-
สรุปปี 2562 จีดีพีโลกโต 3% ตลาดหุ้นโลกผลตอบแทนเฉลี่ย 23% Kbank เชื่อเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว
-
ปี 2563 คาดการณ์จีดีพีโลกโต 3.3% กระเตื้องขึ้นจากปีนี้ แต่ปัจจัยเสี่ยงคงเดิมคือ สงครามการค้าและ Brexit
-
ตลาดหุ้นปีหน้าคาดว่าให้ผลตอบแทน “Single Digit” หลังปีนี้น่าจะปิดปีด้วยกราฟสูง
-
กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุน ระมัดระวังหุ้น กระจายลงทุนสินทรัพย์ที่ให้รายได้ประจำ เพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต
-
ผลดำเนินงานกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ ลูกค้าเพิ่ม 4% AUM ลดลง แต่ลูกค้าเลือกลงทุนที่ไม่ใช่เงินฝากมากขึ้น
อีกหนึ่งปีเวียนมา “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพรีรันกันอีกครั้งว่าปี 2562 เกิดอะไรขึ้นบ้าง เริ่มต้นที่คาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้น่าจะปิดที่ +3% โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งโลก คือ สงครามการค้า Brexit และ การเปลี่ยนตัวประธานเฟดเป็น Jerome Powell นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย
จิรวัฒน์กล่าวว่า สองประการแรกคือปัจจัยลบที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับลดเฉลี่ย 15% ในช่วง 3 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้ปีนี้ตลาดหุ้นเปิดมาแบบไม่ค่อยสดใส แต่หลังจากเฟดเริ่มปรับลดดอกเบี้ยทำให้หลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยตาม ตลาดหุ้นจึงฟื้นตัว
ผลตอบแทน YTD ของตลาดหุ้นโลกปี 2562 จึงขึ้นมา +23% มีกลุ่มตลาดเด่นคือ ตลาดหุ้นจีน +33% ตลาดหุ้นสหรัฐฯ +28% ตลาดหุ้นยุโรป +25% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปีนี้ +2% เท่านั้น ดังนั้นหากใครจัดพอร์ตลงทุนในไทยเป็นหลักในช่วงปีนี้อาจเห็นพอร์ตอยู่ในแดนลบได้ แต่โดยรวมการลงทุนของปี 2562 เป็นปีที่ดีเมื่อเทียบกับ 2561
ปี 2563 เศรษฐกิจดีขึ้น หลังสงครามการค้าผ่อนแรงกดดัน
ไปต่อกันที่ปีหน้า Kbank คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก “ถึงจุดต่ำสุดแล้ว” ดังนั้นปี 2563 จีดีพีน่าจะโต 3.3% เติบโตมากกว่าปีนี้ และถ้าหากปัจจัยลบอื่นๆ ไม่เกิดขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น เกิด No-Deal Brexit หรือจีนกับสหรัฐฯ กลับมาตั้งกำแพงภาษี) โอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะยังเป็นศูนย์
สาเหตุที่ Kbank มองบวก มาจากเห็นสัญญาณดีของสงครามการค้าซึ่งขณะนี้จีนกับสหรัฐฯ อยู่ในช่วงสงบศึก โดยหยุดการขึ้นกำแพงภาษีรอบวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้ว่ากำแพงภาษีที่เคยจัดเก็บจะลดลงเพียงบางส่วน แต่ไม่มีการขึ้นภาษีรอบใหม่ ซึ่งผลของการผ่อนคลายน่าจะมาจาก Donald Trump กำลังเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563 ทำให้ต้องมีผลงานที่ดีในช่วงหาเสียง รวมถึงเศรษฐกิจฝั่งจีนเองแม้จะยังโตแต่ชะลอลงทำให้จีนต้องดูแลเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น
ดังนั้น จิรวัฒน์สรุป ปัจจัยหลักที่ต้องจับตาปีหน้า คือ สงครามการค้า และ เลือกตั้งสหรัฐฯ โดยมองว่าแนวโน้มที่ Trump จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองมีสูง เนื่องจากมีผลงานเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากพรรคเดโมแครตซึ่งนำโดย Michael Bloomberg ชนะเลือกตั้งก็เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปเพียงแต่อาจเปลี่ยนวิธีการเท่านั้น
เปิด 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนปีหน้า
ด้านตลาดหุ้น นั้น จิรวัฒน์กล่าวว่าน่าจะเติบโตได้ Single Digit หรือสูงสุดไม่เกิน 9% เนื่องจากปีนี้ปิดปีด้วยฐานสูง แนะให้ระมัดระวังช่วงต้นปีซึ่งอาจมีปัจจัยลบกระทบจากสงครามการค้าหรือ Brexit ซึ่งตลาดอยู่ในช่วงพร้อมเทขายหุ้น
