เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ กนง. ประกาศคงดอกเบี้ย 1.25% หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือเเค่ 2.5%

เป็นไปตามคาด วันนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เช่นเดิม ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตเพียงแค่ 2.5% จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% ส่วนปีหน้านั้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงแค่ 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3%

โดยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศเเละอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

“ปีหน้าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้มาอยู่ที่ 2.8% เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น” ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารเเห่งประเทศไทยกล่าว

กนง. มองว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

การส่งออกสินค้า

ที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถ
ในการแข่งขันของภาคการส่งออก

ภาคการท่องเที่ยว 

มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

อุปสงค์ในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ

การบริโภคภาคเอกชน

มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

อัตราเงินเฟ้อ

โดยเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

อัตราแลกเปลี่ยน- ค่าเงินบาท

แม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

ติดตามความเสี่ยง : การกีดกันทางการค้า

จากสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง
เชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

ติดตามความเสี่ยง : สินเชื่อของธุรกิจ SMEs ด้อยลง – หนี้ของภาคครัวเรือน

กนง. มองว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง เเละเห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย