FourSquare ขึ้นแท่นเว็บใหม่มาแรงแห่งปีไปแล้ว แม้แต่ CNN ยังยกให้FourSquareเป็น “Next year’s Twitter” และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของเว็บประเภทนี้ก็คือ “Location Base Service” หรือ “LBS” ล่าสุดโรงละคร ร้านอาหารของไทย ประยุกต์ใช้ในสร้างแบรนด์ และเพิ่มยอดขาย
ฉบับนี้เรายังคงเกาะติดกับบริการ LBS ชื่อดังอย่าง FourSquareซึ่งเวลานี้มียอดผู้ใช้ถึง 5 แสนคนแล้ว ทั้งที่เปิดบริการมาไม่ถึงปี มีสถานที่ต่างๆ 1.4 แห่งทั่วโลกแล้วที่ผู้ใช้ FourSquareไป “Check in” เก็บคะแนนไว้รวมมากถึง 15.5 ล้านครั้ง ยิ่งสะสมมากก็ยิ่งผลักดันให้เครือข่ายนี้น่าใช้ขึ้นทุกวัน เพราะไม่ว่าไปที่ไหนก็จะเห็นได้ว่ามีใครอยู่ที่นี่ ใครมาประจำ คอมเมนต์ไว้อย่างไรบ้าง ทำให้แผนที่บอกทางต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือและเว็บมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยพลังแห่งเครือข่ายสังคม
ส่วนใหญ่ธุรกิจบนเว็บ “Location Base” จะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ รวมถึงศูนย์การค้าไม่ว่าเล็กใหญ่ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือสร้าง CRM เลือกแจกบัตรลดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านไปมาบ่อยๆได้โดยอาศัยข้อมูลจากเว็บ นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลลูกค้าประจำได้โดยไม่ต้องเข้าไปสอบถาม เพียงแต่อ่านข้อมูลจากในเว็บก็รู้จักตัวตนและ Social Network ของลูกค้าแล้ว
ดาวดวงใหม่ FastMall
ไฮไลต์สำคัญจากนี้ไปจึงอยู่ที่ว่าธุรกิจร้านค้าต่างๆ จะประยุกต์ใช้งานเว็บแบบ “Where Am I?” นี้อย่างไร? ซึ่งจะไม่จำกัดไว้แค่เฉพาะ FourSquare เพราะยังมีบริการคล้ายๆ กันเช่น Gowalla และ Google Latitude แต่ล่าสุดก็มีเทรนด์ใหม่ว่าบริการแบบนี้จะมุ่งเน้นบริการแคบลงเฉพาะส่วนมากขึ้น เช่นเว็บ FastMall ที่จำกัดตัวไว้กับศูนย์การค้าเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีธุรกิจเข้ามาประยุกต์ใช้นับหมื่นๆ รายแล้ว
Fastmallเป็นไฮไลต์ใหม่ที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นเทรนด์ต่อไปของ Location Base Serviceที่จะเน้นเจาะจงประเภทธุรกิจมากขึ้น ไม่ “รวมทุกอย่าง” แบบ FourSquare, Gowalla และ Latitude
เพราะถึง FastMallจะมีรูปแบบการใช้งานที่คล้าย Foursquare คือสามารถดู Tipsของร้านค้าต่างๆ ที่เพื่อนๆ เราเขียนไว้ สามารถทำการ Check-in ได้ แต่ก็เน้นไปที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเท่านั้น และทางเจ้าของระบบ FastMall เองต้องใส่ข้อมูลไว้ในระบบอยู่ก่อนบ้างแล้ว ต่างจาก FourSquare และตัวอื่นๆ ที่อ่านค่าจาก Cell Site โทรศัพท์และรอผู้ใช้ป้อนเพิ่มเติม
