้การจับจังหวะเพื่อทำกำไร หรือความสามารถในการวิเคราะห์ทำได้ต่างกัน แม้คนในแวดวงการลงทุนเองยังต้องใช้ความเข้าใจ แล้วคนนอกอย่างวัยรุ่น ที่จะต้องมารับมือกับสภาวะตลาดแบบนี้ถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก
จากหลายๆสาเหตุประกอบกัน ส่งผลต่อมุมมองในการเปิดรับความเสี่ยงของวัยรุ่นที่เราเห็น ที่ทำให้วัยรุ่นหลายคน ถ้าตัดสินใจลงทุนอะไร จะลงแทบหมดหน้าตัก ศกุนพัฒน์ทำความเข้าใจแนวคิดนี่ว่า ในกรณีที่แย่ที่สุด ถ้าหากสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดเลย ก็อาจใช้เวลาไม่นานในการฟื้นกลับมา แต่ถ้าหากลงทุนสำเร็จ ก็เหมือนเปลี่ยนชีวิตของเขาได้เลย
ทำไมวัยรุ่น (หรือแม้แต่คนทั่วไป) ไม่อยากลงทุนระยะยาว
ศกุนพัฒน์ให้มุมมองว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างนักลงทุนระยะยาวกับระยะสั้นคือทุกคนอยากรวยเร็วเท่ากันหมด แต่ความเป็นจริงคือตลาดได้ให้ผลตอบแทนจริงๆ แบบนั้นหรือเปล่า ถ้าหากตลาดเป็นขาขึ้น การลงทุนระยะยาว 10 ปีถือเป็นเรื่องที่รับได้ เขาได้ยกตัวอย่างหุ้นสหรัฐฯ ที่ผลตอบแทนถือว่าดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็อาจให้ความหวังกับนักลงทุน แตกต่างกับสภาวะของตลาดหุ้นไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความผิดหวังกับนักลงทุน ทำให้หลายคนไม่กล้าลงทุน
การลงทุนในระยะยาวเป็นการตัดสินใจในวันนี้เพื่ออนาคต ซึ่งเรามักจะใช้ข้อมูลจากอดีต เพราะเราไม่มีข้อมูลอื่นประกอบมากนัก อย่างการลงทุนในกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองประเภทที่ค่อนข้างใหม่ เราก็จะดูผลงานในอดีตของกองที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทุนที่ลงทุนระยะยาวเช่น LTF ก็ไม่ได้มีผลงานที่ดีนัก ซึ่งก็อาจจะทำให้คนกังวลมากขึ้นเพื่อต้องลงทุนยาว
การมองไม่เห็นอนาคต 10 ปีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เขาได้กล่าวกับลูกค้าว่ากองทุนระยะยาว โดยเฉพาะกองทุนลดหย่อนภาษีแบบ RMF / SSF สามารถที่จะสลับกองทุนได้ ถ้าหากช่วงไหนหุ้นตกจนเสียแนวโน้มชัดเจน ก็สามารถสลับมาถือกองทุนตราสารหนี้ได้ และถ้าสลับกองทุนลดหย่อนภาษีในบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนเดียวกันยิ่งถือเป็นเรื่องที่ง่ายมาก สามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าหากคนเข้าใจว่ากองทุนระยะยาว โดยเฉพาะกองทุนลดหย่อนภาษีแบบ RMF หรือ SSF สามารถสลับกองทุนได้ ก็จะทำให้คนมาสนใจการลงทุนระยะยาวมากขึ้น
ศกุนพัฒน์ยังมองถึงเรื่องการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีว่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นเหล่า Top Management มีฐานภาษี 35% เท่ากับได้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนในกองลดหย่อนภาษี จากภาษีที่ลดลงไปมากกว่าคนทั่วไปหรือวัยรุ่น ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากตรงนั้น สามารถทำให้ลดความคาดหวังของผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว ในขณะที่คนเพิ่งเริ่มทำงานที่ยังเงินเดือนและฐานภาษีไม่มาก จะได้ประโยชน์ทางภาษีน้อยกว่า ทำให้ต้องพิจารณาว่า การลงทุนระยะยาวอย่าง SSF และ RMF คุ้มค่ามากกว่าเลือกลงทุนอย่างอื่นหรือไม่
นอกจากนี้ยังรวมถึงอัตราภาษีที่วัยรุ่นที่เป็น First Jobber นั้นยังไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากจะเริ่มเสียภาษีจริงๆ แล้วจะต้องมีเงินเดือนประมาณ 27,000 กว่าบาทขึ้นไปแล้ว เขายังตั้งคำถามว่าด้วยเงินเดือนที่มากกว่า 27,000 บาทนั้นไม่ใช่สัดส่วนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้หลายคนจึงยังมองว่า การลงทุนระยะยาว เช่นการลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ยังไม่ใช่สินทรัพย์ที่จำเป็นสำหรับตัวเขาเอง
ความรู้เรื่องลงทุน วัยรุ่นจะศึกษายังไงดี
เขามองว่าเรื่องลงทุนเหมือนเป็นพื้นฐานคณิตศาสตร์ กับเรื่องของตรรกะ แค่คำนวณเลขได้ และมีเหตุผลโอเคก็สามารถลงทุนได้แล้ว ไม่ได้เป็นศาสตร์ที่ลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด ถ้าเรามีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราจะเอาไปปรับใช้กับการตัดสินใจได้ แม้ว่าเราจะเห็นหลายๆ สถาบันการเงิน แพลตฟอร์มการลงทุนได้ให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
แต่เขาก็ชี้ว่า เพราะต่างคนต่างพูด ตามแต่วัตถุประสงค์ของหน่วยงานในขณะที่เรื่องดังกล่าวควรจะให้ความรู้แบบเป็นขั้นเป็นตอนจากเรื่องการเงินส่วนบุคคล เช่น การคำนวณดอกเบี้ย การคิดมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ควรรู้
นอกจากนี้สถานศึกษาควรจะให้ความรู้เช่นกัน เขายังเปรียบว่าวิชาการเงินส่วนบุคคลนั้นบางคนคิดว่าตัวเองอาจเข้าใจอยู่แล้ว เปรียบได้กับการข้ามถนนด้วยตัวเอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ และไม่มีใครสอนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นจริงเป็นจัง และเรื่องนี้ควรจะมีการจัดทำหลักสูตรอย่างจริงจัง รวมถึงการทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้
ไม่เพียงเท่านี้ศกุนพัฒน์ยังมองว่าปัญหาทุกอย่างข้างต้นถือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนที่ไม่ได้สอนเรื่องการเงินส่วนบุคคล ทำงานกลับได้ค่าแรงที่ต่ำจนเงินก็ไม่เหลือเก็บ เป็นหนี้บริหารไม่ได้ เลยไม่เหลือเงินมาลงทุน ซ้ำร้ายยังโดนคนด่าว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองทำล้วนๆ ทั้งๆ ที่บางทีคนเหล่านี้เกิดมาบนสภาพแวดล้อมแบบนี้ และถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ ถ้าหากผู้มีอำนาจไม่เข้ามาจัดการ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจไม่เกิด
ด้วยธุรกิจที่ศกุนพัฒน์ทำอยู่ เขาเองอยากให้ทุกคนมีเงินมากกว่านี้ เพราะไม่งั้นแล้วธุรกิจอย่างเขาก็จะจับแต่กลุ่มนักลงทุนเดิมๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งจริงๆ ก็ง่าย แต่เขาเองก็ต้องการอยากให้ทุกคนมีรายได้ที่ดี มีเงินเหลือเก็บ และเขาจะได้ช่วยบริหารเงินเหล่านี้ให้ได้ และคนไปมุ่งเป้าพัฒนาความเชี่ยวชาญของตัวเอง แต่ปัจจุบันคือหลายคนยังติดหล่มเป็นหนี้ส่วนบุคคลอยู่ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้เขายังชี้ว่าถ้าหากวัยรุ่นยังเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงมาก ควรที่จะรีบจ่ายหนี้ดังกล่าวก่อน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
ศึกษาหาความรู้ เป็นอีกวิธีในการลงทุน (ในตัวเอง)
ศกุนพัฒน์กล่าวถึงการแบ่งชีวิตของเขาเองเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือตอนเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ นั้นจะเรียกตัวเองว่า Saver เขาได้เล่าถึงความโชคดีของเขาที่ได้อยู่บ้านกับพ่อแม่ จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก แล้วเก็บเงินแบบออมทรัพย์ จากนั้นเมื่อเติบโตในการทำงานมากขึ้น ทำให้เก็บเงินได้มากขึ้น สามารถต่อยอดการลงทุนได้ ทำให้เริ่มเปลี่ยนโหมดมาเป็น Investor ต่อมาก็ได้เปิดกิจการของตนเอง คือเป็นโหมด Creator เป็นคนนำเสนอสินค้าและบริการด้วยการก่อตั้งธุรกิจจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของตนเอง
ผู้ก่อตั้งของบริษัทกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ กล่าวเสริมว่า ถ้ามีเงินเก็บ 100,000 บาทจะเก็บให้ได้ 200,000 บาทยังไง วิธีแรกคือเก็บเงินหลักพันจากเงินเดือนทุกเดือนซึ่งอาจใช้เวลานานหน่อย แต่ก็มีอีกวิธีคือ ถ้าหากเราพัฒนาตัวเองจนได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการทำงาน เช่น จาก 30,000 ไป 40,000 บาท หรือเพิ่มเยอะกว่านั้น ก็จะทำให้เรามีเงินเก็บได้ไวขึ้น นั่นคือการลงทุนกับตัวเองเพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ และเต็มที่กับการทำงาน
เพราะการมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านวิธีการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ ยกเว้นกรณีตกงานกะทันหัน ดังนั้นสำหรับวัยรุ่นที่ยังมีโอกาสเติบโตในการทำงานอีกมาก เขาแนะนำว่าการลงทุนกับตัวเอง จะทำให้ประสบความสำเร็จทางการเงินได้เร็วและยั่งยืนกว่า
ลงทุนเพื่อยามแก่ และอดทนอย่างไร
หากยึดโยงกับหลักการลงทุน ศกุนพัฒน์ ชี้ว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างหุ้น ในระยะยาวโดยเฉพาะหุ้นเติบโต ให้ผลตอบแทน 2 หลักต่อปี ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจมีปัญหาขึ้นมา ก็มีมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เช่น กรณีการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผลตอบแทนนั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกาทำอะไร โลกจะขยับตามเสมอ
นอกจากนี้ถ้าหากมองอีกแนวคือตามช่วงชีวิต (Life-path) ถ้าหากอายุน้อยรับความเสี่ยงสูงได้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นทั่วโลก ที่ไม่ได้จำกัดในประเทศไทยอย่างเดียว เนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงกว่า และพออายุมากขึ้นก็ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมา มาถือสินทรัพย์ปลอดภัยสัดส่วนมากขึ้น อย่างตราสารหนี้ โดยมองว่าเงินก้อนในช่วงที่อายุมากแล้วจะเยอะ เช่น 10 ล้าน ถ้าหากได้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ 3% ต่อปี ก็จะได้ผลตอบแทน 300,000 บาท โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงมาก
สำหรับวิธีสำหรับการอดทนในการลงทุน ศกุนพัฒน์ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก เพราะในวงการการลงทุนนั้นมองไม่เหมือนกัน เพราะหลายคนมองว่าก็ทนไปเดี๋ยวดีเอง แต่เขาได้ยกตัวอย่างว่า กองทุนหุ้นเทคโนโลยีบางกองทุนนั้น ผลตอบแทนตกลงมาจาก 100 เหลือ 20 แบบนี้เราไม่ควรอดทน จะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ต้องรู้ร้อนรู้หนาวพอสมควรที่จะจัดการเรื่องดังกล่าวได้
สมดุลของชีวิต
เขาชี้ว่าชีวิตควรจะมีความสุข ก็ต้องสร้างความสมดุลให้กับตัวเอง ซึ่งจุดสมดุลของแต่ละคน และแต่ละจังหวะชีวิตไม่เท่ากัน ถ้าเราเพิ่งเริ่มทำงาน และยังมีโอกาสเติบโตในการทำงานอีกมาก ก็ควรจะทำให้เต็มที่ ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะทำให้เรามีเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากใน 5-10 ปี เราก็ควรจะให้น้ำหนักไปกับตรงนั้น ก็ถือว่าเป็นการสร้างสมดุลให้เหมาะกับจังหวะของตัวเอง
แต่เขายังทิ้งท้ายว่า โดยธรรมชาตินั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์ไม่รู้ว่าเราตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ดังนั้นอย่าลืมที่จะหาความสุขให้กับตัวเองในวันนี้ด้วย ลองกลับมาคิดบ้างว่าชีวิตวันนี้มีความสุขไหม เราอาจจะเลือกให้ตัวเองไม่มีความสุขในวันนี้แล้วหวังว่าจะมีความสุขในวันข้างหน้าอย่างเดียว แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างมีความไม่แน่นอน เราต้องอย่าลืมสมดุลชีวิตในมุมนี้ด้วยเช่นกัน