เทสโก้ โลตัส เดินหน้า “รับซื้อผักจากเกษตรกร” ไม่ผ่านคนกลาง ครบทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายโครงการจากเกษตรกร 600 รายเป็น 1,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่โมเดิร์นเทรด
“เป็นการสานต่อนโยบายเกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคต ตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและอาหารปลอดภัยมากขึ้น”
สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวถึงที่มาของโครงการซื้อผลิตผลทางการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกร (direct sourcing) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 และเพิ่มปริมาณการรับซื้อขึ้นทุกปี
ที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส ได้ทำงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเชื่อมโยงการผลิตเเละการตลาด สรรหากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักใบที่มีศักยภาพ เเละลงพื้นที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้คำเเนะนำด้านเทคโนโลยี การตลาดเเละการวางเเผนจัดการผลผลิต
โดยโครงการรับซื้อ “ผักใบ” จากเกษตรแปลงใหญ่ 4 แหล่งหลักครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ได้เเก่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปริมาณรับซื้อ 70 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 120 สาขาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ภาคใต้
กลุ่มแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม อ.พูนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ปริมาณรับซื้อ 97 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 55 สาขาทั่วภาคใต้ - ภาคกลาง
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาคูร่วมใจพัฒนา ต.นาคู อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณรับซื้อ 72 ตันต่อเดือน จำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 54 สาขาทั่วภาคกลาง - ภาคเหนือ
วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักปลอดภัย ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน ปริมาณรับซื้อ 35 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 120 สาขาทั่วภาคเหนือ
“การรับซื้อผักตรงจากทั้ง 4 แหล่ง มีปริมาณกว่า 270 ตันต่อเดือน สร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้เกษตรกร 600 ครัวเรือน โดยเทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าหมายขยายโครงการสู่เกษตรแปลงใหญ่กลุ่มอื่นๆ ในอนาคต ภายในสิ้นปี 2563 จะครอบคลุมเกษตรกร 1,000 ครัวเรือน”
เเละเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ทางโครงการได้มีการผลักดัน “ผักปลอดภัย” ได้มาตรฐาน GAP รวมไปถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
“เราต้องการจะขยายการรับซื้อให้มากขึ้น เพิ่มจากเดิมที่เป็นพืชผักใบไปสู่ผลผลผลิตการเกษตรอื่นๆ เช่น เเตงกวา เเตงร้าน เเละมะนาว จึงเป็นโมเดลใหม่ที่จะช่วยให้เทสโก้ โลตัสร่วมมือกับเกษตรกรได้ตามเป้าที่วางไว้ 1,000 ครัวเรือนภายในปีนี้ เเละตอนนี้เราก็เริ่มรับซื้อฟักทองจากเกษตรกรเเล้ว นอกเหนือจากจะนำไปขายสดให้แก่ผู้บริโภค เรายังจะนำไปต่อยอดเป็นขนมปังฟักทองด้วย”
สำหรับโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักปลอดภัย ต.อุโมงค์ จ.ลำพูน มีการรับซื้อ “ฟักทองพันธุ์ทองอำไพ” จากชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการ พื้นที่ปลูกฟักทองรวมกว่า 90 ไร่ ใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย ผลผลิตทั้งหมดรวบรวมเข้าโรงคัดบรรจุ ต.อุโมงค์ เพื่อส่งจำหน่ายในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส ในภาคเหนือ
“เเต่ก่อนการปลูกพืชผลการเกษตรมีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งด้านภูมิอากาศ ฟ้าฝนที่มีผลต่อปริมาณผลผลิต ทำให้ราคาตลาดไม่เเน่นอนเเละบางครั้งก็ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ผลผลิตถูกตีกลับต้องเสียเงินทุนจำนวนมาก” อรรถพล กันธะอุดม ประธานชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการ กล่าว
เขาเล่าต่อว่า หลังจากได้ร่วมโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเทสโก้ โลตัส เป็นโอกาสที่ทางกลุ่มได้ขยายช่องทางการตลาดมากขึ้น มีปริมาณการรับซื้อที่แน่นอน ให้ราคารับซื้อที่เป็นธรรม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และเกษตรกรในโครงการ
สำหรับการส่งขายสินค้าเกษตรเเต่ละครั้งนั้น ชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการที่มีสมาชิกที่ปลูกฟักทองอยู่ 35 คน มีรายได้ขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อรอบ เเบ่งเป็นการนำส่งเข้ามาในกรุงเทพที่ตลาดไท ส่งขายตรงให้เทสโก้ โลตัส เเละมีบางส่วนที่ขายให้กับพ่อค้าเเม่ค้าท้องถิ่น
ล่าสุดเทสโก้ โลตัส เเละกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาและส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรสู่ตลาดนำการผลิต เพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนสามารถวางแผนการซื้อ-ขาย ผลผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร
เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบาย “ตลาดนำการเกษตร” เเละความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นการยกระดับภาคเกษตรของไทย แก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดเเละราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมมือกับ “โมเดิร์นเทรด” ที่มีความพร้อมทั้งช่องทางจัดจำหน่าย มีการตลาดที่ดีเเละการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน
“สิ่งสำคัญคือเกษตรกรมีแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน มีรายได้ที่มั่นคง ทราบถึงความต้องการของตลาด และสามารถนำมาวางแผนการผลิตให้สอดคล้องทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ จึงหวังว่าต่อไปจะมีการขยายผลสู่กลุ่มสินค้าเกษตรอื่นๆ อีก เกษตรกรก็จะมีความมั่นคงทางอาชีพ ส่วนลูกค้าผู้บริโภคก็จะได้บริโภคผักสดที่มีคุณภาพ ปลอดภัย”
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่ ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของรัฐบาล จำนวน 365,884 ครัวเรือน พื้นที่ 6,020,845.77 ไร่ จำนวนแปลงใหญ่ 6,534 แปลง มีสินค้าเกษตรประมาณ 70 รายการ โดยในภาคเหนือพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการปลูกมากที่สุดคือ “ลำไย” ประมาณ 2.5 เเสนไร่ คิดเป็นมูลค่าการเกษตรกว่า 6 พันล้านบาท