“วาทกรรม” รหัส “อำมาตย์-ไพร่”

การจุดติดให้เกิดกลุ่มคนมาชุมนุมกันในทางการเมืองครั้งล่าสุดของ “ม็อบเสื้อแดง” ด้วยวาทะที่เน้นคำว่า “อำมาตย์ และไพร่” หากถอดรหัสจาก “วาทกรรม” ที่ออกจากปากของแกนนำ และคนเบื้องหลังอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” จะเห็นชัดเจนว่านี่คือการชุมนุมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เป็นการปฏิวัติระบอบการปกครองมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระดับปฏิรูป และนี่คือเหตุให้กระบวนการของเครือข่าย “ทักษิณ” ถูกปฏิเสธจากคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เหตุที่การถอดรหัส “วาทกรรม” ทางการเมืองสามารถล่วงรู้แผน หรือเป้าหมายที่แท้จริงได้นั้น ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เป็นเพราะความหมายของ “วาทกรรม” หรือ (Discourse) นั้น หมายถึงถ้อยคำ อาจเป็นคำเดียวหรือหลายคำ หรือหลายประโยค ที่สื่อความคิดใดความคิดหนึ่งที่ชัดเจน แล้วความคิดนั้นถูกนำไปสื่อซ้ำจากบุคคลเดิม หรือบุคคลอื่น โดยการสื่อซ้ำไม่จำเป็นต้องเป็นคำเดียวกัน อาจเปลี่ยนคำเปลี่ยนประโยค เปลี่ยนโครงสร้างประโยค แต่ยังสื่อความคิดนั้นได้เหมือนเดิม

“วาทกรรม” เป็นสิ่งที่คอการเมืองคุ้นเคยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่กำลังเข้าสู่ความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์วิกฤต ที่มีการตกผลึกทางความคิดและมีการประดิษฐ์ถ้อยคำขึ้นมา จนถูกนำมาใช้กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพูด และเขียนอย่างจริงจัง โดยหลักของการประดิษฐ์ หรือการนำวาทกรรมนั้นมาใช้สังเกตได้ว่าต้องฟังแล้วดูดี มีความขลัง และน่าติดตาม และมาจากความคิดตกผลึก และสื่อโดยผู้ที่ได้รับความศรัทธา ที่เมื่อพูดแล้ว ผู้ฟังไม่เพียงได้ยินเท่านั้น แต่ยังเป็นคำพูดที่เข้าถึงหัวใจของคนส่วนใหญ่

อย่างเช่นในช่วง 3 -4 ปีที่ผ่านมาในช่วงการชุมนุมของเสื้อเหลือง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คำที่ได้ยินบ่อยในช่วงนั้น เช่น “ตุลาการภิวัตน์” “อารยะขัดขืน” “ขาดความชอบธรรม” “การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” “ห้ามใช้ความรุนแรง” “การเมืองภาคประชาชน” “สงครามครั้งสุดท้าย” และ “ปกป้องสถาบัน” จนนำมาสู่การขับไล่รัฐบาลทักษิณในที่สุด

จนมาถึงวิกฤตการเมืองในเดือนเมษายน 2553 ที่ “วาทกรรม” ถูกนำมาเป็นเครื่องมืออย่างได้ผล บนเวทีเสื้อแดงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. คือ “อำมาตย์-ไพร่” ที่แตกแขนงต่อเป็น “โค่นอำมาตย์” “สงครามระหว่างชนชั้น” “ดับเบิลสแตนดาร์ด” และ “ไพร่อุปถัมภ์” (ซึ่งวาทะนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นผู้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เพื่อตอบโต้ “จักรภพ เพ็ญแข” ที่อ้างว่าตัวเองต่อต้านระบบอุปถัมภ์ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะ “จักรภพ” เคยประกาศว่า “ถ้าไม่เลือกผม ไม่ต้องเอางบประมาณ”)

คำว่า “ไพร่” และเรื่องชนชั้น ถูกนำมาขยายโดย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และทดลองใช้บนเวทีเสื้อแดง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ถึงกับโทรมาหา “ณัฐวุฒิ” บอกว่า “มันใช่มาก” และพูดแบบนี้เสื้อแดงจะเพิ่มขึ้นมหาศาล (จากการให้สัมภาษณ์ของณัฐวุฒิ ต่อนสพ.กรุงเทธธุรกิจ 25 มีนาคม 2553)

นอกจากนี้คำว่า “อำมาตย์” ที่เวทีเสื้อแดงใช้ปลุกเร้าด้วยวาทะที่ว่า “โค่นอำมาตย์” ยังถูกตอกย้ำด้วยการวิดีโอลิงค์ของ “ทักษิณ” ที่สะท้อน “ความคิด” จนนำมาสู่วาทกรรมที่ร้อยเรียงประโยคที่ทำให้เห็นแผนการชุมนุมครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน ด้วยความที่ว่า

“พี่น้องต้องลุกขึ้นสู้อำมาตย์ไม่อยากเห็นคนหายจน ไม่อยากเห็นลูกหลานฉลาด เพราะอย่างนี้เราถึงต้องพึ่งพาอำมาตย์ตลอดชีวิต ถ้าประชาชนเป็นฝ่ายชนะ เป็นการปลดแอกตนเองให้พ้นจากอำมาตย์ทั้งหลายที่มาบังคับให้เราโง่บังคับให้เราจนต่อ”
ดร.อนันต์ บอกว่า ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่เป็นความคิดที่มีมาก่อนปี 2475 ที่มีการะบุในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2547 ซึ่งวาทกรรมในประกาศนั้นได้ปรากฎคำว่า “ไพร่” และ “เจ้า” ไว้อย่างชัดเจน

จากวาทกรรมของแกนนำเสื้อแดงนั้น ดร.อนันต์ ชำแหละให้เห็นว่ามี 4 ความคิดจากขบวนการนี้คือ
1.จะรักษาระบอบการเมืองการปกครองปัจจุบันหรือต้องการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่
2.ระบอบอำนาจอธิปไตยทางศาล นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นอำนาจที่ถูกแทรกแซงโดยบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรหรือสถาบันหรือสถาบันใดหนึ่งหรือไม่
3.ประเทศมีระบบสองมาตรฐาน ที่ชัดเจนนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย.หรือไม่
4.ความขัดแย้งรวมทั้งช่องว่างทางโอกาสและทางเศรษฐกิจของคนในสังคม ห่างออกมากมายอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ 19 กันยายนหรือไม่

เมื่อคำตอบจากแกนนำเสื้อแดงและคนที่อยู่เบื้องหลัง และผู้ชุมนุมบางส่วนคือ “ใช่” จึงนำไปสู่ความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองปัจจุบัน ชุดความคิดนี้จึงทำให้เกิดวาทกรรมผนวกกันเป็น “อำมาตย์” และ “ไพร่”

ขณะเดียวกันเมื่ออำพรางไว้อย่างดี แล้วทำให้ “อำมาตย์กับไพร่” กำกวม และผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มหนึ่งเชื่ออย่างสนิทใจ ว่าการมาต่อสู้ครั้งนี้ เพื่อเรียกกร้องสิทธิให้ผู้ด้อยโอกาส โดยที่ไม่รู้ว่าแกนนำ หรือคนที่อยู่เบื้องหลังแกนนำ ต้องการเป้าหมายไปมากกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงชนิดมากถึงระดับการปฏิวัติ

“การต่อสู้ทางการเมือง ต้องมีความคิดที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร การต่อสู้ทางการเมืองทุกครั้งหวังความเปลี่ยนแปลง เมื่อหวังความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องตอบให้ชัดเจนว่าอะไร เป็นความคิดเดิม และอะไรเป็นความคิดใหม่ ความคิดใหม่นั้นแตกต่างจากความคิดเดิมมากน้อยแค่ไหน และความคิดใหม่นั้น ใหม่มากขนาดเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติ หรือเล็กน้อยระดับปฏิรูป ซึ่งผมคิดว่าความคิดของ นปช. ณ วันนี้ ชัดเจนว่าไม่ต้องการปฏิรูป ซึ่งที่จริงแกนนำก็บอกชัดเจนว่าไม่ต้องการปฏิรูป แต่ต้องการปฏิวัติ

ดังนั้นคนที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เขาเข้าใจดีว่าอำมาตย์กับไพร่ในความหมายของ นปช. คืออะไร ส่วนคนที่ไม่สนใจข่วสาร หรือเรื่องทางการเมืองเลย ก็อาจเข้าใจตรงๆ ว่า อำมาตย์คืออำมาตย์ ไพร่ก็คือไพร่”

นี่คือวาทะซ่อนเร้นที่ ดร.อนันต์มองว่าแกนนำ นปช.จงใจ เพราะเขาพูดตรงๆ ไม่ได้ว่าเป็นสงครามไพร่โค่นล้มอำมายต์จริง หรือต้องการสงครามที่ประชาชนโค่นล้ม สถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประเทศไทย คือเหตุผลที่ต้องใช้ถ้อยคำอื่นมาสื่อความคิด ทำให้คำว่าอำมาตย์ไพร่กำกวมให้คนอื่นตีความ และถ้า นปช.ชนะเขาก็จะมาตีความสงครามไพร่ อำมาตย์คืออะไร ถ้าเขาแพ้ แล้วบ้านเมืองมาดำเนินคดี โดยไม่ละเว้น เขาก็จะสามารถใช้ตรงนี้เป็นเครื่องป้องกันตัวได้ ว่ารัฐบาลตีความผิด เป็นเครื่องป้องกันจากข้อกล่าวหาร้ายแรงว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์

จาก “วาทกรรม” ที่ปรากฏอยู่ในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเหล่านี้ ตอกย้ำสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจน เหมือนมีคนรู้ใจมาพูดคุย และระบายทุกข์ ทำให้ม็อบแดงไม่สลายตัวง่ายๆ เมื่อบวกกับการเคลื่อนไหวด้วยยุทธวิธีที่พยายามจุดชนวนให้เกิดความรุนแรงและสลายการชุมนุม และการซ้ำเติมด้วยการก่อวินาศกรรม ระเบิดเอ็ม 79 ลูกแล้วลูกเล่า ที่นำพาประเทศเข้าสู่โซนของ “การก่อการร้าย” จึงชัดเจนว่าทั้งหมดได้ก้าวข้ามปัญหา “ทางการเมือง” ว่าด้วยเรื่องยุบสภาเท่านั้นไปแล้ว

อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล

ถอดรหัสวาทซ่อนเร้น “แกนนำ นปช.จงใจ เพราะเขาพูดตรงๆ ไม่ได้ว่าเป็นสงครามไพร่โค่นล้มอำมายต์จริง หรือต้องการสงครามที่ประชาชนโค่นล้ม สถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประเทศไทย”

คำสุดฮิต “คนไทยเกิน 1 ล้าน…” ในเฟซบุ๊ก

สำหรับในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองช่วงเมษายน 2553 ด้วยกลุ่ม “คนเสื้อหลากสี” ที่ส่วนหนึ่งโดดออกมาจากโลกเสมือนจริง เพื่อแสดงออกการไม่เอาเสื้อแดง ต่อต้านการยุบสภา ไม่เอาความรุนแรง ซึ่งวาทกรรมในโลกนี้อาจไม่คมกริบเหมือนอย่างในโลกจริง แต่ข้อความที่ชัดเจนในจุดยืนของการตั้งกลุ่ม ทำให้การจุดติดของกลุ่มคนต่างๆ ในโลกนี้ไม่ยาก ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือแฟนเพจของ “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา” ซึ่งมีผู้ใช้สมัครเป็นแฟน 487,701 คนแล้ว (เวลา 20.19 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2553) เมื่อรวมกับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ หลายคนในแฟนเพจนี้จึงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นที่สวนจตุจักร อนุสาวรีย์ หรือพระบรมรูปทรงม้า สวนอัมพร

คำว่า “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน…” ติดแป้นคีย์บอร์ดกลายเป็นวลีเก๋ไก๋ในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่มีกลุ่มต่างๆ นำมาใช้ทั้งแบบจริงจังและล้อเลียน เช่น กลุ่มต้านอย่าง “รวมพลัง 1 ล้านคน สนับสนุนให้ยุบสภา” มีแฟนเพจ 15,767 คน (เวลา 20.29 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2553)

หรือแม้แต่การล้อเลียนก็มีแฟนจำนวนมาก อย่างเช่นกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเป็นตุ๊ด” ก็มีแฟนอยู่ถึง 8,534 คน มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคน ไม่เอาศพทักษิณกลับเข้าประเทศ มี 2,690 คน และมั่นใจว่าคนไทยเกิน 10 ล้านคนต้องการมีแฟน แต่หาไม่ได้จริงๆ มี 2,664 คน

“วาทะ” ที่โดน ทำให้ผู้ฟังสะดุดหู สนใจฟัง และเกิดการติดตาม เข้าถึงความคิด เมื่อรวมกับการบริหารจัดการ จนถึงขั้นรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมด้วยกัน ก็จะนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น “วาทะ” ที่หากใครสามารถใช้จนบรรลุวัตถุประสงค์ ก็ย่อมพาสังคมไปทางใดทางหนึ่งได้ และนี่คือความอ่อนไหว หากมีการใช้วาทกรรมอย่างไร้คุณธรรม