“แลนดี้ โฮม” ตีตลาดรับสร้างบ้านกลุ่มบ้านหรู-บ้าน 2 ล้านต้น ตั้งเป้าโต 10% สวนเศรษฐกิจ

แลนดี้ โฮม
  • แลนดี้ โฮมโตสวนเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายอดขายปี 2563 แตะ 2,000 ล้านบาท เติบโต 10%
  • วางกลยุทธ์ขยายตลาด “บน” และ “ล่าง” จับช่องว่างรับสร้างบ้านกลุ่มลักชัวรี 15-50 ล้านบาท และปรับแบบบ้านลงมาเหลือ 2 ล้านต้นๆ ตอบโจทย์ลูกค้า
  • ปรับแบรนด์ให้ทันสมัย ใช้โปรแกรมแนะนำแบบบ้านอัตโนมัติ ทดลองระบบ VR ชมบ้านตัวอย่าง อัปเดตความคืบหน้างานก่อสร้างได้เรียลไทม์

เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอตัวแต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมรับสร้างบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยข้อมูลจาก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2562 มีมูลค่าตลาดประมาณ 12,500 ล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่แลนดี้ โฮม บริษัทรับสร้างบ้านอายุ 32 ปีในมือผู้บริหารเจน 2 ของครอบครัวมณีรัตนะพรสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาด

“พรรัตน์ มณีรัตนะพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2562 บริษัททำรายได้ไป 1,800 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อนหน้า และปี 2563 นี้ยังคงตั้งเป้าโตต่อเนื่อง วางเป้ายอดขายไว้ที่ 2,000 ล้านบาท หรือโตประมาณ 10%

ทีมผู้บริหารแลนดี้ โฮม: (จากซ้าย) “พานิช มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและบริหารสำนักงาน, “พรรัตน์ มณีรัตนะพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย และ “ภัทรา มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์

สาเหตุที่สามารถเติบโตได้เนื่องจากธุรกิจรับสร้างบ้านมักจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มักจะมีที่ดินอยู่แล้วและใช้เงินสดมากกว่าการกู้สินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดยปีนี้มีการเพิ่มแบบบ้านไซส์เล็ก กลุ่มราคาประหยัดต่ำกว่า 5 ล้านบาท เป็นบ้านชั้นเดียวพื้นที่ใช้สอย 100 ตร.ม. ปรับฟังก์ชันวัสดุเพื่อทำราคาให้อยู่ในงบ 2 ล้านต้นๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด

อีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่เพิ่มแบบบ้านเข้ามาคือบ้านระดับลักชัวรี 15-50 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย มีความต้องการต่อเนื่อง

บ้านไซส์เล็กราคา 2 ล้านต้นของแลนดี้ โฮม

โดยพรรัตน์คาดว่าบ้านขนาดเล็กราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะมีสัดส่วนในพอร์ตมากขึ้นสำหรับปีนี้ โดยเพิ่มจาก 40% เป็น 50% ส่วนที่ลดลงไปคือบ้านขนาดกลางราคา 5-15 ล้านบาท สัดส่วนลดจาก 40% เหลือ 30% ขณะที่บ้านลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาทน่าจะคงสัดส่วนที่ 20%

 

เจาะตลาดลูกค้าบ้านหลังใหญ่ไม่ต้องหรู

ด้าน “ภัทรา มณีรัตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แลนดี้ โฮม กล่าวต่อว่า กลุ่มบ้านราคามากกว่า 15 ล้านบาทเป็นตลาดใหม่ที่แลนดี้ โฮมเพิ่งเริ่มทดลองตลาดเมื่อ 3 ปีก่อน จากในอดีตที่บริษัทมีแบบบ้านเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังเริ่มออกแบบบ้านเสนอลูกค้า พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้ปีนี้จะลงงบการตลาดเจาะลูกค้าตลาดนี้มากขึ้น

ภัทราฉายภาพว่า คู่แข่งในตลาดรับสร้างบ้านระดับลักชัวรีมีเพียง 3-4 ราย และเจ้าใหญ่ในตลาดจะเกาะกลุ่มบ้านระดับซูเปอร์ลักชัวรีราคา 50-200 ล้านบาท หรือราคาตก ตร.ม.ละ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นบ้านพร้อมตกแต่งเสร็จ เน้นลูกค้าที่ต้องการความหรูหรา แต่แลนดี้ โฮมเลือกเกาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความคุ้มค่าและคุมงบประมาณได้

บ้านแลนดี้ โฮมระดับลักชัวรีราคามากกว่า 15 ล้านบาท

“ของเราเริ่มต้นที่ตร.ม.ละ 25,000 บาท ไม่รวมตกแต่ง เพราะลูกค้าหลายรายมีบริษัทตกแต่งภายในที่เลือกมาเอง” ภัทรากล่าว “เราตีตลาดกลุ่มที่ต้องการบ้านหลังใหญ่แต่คุ้มค่า ไม่ต้องวิจิตรหรูหราแต่ดูดี”

 

ปรับแบรนด์ให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี

อีกกลยุทธ์ที่แลนดี้ โฮมปรับอย่างต่อเนื่องคือสร้างแบรนด์ให้ทันสมัยและเป็นที่จดจำ โดยที่ผ่านมาบริษัทลงทุนสร้างโปรแกรมแนะนำแบบบ้านอัตโนมัติ ใน iPad สำหรับให้พนักงานขายใช้แนะนำลูกค้าในทั้ง 8 สาขาของแลนดี้ โฮม

“ลักษณะไม่ใช่แค่เปิดรูปบ้านให้ดูใน iPad แต่ลูกค้าสามารถกรอกความต้องการของตัวเองเข้าไปได้ เช่น งบประมาณ จำนวนคนอยู่อาศัย โปรแกรมจะแนะนำแบบบ้านที่เหมาะสมให้ได้ทันที” พานิช มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและบริหารสำนักงาน แลนดี้ โฮม กล่าว

ตัวอย่างผลงานบ้านสร้างเสร็จ (photo: Landy Home)

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมติดตามงานก่อสร้างในไซต์งานของลูกค้าเองได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งขณะนี้แลนดี้ โฮมบริการข้อมูลพร้อมกันอยู่ 150 ไซต์งาน

ส่วนเทคโนโลยีใหม่ที่จะทดลองนำมาใช้ปีนี้คือ VR (Virtual Reality) พานิชกล่าวว่าบริษัทคัดเลือกแบบบ้านขายดี 10 แบบมาจัดทำเป็นภาพ VR และจะให้ลูกค้าทดลองใช้ได้ที่สาขาลาดพร้าว (สำนักงานใหญ่)

“ปีนี้ไม่มีการเปิดสาขาใหม่แต่มาเน้นเรื่องสาขาที่มีอยู่ต้องดูแลลูกค้าได้ครบวงจร เพราะเราพบว่าลูกค้ามาติดต่อสาขาเพียง 1-2 ครั้งก่อนตัดสินใจสั่งสร้างบ้าน หลังจากนั้นลูกค้าจะอยู่ที่ไซต์งาน ดังนั้นจำนวนสาขาไม่ได้มีผลเท่าลูกค้าเข้ามาแล้วเลือกเราหรือเปล่า” พานิชกล่าวปิดท้าย