ดังนั้น สำหรับปีหน้า กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ มีคำแนะนำ 5 กลยุทธ์ให้กับนักลงทุนในการจัดพอร์ต คือ
- กระจายความเสี่ยงและเพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต ไม่ควรลงทุนทิ้งระยะยาว
- ป้องกันพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedged Fund ที่ใช้กลยุทธ์การ Long และ Short หุ้นพร้อมๆ กัน
- เน้นกลยุทธ์ Carry ในกลุ่ม High Yield ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าจากการให้รายได้ประจำ เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์
- ระมัดระวังกับการลงทุนในหุ้น โดยควรเลือกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดี เช่น หุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ไปจนถึง หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศยังน่าสนใจ
- สร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ทางเลือก อย่างอสังหาริมทรัพย์ หุ้นนอกตลาด และโครงสร้างพื้นฐานที่อาจมีความผันผวนทางด้านราคาตามตลาดน้อยกว่า แต่เหมาะสำหรับก้อนเงินลงทุนที่สามารถทิ้งไว้ได้ระยะยาว5 ปีขึ้นไป โดยลงทุนเป็นส่วนน้อยของพอร์ตเท่านั้น
“ไพรเวทแบงก์” เน้นดึงลูกค้าลงทุนส่วนที่ไม่ใช่เงินฝาก
สำหรับผลดำเนินงานของ กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ เองนั้น จิรวัฒน์เปิดเผยตัวเลขฐานลูกค้าทั้งหมด 11,611 ราย เติบโต 4% จากปีก่อน โดยลูกค้ามีเงินฝากเฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อราย มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 7.5 แสนล้านบาท ลดลง 0.2% อย่างไรก็ตาม จิรวัฒน์ชี้ว่า ใน AUM ทั้งหมด มีส่วนที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนอยู่ 4.55 แสนล้านบาท เติบโต 7% หากนับเฉพาะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนซับซ้อน มีอยู่ 1.06 แสนล้านบาท เติบโตถึง 23%
หากคิดเป็นสัดส่วนคร่าวๆ คือ ลูกค้ากลุ่มไพรเวทแบงก์มีเงินฝากทั่วไปกับกสิกรไทย 30% แต่อีก 70% เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่ใช่เงินฝาก เช่น กองทุนทดแทนเงินฝาก ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการดำเนินงานที่ดีเพราะสะท้อนว่าลูกค้ามีความไว้วางใจให้บริหารสินทรัพย์ และหากเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนขึ้น ค่าธรรมเนียมการดำเนินการจะสูงขึ้น ทั้งนี้ ปีนี้ค่าธรรมเนียมของกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์เติบโตเพียง 3% เทียบกับปีก่อนซึ่งโต 5.7% เพราะสถานการณ์มีความเสี่ยงทำให้ธนาคารเลือกแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในรูปแบบเสี่ยงน้อยมากกว่า
ในแง่ผลการลงทุน ปีนี้กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์แนะนำลูกค้าปรับพอร์ตการลงทุน (K-Alpha) แบบกระจายเสี่ยงและลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทำให้มีการเติบโตของพอร์ต K-Alpha ที่ 12.5% โดยความเสี่ยงพอร์ตอยู่ที่ 4.5% เท่านั้น ทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยง 2.8 เท่า
นอกจากนี้ ยังออกกองทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น กองทุน K-CHANGE เพื่อลงทุนในบริษัทที่ประกอบการเพื่อสังคม กองทุน Private Equity Fund ลงทุนในบริษัทนอกตลาดที่น่าสนใจ กองทุน Fixed Maturity ลงทุนในตราสารหนี้เอเชียและให้ผลตอบแทนชัดเจน กองทุน K-GLAM กองทุนผสมที่ดูเรื่องความเสี่ยงเป็นฐาน
ส่วนเป้าหมายปี 2563 จิรวัฒน์มองเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าอีก 4% ส่วน AUM น่าจะยังคงเดิม แต่ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้ลูกค้าเลือกลงทุนอื่นที่ไม่ใช่เงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมด