งานเข้า! Toyota ถูกปรับ 87 ล้านหยวนที่จีน ฐานแจ้งดีลเลอร์ Lexus ห้ามลดราคา

จีนสั่งปรับบริษัทลูก Toyota Motor ในเจียงซูมูลค่ากว่า 87.61 ล้านหยวน หรือประมาณ 376 ล้านบาท ฐานละเมิดกฎหมายผูกขาดตลาดแดนมังกร ถือเป็นการสั่งปรับหลังจากสวบสวนคดีมาราธอน 2 ปี งานนี้ขนหน้าแข้ง Toyota ไม่สะเทือนแต่คาดว่าโครงสร้างราคารถหรูในจีนอาจเปลี่ยนแปลง

หน่วยงานควบคุมตลาดของรัฐบาลจีน State Administration for Market Regulation สั่งปรับ Toyota ในข้อหาตรึงราคารถยนต์หรือ price-fixing โดย SAMR ระบุว่า Toyota ตั้งราคาขายขั้นต่ำสำหรับรถ Lexus ในเขตพื้นที่เขตตะวันออกของมณฑลเจียงซู จนทำให้ Toyota ยึดอำนาจกำหนดราคาของตัวแทนจำหน่าย Lexus ไว้ได้ตั้งแต่ปี 2015-2018 การกระทำนี้ทำร้ายสิทธิผู้บริโภคจีน ถือเป็นการละเมิดกฎหมายผูกขาดตลาดอย่างชัดเจน

เบื้องต้น Toyota ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อว่า บริษัทรับทราบโทษปรับนี้แล้ว และเคารพการตัดสินใจของทางการจีน

Lexus คิวต่อไปถัดจาก Ford 

Lexus ไม่ใช่ค่ายรถรายแรกที่ถูกทางการจีนสั่งปรับเพราะนโยบาย price-fixing ก่อนหน้านี้ SAMR เปิดเผยตั้งแต่กลางปี 2019 ว่าได้ออกคำสั่งปรับ Ford Changan บริษัทลูกของ Ford Motor ที่ร่วมทุนกับบริษัท Changan Automobile Group เป็นเงินจำนวน 162.8 ล้านหยวน เนื่องจากละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดตลาด

ค่าปรับ 162.8 ล้านหยวนที่ SAMR สั่งปรับบริษัทลูก Ford Motor นั้นคำนวณจากสัดส่วน 4% ของยอดขายที่บริษัทนั้นทำได้ในพื้นที่ฉงฉิ่งเมื่อปี 2018 ซึ่งทางการจีนมองว่าการกำหนดราคา minimum resale จนทำให้ไม่มีการลดราคาสินค้าตามกลไกตลาด

กรณีของ Lexus การสอบสวนของ SAMR พบว่า Toyota กดดันไม่ให้ดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายลดราคารถยนต์ Lexus ในการประชุมกับดีลเลอร์ประจำมณฑลเจียงสูตั้งแต่ปี 2015 คาดว่าเงินค่าปรับนี้คำนวณจากยอดขายในสัดส่วนเดียวกัน เพื่อลงโทษให้บริษัทค่ายรถทราบว่าไม่สามารถกำหนดราคารถที่ทำให้ผู้ขายรถยนต์ไม่มีสิทธิกำหนดราคาเอง

ทุกค่ายต้องยอม

จุดที่น่าสังเกตของปรากฏการณ์นี้ คือคำสั่งปรับนี้ของ SAMR ไม่มีใครอุทธรณ์ กรณีของ Ford นั้นถูกรายงานก่อนหน้านี้ว่า SAMR ลงมือสอบสวน Ford ในช่วงที่ Ford ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูยอดขายในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งธุรกิจของ Ford เริ่มซบเซาลงในปลายปี 2017

สำหรับ Lexus โฆษก Toyota ก็ระบุว่ายอมรับในคำตัดสิน และไม่ให้ความเห็นใดต่อความเห็นของ SAMR ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยืนยันว่าการกำหนดราคา minimum resale นั้นทำให้ผู้บริโภคจีนไม่ได้รับความเป็นธรรม

ดังนั้นทุกค่ายจึงต้องลงมาปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกันทั้งตลาด ประเด็นนี้ SAMR เคยย้ำในช่วงที่ประกาศโทษปรับเงิน Ford Changan ว่าการกีดกันไม่ให้ตัวแทนจำหน่ายหน้าร้านมีโอกาสกำหนดราคาได้อิสระ ส่งผลให้แบรนด์ลอยตัวจนแยกตัวเองจากการแข่งขันภายในตลาดได้ วิธีนี้ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม และยังกระทบถึงผลประโยชน์ทางกฎหมายของผู้บริโภคด้วย.