ฉะนั้น FastMall จึงเกิดมาพร้อมกับแผนที่ในตัวห้างสรรพสินค้า ที่จอดรถ ตำแหน่งห้องน้ำ รายชื่อร้านค้าต่างๆ ซึ่งยังจำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และต่อจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ทั้งหลายที่จะแข่งกันเติมข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ โดยมีคำแนนและตำแหน่ง “Mayor” (เจ้าถิ่น) เป็นแรงจูงใจ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้บัตรลดและสิทธิพิเศษจากโปรโมชั่นของธุรกิจร้านค้าต่างๆ แต่เจาะตลาดเฉพาะห้างสรรพสินค้า (Mall) ซึ่งสื่อต่างๆ มองว่าเป็นวิธีเลี่ยงการแข่งขันกับ FourSquare และรายกื่อนๆ ได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับผู้ใช้ทั่วไป FourSquareจะมีข้อมูลมากกว่า FastMall แต่สำหรับนักช้อปโดยเฉพาะสาวใหญ่สาวน้อยแล้ว FastMallจะช่วยได้มากกว่า เพราะมีข้อมูลห้างและร้านค้ามากกว่า ไม่ต้องเดินหาประชาสัมพันธ์ หรือหาแผนที่แต่ละชั้นให้ยุ่งยาก และก็จะยิ่งดีหากใช้ทั้ง 2 เว็บไปด้วยกันเลยแล้วแต่สถานการณ์
รายอื่นๆ อย่าง Latitude นั้น เป็นบริการของกูเกิ้ลที่มีทั้งบนเว็บและแอพมือถือ เป็นการต่อยอด Google Map โดยนำมารวมกับเครือข่ายสังคมและระบบ GPS มีจุดต่างจาก FourSquare ตรงที่มือถือต้องมีระบบ GPS ไม่ได้ใช้ข้อมูล Cell Site อย่างที่ FourSquare ทำ ซึ่ง Google Latitude นี้มีผู้ใช้งานในไทยในระดับประมาณหลายพันคนในเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ ส่วน Gowalla นั้นไม่เป็นที่รู้จักและใช้งานนักในไทย
แต่สำหรับในไทย จะยังมีแต่ FourSquare, Gowalla และ Latitude เท่านั้นที่ใช้ได้ ส่วน FastMall ที่ต้องอาศัยข้อมูลทีรอบด้านในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งๆ นั้นอาจจะยังเกิดยาก นอกจากจะมี “เจ้าภาพ” เป็นศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าหลายๆแห่งมาร่วมมือกันก็อาจจะผลักดันให้แจ้งเกิดในไทยและอาจโตได้เร็วกว่า FourSquare ด้วยซ้ำ เพราะกรุงเทพมหานครนั้นเป็นเมืองแห่งการช้อปและห้างต่างๆ ก็เป็นที่ใช้เวลาว่างของคนกรุงฯส่วนใหญ่อยู่แล้ว
การตลาด LBS เริ่มแจ้งเกิดในไทย
รูปแบบโปรโมชั่นที่นิยมกันก็เช่น แจกบัตรลดสำหรับผู้ที่เป็น “Mayor” (เจ้าถิ่น) ซึ่งจะเป็นได้ก็ต้องมากด Check in ในร้านบ่อยๆ ในไทยก็มี 3 แห่งที่ทดลองทำแล้ว คือโรงละครไทยอลังการ พัทยา, ร้าน Q-Bar สีลม และร้านBarley Bistro&Bar สีลม
โรงละครไทยอลังการนั้นทำการตลาดผ่าน FourSquare โดยให้ Mayor รับตั๋วฟรี ส่วนเพื่อนๆ ที่มากับ Mayor ได้ส่วนลด50% แต่ทั้งหมดนี้จะใช้ได้เมื่อมาชมครั้งที่ 3 ภายในช่วงเวลาครึ่งปี โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มความถี่ในการเข้าชมสำหรับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ใช้มือถือระดับกลางขึ้นไป แต่ก็เป็นคำถามต่อไปว่าลำพังผู้ใช้ FourSquareในไทยนั้นก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีเพียงแค่ไม่กี่พันคนเท่านั้น การตั้งเงื่อนไขทำโปรโมชั่นให้เฉพาะผู้ที่มาดูหลายๆ รอบในเวลาสั้นๆ เช่นนี้อาจจะมีคนเข้าร่วมน้อยเกินไป ทำให้เกิด Brand Engagement เฉพาะในกลุ่มแฟนประจำของทางโรงละครเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นแคมเปญ CRM รักษาความผูกพัน (Engage) กับลูกค้าเดิมๆ มากกว่าจะจูงใจให้มีลูกค้าขาประจำใหม่ๆ
ส่วนอีก 2 ร้านเหล้าระดับบนในย่านถนนสีลมนั้นประยุกต์ใช้ FourSquare อย่างเรียบง่ายกว่า เริ่มที่ร้าน Q-Bar ให้ฟรีดริ้งค์ 2 แก้วในเวลาเที่ยงคืนสำหรับคนที่เป็น Mayor ในร้าน ทางด้านร้าน Barley Bistro&Bar สีลม ก็ให้สิทธิ Mayor ซื้อเบียร์ 1 ขวด แถม 1 ขวด เป็นโปรโมชั่นที่จุงใจให้ลูกค้าอยากมาเป็นประจำไปพร้อมกับสร้าง Brand Engagement กับภาพลักษณ์ความทันสมัยไปได้พร้อมกัน
ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แบรนด์ใหญ่อย่าง Pepsi ที่ลงโฆษณาในหน้าFourSquareพร้อมกับประกาศจะบริจาคการกุศลทุกครั้งที่มีการ Check-in เป็นการสร้าง Brand Awareness พ่วงไปกับไลฟ์สไตล์การเดินทางของผู้ใช้มือถือนับล้านไปพร้อมกับสร้าง Brand Image ความทันสมัยไปในตัว
ข่าวล่าสุดยักษ์ใหญ่แห่ง Social Media อย่าง Facebook แถลงว่าใกล้จะเพิ่มฟังก์ชั่นการ “Check-in” ใน Facebook บ้าง ก็ยิ่งการันตีว่า “Location Base Service” ใกล้ถึงจุดระเบิดครั้งใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลก และจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาเปลี่ยนแปลงการตลาดออนไลน์ในทศวรรษนี้แบบที่นักการตลาดทุกคนห้ามตกกระแสอย่างแน่นอน
รู้จักกลุ่มเป้าหมายผ่าน FourSquare
ในเว็บ FourSquare เราสามารถคลิกดูข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางของเพื่อนๆ หรือคนอื่นที่อนุญาตให้เราดูได้
ข้อมูลสำคัญๆ ก็เช่น
“Days checked in” บอกได้ว่าผู้ใช้คนนั้นเล่นโฟร์สแควร์มานานเพียงใด หากว่าดูแล้วกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ ก็ควรจะออกแบบแคมเปญให้เข้าใจง่ายๆ
“Number of checkins” บอกว่าคนนั้นเช็คอินไปทั้งหมดกี่ครั้งแล้วตั้งแต่เล่นมา
“Average checkins when out” บอกว่าคนนั้นขยันเล่นโฟร์สแควร์แค่ไหน เฉลี่ยในแต่ละครั้งที่เดินทาง ช่วยให้ออกแบบแคมเปญได้ตรงเป้ามากขึ้น เช่นถ้ารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่ค่อยเช็กอินบ่อยนัก ก็ควรออกแบบแคมเปญให้สั้น ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก
“New places discovered” บอกได้ว่าผู้ใช้คนนั้นไปที่ใหม่ๆกี่ครั้งใน 1 เดือน ให้นักการตลาดรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีไลฟ์สไตล์อย่างไรได้คร่าวๆ
และกราฟวงกลมสีส้ม “Distribution by day of week” นั้นบอกว่าแต่ละวันในสัปดาห์ คนคนนั้นเดินทางและเช็คอินกี่ครั้ง หากนักการตลาดพบว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเล่นวันศุกร์ ก็ควรจัดแคมเปญเพื่อเข้าหาคนกลุ่มนี้ในวันศุกร์
ศัพท์ต้องรู้ใน LBS
Checkin : ประกาศตัวว่ากำลังอยู่ที่ไหน
Mayor : เมื่อเช็กอินที่หนึ่งมากกว่าคนอื่นๆ จะได้เป็น Major (เจ้าถิ่น)
Cell Site : เสาสัญญาณมือถือของผู้ให้บริการ เช่น AIS, Dtac, TrueMove แต่ละเสาจะมีข้อมูลตำแหน่งของตัวเองอยู่
Tips, Howto : คำแนะนำประจำสถานที่ ซึ่งเราหรือใครก็ได้สามารถเขียนถึงไว้ให้คนอื่นซึ่งมาที่นี่วันหลังได้เห็น เช่นร้านนี้มีเมนูอะไรอร่อย โรงหนังนี้ควรจอดรถชั้นไหนจึงจะมีที่ว่าง เป็นต้น
9 Killer Tips ทำตลาดบน LBS
“Location-based Social Network” ไม่ได้แค่ช่วยให้ร้านค้าพูดคุยกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นตรงกลุ่มขึ้นเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าร้านได้ไม่ยาก
ธุรกิจที่มีหน้าร้านคงจะเลิกถามได้แล้วว่า “จะใช้ Lo-So Network ทำการตลาดดีไหม ?” เพราะที่ต้องถามตอนนี้คือ “จะใช้อย่างไรให้เพิ่มยอดขายได้?” ซึ่งทาง Mashable.com เสนอ 9 Killerstips ในการทำตลาด[o LBS ที่น่าสนใจไว้
1. เข้าใจกติกา
ก่อนอื่นธุรกิจต้องเข้าใจขั้นตอนการใช้งานของบริการพวกนี้เสียก่อนว่าผู้คนมักหยิบมือถือมากด “Check in” ตามที่ต่างๆ เพื่อสะสมคะแนนเลื่อนระดับตัวเอง และเพื่อประกาศให้เพื่อนๆ รู้ การบอกสถานที่นั้นๆ ทำได้ทั้งดึงข้อมูลจาก Cell Site, จากแผนที่ GPS, หรือเขียนขึ้นเอง บางเว็บก็อนุญาตให้เขียน Tips แนะนำสิ่งที่ควรทำเมื่ออยู่ที่นั้นๆ ไว้ด้วย
แต่ที่เป็นเสน่ห์ของบริการแบบนี้ก็คือการแข่งขันที่เรียกได้ว่า “Social Competitions” ที่ผู้ใช้มักจะแข่งกันสะสมแผ่นป้ายบอกฐานะ (Badge) ต่างๆ เช่น “Super User” ที่เล่นมานาน, “Adventurer” ที่เดินทางมาแล้วหลายที่ และการแข่งขันเป็นเจ้าถิ่น “Mayor”
ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ทำการตลาด ด้วยโฟร์สแควร์ จะให้บัตรลดพิเศษแก่ผู้ที่เป็น Mayor ของร้านตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแจกที่ละ 1 คนเท่านั้น แต่หากร้านค้าต้องการแจกโปรโมชั่นให้กว้างขึ้นไปอีกก็อาจแถมให้ “ผู้ติดตาม” ที่มากับ Mayor หรือให้กับผู้มาบ่อยอันดับรองๆ ลงไป หรือให้ “Adventurer” ที่ผ่านมานั่งที่ร้านด้วย
เมื่อเข้าใจกติกาพื้นฐานแล้วก็ต้องเลือกว่าจะทำการตลาดกับเว็บไหน หากเป็นในไทยก็ต้องเป็น Foursquare, หรือ Latitude ซึ่งมีผู้ใช้มากที่สุด แต่ก็ต้องติดตามข่าวทาง Facebook ให้ดี เพราะหากยักษ์ใหญ่รายนี้กำลังซุ่มทำ Location Base อยู่เหมือนกัน ซึ่งหากเฟซบุ๊กเพิ่มระบบ “Check in” เมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นอันดับหนึ่งแห่งบริการ Location Base ทันที
อีกเรื่องที่ธุรกิจต้องรู้ คือ ส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้เว็บแบบนี้จะเล่นผ่านมือถือสมาร์ทโฟน โดยมีการกระจายไปทั้ง 3 ระบบยอดฮิตคือ iPhone, Blackberry และ Android นั่นหมายถึงว่าเป็นผู้มีกำลังซื้อและค่อนข้างชอบเล่นอุปกรณ์ Gadgetด้วย
2. กำหนดเป้าหมาย
ก่อนจะทำ “Lo-Social Networking” ธุรกิจต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน
-ต้องการให้คนใหม่ๆ เดินเข้าร้านมากขึ้น?
-ต้องการให้ลูกค้าปัจจุบันกลับมาเป็นประจำ?
-ต้องการแนะนำสินค้าใหม่ๆ ?
-ต้องการขายสินค้าบางชนิดมากขึ้น?
หากธุรกิจจะตอบว่า “ต้องการทุกข้อ” ก็แปลว่าโอกาสล้มเหลวสูง เพราะแต่ละเป้าหมายต้องใช้วิธีที่ต่างกัน การพยายามลดแลกแจกแถมให้ทุกๆ คนพร้อมกันจะทำลายธุรกิจได้ในระยะยาว
ฉะนั้นหากธุรกิจต้องการจับทุกกลุ่มพฤติกรรม ก็อาจใช้วิธีเปลี่ยนแคมเปญบ่อยๆ เช่นสัปดาห์แรกของเดือนเน้นเพิ่มลูกค้าใหม่ สัปดาห์ที่สองเน้นสมนาคุณให้ลูกค้าประจำ สัปดาห์ที่สามโปรโมตสินค้าบางตัว เป็นต้น
3. ปรากฏชื่อให้ถูกต้องและมากที่สุด
ต้องแน่ใจว่าชื่อร้านจะปรากฏในเว็บอย่างถูกต้องและมีข้อมูลรายละเอียดครบถ้วน ทั้งที่อยู่ เบอร์โทร. อีเมล ฯลฯ อย่าวางใจว่าลูกค้าจะเขียนชื่อร้านเราหรือชื่อซอยถูกต้องทั้งหมด ทางร้านต้องเขียนเองกำกับไว้ให้เป็นมาตรฐานอ้างอิงด้วย หากพบว่ามีใครเขียนผิดๆ ไว้ก็ควรแก้ไขหรือบอกให้รู้ทั่วกัน
ควรมีป้ายประกาศจริงๆ ติดไว้หน้าร้านและในร้านด้วย เช่นติดป้ายว่า “ร้านเราอยู่ใน Foursquare ด้วย เชิญรับส่วนลด 15% สำหรับ Mayor และผู้ติดตาม” เป็นต้น จะดึงให้คนเล่นโฟร์สแควร์อยากเข้าร้านได้
4. ปรับแต่งให้เหมาะสม
แต่ละเว็บก็มีกติกาต่างๆ กันไป ถ้าธุรกิจร้านค้าของคุณอยู่บนหลายเว็บก็ต้องปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละที่ เช่นหากร้านคุณอยู่ใน Foursquare ก็ควรสร้าง “To-do Lists” ไว้บอกลูกค้าที่เข้าร้านว่าร้านเรามีอะไรดี มีอะไรแนะนำบ้าง นอกจากนี้ยังออกแบบสร้างป้าย Badge เฉพาะของร้านเราเองได้ เช่นป้ายลูกค้านักจิบชา ป้ายลูกค้านักกินเค้ก ซึ่งเทคนิค 2 อย่างนี้ไม่มีในเว็บอื่นๆ
5. สร้างโปรโมชั่นให้แรงพอ
การออกแบบโปรโมชั่นดีๆ ช่วยเพิ่มลูกค้าได้หลากหลายแบบ บางร้านตั้งโปรโมชั่นว่า “Check in 10 ครั้ง รับของว่างฟรี 1 จาน” เพราะช่วงนั้นมีเป้าหมายอยากเพิ่มลูกค้าประจำ ไม่ควรทำแคมเปญอย่างไร้เป้าหมาย หรือทำแค่ให้ดูทันสมัย เพราะจะวูบวาบระยะสั้น เสียโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ในระยะยาว
โปรโมชั่นต้องจูงใจลูกค้าจำนวนมากพอ หากให้ส่วนลดน้อยไป หรือตั้งกติกายุ่งยากเกินไป นอกจากจะไม่ค่อยมีใครเข้าร่วมแล้ว ยังทำให้ร้านค้ามีภาพลักษณ์ว่า “งก” หรือทำแค่หวังโฆษณาเท่านั้นก็เป็นได้
ตัวอย่างโปรโมชั่นที่น่าสนใจ :
-โรงแรมโฆษณาว่าทุกคนที่เช็กอินโรงแรม และ ชCheck in เว็บไม่ว่าจาก Foursquare, Latitude, Gowalla และอีกหลายเว็บ จะได้รับสิทธิชิงโชค iPod เป็นการเล่นกับคำว่า “เช็กอิน” ด้วย
-ร้านอาหารแจกเครื่องดื่มฟรีให้ “Mayor” (เจ้าถิ่น) เพราะถือได้ว่าเป็นผู้ที่เข้าร้านบ่อยสุด
-“ลด 30 % สำหรับผู้ Check in ครั้งแรก” ดึงลูกค้าใหม่ๆ อาจให้ส่วนลดเพิ่มสำหรับลูกค้าเก่าที่ไปชักชวนลูกค้าใหม่มาด้วย โดยแจกให้ผู้ติดตามซึ่งเคย Check in แล้ว
-เลียนแบบบัตรปั๊มโดยไม่ต้องพิมพ์บัตร ประหยัดต้นทุนค่าพิมพ์ เช่น “Check in 5 ครั้งรับเครื่องดื่มฟรี 1 แก้ว”
6. สร้างความผูกพันกับลูกค้า
“อย่าพูดอยู่คนเดียว” เพราะวัฒนธรรมบน Social Network คือการพูดคุยสื่อสารกันทั้งสองทาง และบริการ Location Base ก็เช่นเดียวกับ Twitter หรือ Facebook ที่ต้องพยายามรับฟังและพูดคุยกับลูกค้าตลอดเวลา
7. วัดผลให้ละเอียด
เมื่อทำแคมเปญไปแล้วต้องวัดผลอย่างละเอียดทุกครั้งว่าได้ผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน เทียบกันหลายๆ วิธีแล้วหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
Foursquare เพิ่งเปิดให้ใช้ระบบ “Analytics Dashboard” ให้เจ้าของร้านหรือเจ้าของสถานที่ใช้ติดตามข้อมูลของผู้ที่เข้ามาอย่างละเอียดในเชิงสถิติ ส่วนเว็บอื่นๆ ก็มีระบบวัดผลอยู่บ้างมากน้อยต่างกันไป
ระบบแบบนี้ใช้ดูได้ตั้งแต่พฤติกรรมการเดินทางของทุกคนที่เคยเข้าร้าน ใช้ประกอบการวัดผลได้ว่าแคมเปญของเราเวิร์คหรือไม่
นอกจากเจ้าของร้านจะคิดเรื่องเพิ่มยอดขายแล้ว ยังควรคิดเรื่องการสร้างความรับรู้ในสินค้าและการสร้างแบรนด์ด้วย เพราะผู้ที่เข้ามาบางคนอาจจะยังไม่ซื้อ แต่เราก็ต้องสนใจการมาของกลุ่มนี้เช่นกัน
8. พร้อมปรับเปลี่ยน
วันนี้ Location-based Social Network กำลังร้อนแรง แต่ในอีกหลายปีข้างหน้ายังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร และก่อนจะถึงวันนั้นก็ยังไม่แน่ชัดว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไปอีกอย่างไรบ้าง เทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์คนด้านนี้เปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้นธุรกิจต้องติดตามข่าวสารและเทรนด์ตลอดเวลา และพร้อมจะปรับแผนและวิธีการเพื่อรักษาเป้าหมายเดิมไว้
9. หลีกเลี่ยงความผิดพลาด
จากการสำรวจของเจ้าของบริการทั้งหลายเช่น Foursquare เอง พบว่ามีสิ่งผิดพลาดที่ธุรกิจร้านค้าทำกันบ่อยๆ หลายข้อ เช่น
-อย่าทำรีวิวหรือทิปส์ที่เป็นโฆษณาล้วนๆ ที่ “Hard Sale” เกินไป เพราะผู้อ่านเห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นโฆษณา ทำให้ไม่อยากอ่าน พาลไปปฏิเสธทุก Tip/Review ที่ทางร้านจะเขียนต่อไปในอนาคตด้วย เกิดการสูญเสียความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นผลลบอย่างมาก
-ถ้าจะลง Banner ต้องออกแบบให้ดูดีและเข้ากับตัวตนของธุรกิจและบุคลิกของร้าน จุดนี้สำคัญไม่แพ้การออกแบบเว็บไซต์และตัวร้านเลย
-อย่าลืมวัดผลและวิเคราะห์ผู้เข้ามาในร้านอยู่เสมอ ต้องรู้ให้ได้ว่าลูกค้าประจำมีใครบ้าง ขาจรมีใครบ้าง คนที่มาครั้งแรกมีใครบ้าง ข้อมูลทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้ในการคิดและปรับแต่งแคมเปญ
สุดท้ายหากลงมือทำแคมเปญแล้วพบข้อสรุปหรือบทเรียนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ควรบันทึกไว้เสมอ เพราะ 9 ข้อนี้ยังไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ อยู่เสมอ