การเข้าเทกโอเวอร์เสริมสุขแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหม่สำหรับ PepsiCo แต่อย่างใด
ก่อนที่จะประกาศเจตนาว่าจะซื้อหุ้นจากเสริมสุข เป๊ปซี่ โคได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจในอเมริกาเหนือ ด้วยการซื้อกิจการผู้ผลิต 2 กิจการ คือ เป๊ปซี่ บอทเทิลลิง กรุ๊ป และเป๊ปซี่ อเมริกา ด้วยเงินกว่า 7,800 ล้านดอลลาร์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไปตามๆ กัน เพราะเป็นการเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยนอกจากเป๊ปซี่แล้ว โคคา-โคลา ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของบริษัทที่รับช่วงการบรรจุขวดน้ำอัดลมชื่อโคคา-โคลา เอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็น Bottler รายใหญ่ที่สุด ดูแลพื้นที่อเมริกาเหนือด้วยเช่นเดียวกัน
โดยนักวิเคราะห์มองว่า ที่มาของการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งของเป๊ปซี่ และโคคา-โคลา เกิดจากความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิตลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องขยับราคาขาย ในภาวะที่วัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลมขยับราคาสูงขึ้นตามลำดับ แต่ผู้บริโภคไม่อยู่ในสภาวะที่จะจ่ายเงินมากขึ้นได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่เป๊ปซี่มองการเข้ามามีบทบาทในตลาดที่ตัวเองประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเมืองไทย ในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทะลุทะลวงตลาดเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมในการดื่มแตกต่างกัน หรือแม้แต่ผู้บริโภคคนเดียวกัน ที่เลือกดื่มบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างในวาระและโอกาสต่างๆ กันไป
ความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์จึงเป็น Key Point อย่างหนึ่ง ดังนั้น Bottler จึงต้องไล่กวดเทรนด์นี้อย่างไม่ลดละ ทั้งสีสัน รูปทรง ขนาด และวัตถุดิบที่ใช้ แต่บางครั้งก็ไม่อาจสนองตอบความต้องการของเจ้าของแบรนด์ได้มากพอ
นอกจากประโยชน์ในธุรกิจน้ำดำแล้ว ยังส่งผลต่อการแตกขยายไปยังน้ำดื่มประเภทอื่นๆ ของเป๊ปซี่ และโค้ก มีโอกาสสัมฤทธิผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา Bottler ของทั้ง PepsiCo และ Coca-Cola Co ล้วนแล้วแต่มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตนเองจำหน่าย เหมือนกับที่เสริมสุขมีน้ำดื่มคริสตัล คลับโซดา และไทยน้ำทิพย์มีน้ำดื่มน้ำทิพย์
เมื่อกิจการของ Bottler ตกไปอยู่ในมือของ PepsiCo และ Coca-Colac แล้ว ย่อมต้องยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ และหันมาทำโฟกัสตลาดให้กับแบรนด์น้ำดื่มที่ส่งตรงมาจากบริษัทแม่