เปิดเเผนโอนย้ายพนักงานกว่า 11,000 คน ในการควบรวม “ทีเอ็มบี – ธนชาต”

เปิดวิสัยทัศน์ “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ยกโมเดล “ONE GOAL” เพิ่มฐานลูกค้าเป็น 10 ล้านราย ควบสาขาทับซ้อน ทยอยโอนย้ายพนักงานกว่า 1.1 หมื่นคน ก่อนเดดไลน์กระบวนการควบรวมเบ็ดเสร็จไม่เกิน 1 ก.ค. 2564 รอตั้งชื่อเเบงก์ใหม่ภายใน 18 เดือนจากนี้ 

เดินหน้าผนึกองค์กรต่อเนื่อง หลัง “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ประกาศดีลควบรวม 2 ธนาคารใหญ่ของไทยที่มีมูลค่า 1.4 แสนล้าน ตั้งเเต่ช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา

สำหรับการโอนย้ายพนักงานกว่า 11,000 คนจากธนชาตไปธนาคารใหม่นั้น ทางทรัพยากรบุคคลกลางได้เริ่มดำเนินการสื่อสารและจะเริ่มดำเนินการโอนการจ้างพนักงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป และจะมีการทยอยโอนย้ายเป็นระยะ

โดยจะเริ่มที่กลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-Suite Level) ก่อน จากนั้นจะเป็นพนักงานระดับหัวหน้างาน (Top Management Level) ซึ่งทั้งสองธนาคารได้ร่วมกิจกรรม Team Building กันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันได้โอนย้ายระดับผู้บริหารสูงสุดเรียบร้อยแล้ว โดย 3 เดือนหลังจากนี้จะเป็นการทยอยโอนผู้บริหารระดับกลางลงมา ซึ่งการโอนย้ายพนักงานจะดำเนินการเป็นระยะ เพื่อมารวมกันกับพนักงานทีเอ็มบีที่มีอยู่ราว 8,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 19,000 คน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2564

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การดำเนินการจับมือทางธุรกิจรวมกิจการของทั้งสองธนาคารมีความคืบหน้าไปมาก ในปีนี้ก็จะเดินหน้ากลยุทธ์ ONE DREAM, ONE TEAM, ONE GOAL เพื่อลูกค้าของทั้งสองธนาคาร เป้าหมายจึงไม่ใช่ “หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ผลลัพธ์ต้องเท่ากับสาม” บริหารและพนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน

“พนักงานทุกคนจะต้องได้รับสวัสดิการเท่าเทียม ซึ่งจะให้สวัสดิการตามอายุงาน ไม่ใช่ตำแหน่ง รวมถึงสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สมทบให้มากกว่าระบบ”

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

วิจิตรา ธรรมโพธิทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบี และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกลาง ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ทางธนาคารได้ให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาดเพื่อให้พนักงานสามารถเก็บออมได้เพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ

ส่วนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลนั้น ธนาคารจัดแผนตรวจสุขภาพโดยคำนึงถึงวัยและอายุของแต่ละคนเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าความจำเป็นของการตรวจขึ้นอยู่กับอายุร่างกาย ไม่ใช่ตำแหน่งหรืออายุงาน โดยยังคงเปิดโอกาสให้พนักงานได้เลือกแผนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการเงินกู้สำหรับพนักงานที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การกู้ยืมของธนาคารด้วย

เพิ่มฐานลูกค้าเป็น 10 ล้านราย

อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า การรวมสองธนาคารจะทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย โดยสิ่งสำคัญที่ธนาคารต้องทำคือการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้เป็นอาวุธสำคัญในการนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเวลาที่เหมาะสม

“ในบรรดาช่องทางบริการทั้งหลาย พนักงานสาขาทั้งหมดคือหน้าบ้านและถือเป็นด่านแรกที่จะพบกับลูกค้า จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและมีคุณภาพที่สุด โดยเราจะมีการอบรมอย่างเข้มข้นและโค้ชชิ่งอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างให้พนักงานสาขากลายเป็นที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ”

สำหรับ “ทีเอ็มบี” มีจุดเด่นในการระดมเงินฝาก, Deposit Franchise และรูปแบบการให้บริการด้านการเงินที่แตกต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม (Traditional Bank) ส่วน “ธนชาต” เป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการสินเชื่อรายย่อยโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ เป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด

อ่านเพิ่มเติม : ผ่าดีล ควบรวม “TMB” – “ธนชาต” มูลค่า 1.4 แสนล้าน อาจต้องลดสาขา แต่ไม่ลดคน

เปิด Co-Location ควบสาขาทับซ้อน 

ด้านประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของธนาคารในตอนนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวภายในกรกฎาคม 2564 โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้รับบริการเป็นหลัก ว่าต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

โดยธนาคารมีแผนที่จะเริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้ และกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มเปิดให้บริการ Co-Location/ Co-Brand Branch ที่เป็นสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร เเละเป็นสาขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน โดยในปีแรกจะเริ่มทำ 90-100 แห่ง จากจำนวนสาขาที่มีอยู่ปัจจุบันจำนวน 900 แห่ง ทำให้จะเหลือ 800 แห่ง ซึ่งยืนยันว่าจะไม่กระทบลูกค้าและพนักงาน

ขณะที่ในเดือนมีนาคม ลูกค้าทั้งสองธนาคารจะได้ใช้บริการ ATM/ ADM จำนวนกว่า 4,700 เครื่อง ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก ถอน โอน ลูกค้าทีเอ็มบี ทัช สามารถทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจากเครื่องของธนชาตได้ และบิลสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตของธนชาต ก็สามารถชำระได้ที่เครื่องของทีเอ็มบี

ทั้งนี้ เมื่อกระบวนการรวมกิจการเสร็จสิ้น ธนาคารใหม่นี้จะมีสินทรัพย์รวมเกือบ ล้านล้านบาท นับเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย