ภาพจาก : ธนาคารกรุงเทพ
ชัดเจนว่าธนาคารกรุงเทพกำลังสนใจขยายตลาดอาเซียน เพราะล่าสุดธนาคารใหญ่ของไทยปรากฏในรายชื่อผู้ร่วมประมูลธนาคารอินโดนีเซีย “Permata” พบธนาคารกรุงเทพหวังฮุบหุ้นธนาคาร Permata สัดส่วน 90% คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 69,439 ล้านบาท
จุดเด่นของ Permata คือดีกรีการเป็นธนาคารในเครือ Standard Chartered Plc ซึ่งคาดว่าผู้ชนะการประมูลจะถูกประกาศชื่อในสัปดาห์กลางเดือนธันวาคมนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารกรุงเทพไม่ใช่รายเดียวที่สนใจซื้อหุ้นธนาคารอินโดนีเซีย เพราะ SMFG หรือ Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. ก็ยื่นข้อเสนอประมูลเช่นกัน จุดนี้เป็นปัจจัยที่อาจทำให้การเจรจาซื้อขายหุ้นยืดออกไป ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำว่าตลาดการเงินอินโดนีเซียนั้นหอมหวานในสายตายักษ์ใหญ่การเงินไทยและญี่ปุ่น
อินโดฯเนื้อหอม
เหตุผลที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพและ SMFG มองอินโดนีเซียเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาค คือแนวโน้มเศรษฐกิจแดนอิเหนาที่อาจขยายตัวสุดขีดในปีหน้า เมื่อเทียบกับประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยในแดนสยามถือว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สวนทางกับอินโดนีเซียที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5% ในปี 2563
ตัวเลขนี้สะท้อนศักยภาพที่ธนาคารกรุงเทพจะเติบโตได้มากขึ้น ส่งให้หุ้นของธนาคาร Permata เพิ่มขึ้นมากถึง 4% ตามมูลค่าหุ้นในตลาดจาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กลายเป็นตัวเลขที่สูงกว่าดัชนีมาตรฐานหรือ benchmark ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หุ้นของธนาคารกรุงเทพกลับร่วงกราว ทำสถิติลดลง 5.3% ร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 หรือช่วงมากกว่า 1 ปีที่่ผ่านมา
หวั่นกระทบเงินปันผล
หากธนาคารกรุงเทพชนะการประมูลนี้ นักลงทุนหวั่นใจว่าจะกระทบกับการจ่ายเงินปันผลของธนาคาร เบื้องต้นนักวิเคราะห์ของ Citigroup ย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาเชิงลบที่จะเกิดขึ้นหากดีลนี้บรรลุผล
อีกเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในดีลนี้ คือแม้ธนาคารกรุงเทพจะมีเงินทุนเพียงพอในการบุกตลาดอินโดนีเซีย แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะบริหารธนาคารขนาดกลาง ในตลาดที่ธนาคาร Top 4 ของประเทศครองส่วนแบ่งไว้ได้เกือบหมด
แถมที่ผ่านมา Standard Chartered ก็ประกาศขาย Permata เพราะต้องการลดต้นทุน ซึ่งการขายหุ้นธนาคาร Permata จะช่วยเพิ่มเงินสดสำหรับการซื้อคืนหุ้น แปลได้อีกนัยว่า Standard Chartered ก็ไม่อาจทำเงินจากตลาดอินโดนีเซียได้เป็นกอบเป็นกำ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด
ทั้งหมดนี้ ตัวแทนของธนาคารกรุงเทพ, ธนาคาร Permata และ SMFG ล้วนปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกับข่าวลือที่ออกมา.