จากสถิติในเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนคนมั่งคั่งสูงถึง 18% ของประชากรทั้งหมด นับเป็น 20.64 ล้านคน หรือมีรายได้เฉลี่ยร่วม 20 ล้านล้านบาทต่อเดือน สำหรับคนเอเชีย และ 1 แสนล้านบาทสำหรับคนไทย
Ipsos Thailand เปิดเผยผลสำรวจ “วิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย” โดยคนรวยชาวไทยกว่า 62% เต็มใจที่จะจ่ายแพงกว่าสำหรับสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ 53% ยินดีที่จะอุดหนุนสินค้าของไทย นับเป็นอัตราที่สูงกว่าคนมั่งคั่งชาวเอเชีย โดยผลวิจัยจากชุดนี้นับเป็นการศึกษากลุ่มคนมั่งคั่งขนาดใหญ่และทำต่อเนื่องมาร่วม 2 ทศวรรษ
สำหรับข้อมูลวิจัย “วิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย” เป็นการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มคนมีฐานะ หรือบุคคลที่มีความร่ำรวยในหลากหลายมุม เช่น การใช้สื่อ การใช้จ่าย การท่องเที่ยว รวมถึงความสนใจต่อสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ตลอดจนทัศนคติ และความสนใจส่วนตัวของพวกเขา
โดยรายงานชุดนี้ได้มีการริเริ่ม และเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 2540 เบื้องต้นทำการศึกษาเพียง 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น ปัจจุบันการศึกษานี้ได้มีการขยายขอบเขตการสำรวจครอบคลุมถึง 11 ประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
วิถีชีวิตที่หรูหราแบบใหม่
ผลการศึกษาชุดนี้นับเป็นข้อมูลชุดสำคัญที่สามารถช่วยให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเข้าใจ ปรับตัว และสามารถก้าวขึ้นมาเป็น Game Changers ให้ทันยุคที่แนวโน้มของความหรูหราได้กลายเป็น Truly Luxury หรือความหรูหราที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของภายนอก แต่เป็นความหรูหราที่สะท้อนมาจากความคิดและคุณค่าที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล เรียกได้ว่าเป็น “วิถีชีวิตที่หรูหราแบบใหม่”
ลักษณะของกลุ่มคนมั่งคั่งนี้เป็นกลุ่มคนที่มักจะคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด รักในการท่องเที่ยว และเต็มใจที่จะจ่ายแพงกว่าสำหรับสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยคนรวยชาวไทยกว่า 62% เต็มใจที่จะจ่ายแพงกว่าสำหรับสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ 53% ยินดีที่จะอุดหนุนสินค้าของไทย นับเป็นอัตราที่สูงกว่าคนมั่งคั่งชาวเอเชีย
อ่านเพิ่มเติม : The 1 Insight 2020 : เจาะลึกการใช้จ่ายของ “คนรวยยุคใหม่” ไลฟ์สไตล์ต้องมาก่อน
คนมั่งคั่งในไทยมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย
จากสถิติพบว่าในเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนคนมั่งคั่งสูงถึง 18% ของประชากรทั้งหมด นับเป็น 20.64 ล้านคน โดยมีสัดส่วนระหว่างชายกับหญิงในจำนวนเท่าๆ กัน และหากพิจารณาถึงระดับรายได้ต่อครัวเรือนของคนกลุ่มนี้พบว่าโดยเฉลี่ยชาวเอเชียมีรายได้ครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 5,477 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนมั่งคั่งที่ไทยมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยคนไทยมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่เพียง 4,826 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนบาทเท่านั้น ทั้งนี้ กว่า 87% ของกลุ่มดังกล่าวนี้จะมีการศึกษาอย่างต่ำในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า
ช้อปปิ้งของหรู จ่ายหนักจิวเวลรี นาฬิกาเเละไวน์
กลุ่มคนร่ำรวยในเอเชียแปซิฟิกนิยมซื้อของดี ชอบจิวเวลรี นาฬิกาหรู เครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง รองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ ในแง่ของพฤติกรรมการช้อปปิ้งของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง พวกเขามักจะเลือกคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดที่สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบไลฟ์สไตล์ของตนเอง
จากสถิติพบว่าภายใน 12 เดือนที่ผ่านมากลุ่มคนมั่งคั่งทั้งในเอเชียและประเทศไทยมีการใช้จ่ายกับ
- จิวเวลรี มีมูลค่าถึง 9,999 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนบาท
- นาฬิกาหรู มีราคาถึง 1,999 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นบาท
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 4,999 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 1.5 แสนบาท
โดยเเบ่งเป็น
สินค้าจิวเวลรี – คนรวยในเอเชีย 55% คนรวยไทย 47%
นาฬิกาหรู – คนรวยในเอเชีย 35% คนรวยไทย 46%
ไวน์ – คนรวยในเอเชีย 53% คนรวยไทย 44%
เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ – คนรวยในเอเชีย 47% คนรวยไทย 46%
จากการศึกษาที่พิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์ของการครอบครองสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 3 หมื่นบาท ในกลุ่มของคนมีฐานะทั้งในเอเชียแปซิฟิก และประเทศไทยจะพบว่า กลุ่มคนมั่งคั่งในไทยมีเปอร์เซ็นต์การเป็นเจ้าของเสื้อผ้าหรือเครื่องหนังที่มีดีไซน์เฉพาะ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในแถบเอเชียแปซิฟิก แต่สำหรับสินค้าประเภทเครื่องประดับและรองเท้านั้นจะมีสัดส่วนในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
เที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 4 ทริปต่อปี ญี่ปุ่นฮิตสุด
ญี่ปุ่นถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายอันดับหนึ่งของกลุ่มคนรวยในทวีปเอเชีย ตามด้วยฮ่องกง และเดินทางปีละอย่างต่ำ 4 ทริป
การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่กลุ่มคนมีฐานะชาวเอเชียชื่นชอบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความจำเป็นในการเดินทางเพื่อธุรกิจ และผู้ที่ชอบเดินทางเพื่อการพักผ่อน
จากสถิติพบว่าคนเหล่านี้จะมีการเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี โดยกว่า 33% ของกลุ่มคนรวยในไทย และ 22% ของคนในเอเชียแปซิฟิกเลือกที่จะไปประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยฮ่องกงในอัตรา 19% และ 14% ตามลำดับ
โดยรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มคนมั่งคั่งในประเทศไทยคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเพื่อสุขภาพ ตามด้วยการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีค่าชี้วัดมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเกิน 1 เท่าตัว และ 50% ตามลำดับ
คนรวยในเอเชียเสพสื่อทุกแพลตฟอร์ม
“คนมั่งคั่งในเอเชียเสพสื่อทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงทีวี และแมกกาซีนต่างประเทศ และยึดสื่อโซเชียล เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว”
สำหรับรูปแบบสื่อที่กลุ่มเป้าหมายที่มั่งคั่งในเอเชียชื่นชอบนั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกแพลตฟอร์ม แต่มีการใช้เวลากับเว็บไซต์ และแอปต่างๆ สูงสุด ตามมาด้วย ทีวี หนังสือพิมพ์ และแมกกาซีน สำหรับกลุ่มคนมีรายได้สูงชาวไทยจะใช้เวลากับแอปและเว็บไซต์มากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยชอบทั้ง 2 แพลตฟอร์มทั้งสื่อรูปแบบดั้งเดิม และสื่อใหม่ดิจิทัล
คนมั่งคั่งในเอเชียแปซิฟิก และคนมีรายได้สูงชาวไทยต่างมีความนิยมในการเสพสื่อทีวี และนิตยสารต่างประเทศเหมือนๆ กัน เพียงแต่มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดย 44% เป็นอัตราสำหรับคนมีรายได้สูงในเอเชียแปซิฟิก และ 50% ของคนมีรายได้สูงชาวไทย
ส่วนสื่อโซเชียล นับได้ว่าเป็นสื่อที่แทบจะถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกลุ่มคนมั่งคั่งทั้งหลาย สำหรับกลุ่มคนมั่งคั่งชาวเอเชียแปซิฟิกนั้นมีความนิยมใช้ช่องทางต่างๆ ดังนี้
- Facebook 69%
- YouTube 63%
- Instagram 42%
- LinkedIn 21%
คนรวยไทยใช้โซเชียลนานสุด
ด้านคนรวยชาวไทยนิยมใช้ช่องทาง
- Facebook 94%
- YouTube 90%
- Instagram 61%
- LinkedIn 18%
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนมีฐานะในประเทศไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียต่างๆ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย คนไทยใช้เวลากับแพลตฟอร์มเหล่านี้มากกว่า 500 นาทีภายในระยะเวลา 7 วันที่ผ่านมา หรือราวๆ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
ยอมจ่ายเพื่อรักษ์โลก
มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มคนมีฐานะในภูมิภาคเอเชียให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยินดีที่จะสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ
โดย 53% ของกลุ่มคนมั่งคั่งชาวเอเชียในยุคปัจจุบันเปิดเผยว่า พวกเขาพร้อมและยินดีที่จะจ่ายมากกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และอีก 47% ยังยินดีที่จะซื้อหรืออุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ
เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มคนมีฐานะในประเทศไทยถึง 63% ยินดีที่จะจ่ายมากกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 53% ระบุว่ามีความยินดีที่จะอุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ากลุ่มคนมั่งคั่งชาวเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