LINE บุกหาน่านน้ำใหม่ ส่ง LINE TV เจาะตลาดอาเซียน ดึงกลุ่ม SMEs ลงโฆษณา

การแข่งขันที่ท้าทายขึ้นในธุรกิจคอนเทนต์ประเทศไทย ทำให้ LINE ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ไปพร้อมกับยืนระยะในพื้นที่ของตัวเอง โดยปีนี้ LINE TV จะนำคอนเทนต์ละครไทยบุก 3 ประเทศ เมียนมา-ลาว-กัมพูชา ตั้งเป้าเป็นเจ้าตลาดอาเซียนภายใน 3 ปี ส่วนประเทศไทย เดินหน้าเจาะตลาดแมสต่อเนื่อง ส่งออริจินอล คอนเทนต์ 6 เรื่องลงฉาย ฟาก LINE TODAY เม็ดเงินโฆษณาโต 150% ต่อปี ดึงกลุ่ม SMEs ลงโฆษณาเพิ่มอุดช่องว่างแบรนด์ใหญ่ไม่สู้เศรษฐกิจ

ศึกชิง ‘eyeball’ ของคนดูดุเดือดขึ้นทุกที เพราะผู้บริโภคมีแพลตฟอร์มและคอนเทนต์สารพัดให้เลือกเสพ นอกจากสื่อโทรทัศน์ดั้งเดิม แพลตฟอร์มออนไลน์ยังมีทั้งแบบฟรีและเสียค่าสมาชิกให้เลือก ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างลงสนามพร้อมแข่งในตลาดนี้

“กณพ ศุภมานพ” รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE Thailand ยอมรับว่า การแข่งขันในธุรกิจคอนเทนต์รุนแรงขึ้นกว่าเก่า จากการมีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด แต่ LINE TV มองว่าตนเองมีจุดแข็ง 3 ประการที่ดึงดูดทั้งคนดู ผู้ลงโฆษณา และพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ที่จะทำให้บริษัทรักษาฐานไว้ได้ คือ

1.จำนวนผู้ใช้งาน LINE TV อยู่ที่ 40 ล้านบัญชี และมีการรับชมเฉลี่ยวันละ 176 นาที เป็นฐานผู้ชมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สูงที่สุดของประเทศ

2.คอนเทนต์เจาะกลุ่มละครไทย แต่มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ได้เน้นสไตล์ใด เพราะนำคอนเทนต์จากหลายผู้จัดละครเข้ามาลงแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันยังให้อิสระกับผู้จัดในการผลิต ไม่มีการแทรกแซง แต่ยังมีการกลั่นกรองให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งช่วยให้ผู้ลงโฆษณาไว้วางใจมากกว่า

3.มีการทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้ลงโฆษณา มีทีมจัดทำคอนเทนต์เพื่อโฆษณาโดยเฉพาะ ทำงานรวดเร็ว เพราะมีสำนักงานใหญ่ในเมืองไทย

ทีมผู้บริหารในงาน LINE NEXPLOSIONS 2020 : (จากซ้าย) “กณพ ศุภมานพ” รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์, ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพาณิชย์

สำหรับฐานผู้ชมของแพลตฟอร์มออนไลน์เด่นๆ ในไทยในปี 2562 Positioning รวบรวมพบว่า YouTube ซึ่งเน้นคลิปรายการผลิตและอัปโหลดเองแบบ UGC (User-generated content) ของเหล่ายูทูบเบอร์ มีผู้ชมมากกว่า 30 ล้านคน แม้จะเป็นคอนเทนต์คนละแบบ แต่ด้วยฐานผู้ใช้สูสีกันทำให้เป็นคู่แข่งของ LINE TV

ด้าน TrueID ที่ใช้คอนเทนต์ชมฟุตบอลสดดึงดูด มีผู้ใช้ 10.2 ล้านคน Viu ซึ่งเน้นซีรีส์เกาหลี มียอดดาวน์โหลด 4.5 ล้านครั้งในไทย (ไม่เปิดเผยจำนวนผู้ใช้) AIS Play ได้ฐานลูกค้าเครือข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ต มีผู้ใช้ 1.7 ล้านราย ส่วน Netflix เน้นหนัง/ซีรีส์ตะวันตกและกำลังรุกตลาดซีรีส์เกาหลี ไม่เปิดเผยจำนวนผู้ใช้ แต่มีการประเมินว่ามีฐานผู้ชมในไทยราว 5.46 แสนคน ปิดท้าย WeTV น้องใหม่ในไทยแต่เป็นพี่ใหญ่ในจีน ยังไม่เปิดเผยจำนวนผู้ใช้ แต่เปิดข้อมูลว่าผู้ใช้ชมคอนเทนต์นานวันละประมาณ 80 นาที

 

ดึงกลุ่มต่างจังหวัดเพิ่ม

รักษาฐานไว้แต่ยังต้องหาทางเจาะตลาดใหม่ต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปีที่แล้ว LINE TV ประกาศทิศทางเจาะตลาด “ต่างจังหวัด” และ “ผู้ชาย” ให้มากขึ้น เพื่อที่จะพูดได้เต็มปากว่าเป็นแพลตฟอร์มแมสระดับประเทศ จึงมีการผลิตออริจินอล คอนเทนต์ออกมาชิมลางคือ “สู้ตาย!! นายกระจับ” และนำรายการการ์ตูน กีฬา ซิตคอมเข้ามาเพิ่มเพื่อดึงกลุ่มผู้ชาย

ปี 2563 LINE TV ยังเจาะต่างจังหวัดต่อ โดยดูจากออริจินอล คอนเทนต์ 6 เรื่องที่ผลิต มีเรื่องที่เจาะกลุ่มคนดูต่างจังหวัดชัดเจนคือ “วิน 21 เด็ดใจเธอ” เป็นซิตคอมที่ดำเนินเรื่องในชุมชน โดยมีตัวละครวินมอเตอร์ไซค์เป็นตัวหลัก และได้น้องๆ วง SWEAT 16 มาร่วมแสดง ช่วยดึงกลุ่มผู้ชายเข้ามามากขึ้น

ออริจินอล คอนเทนต์ ของ LINE TV ในปี 2563

ส่วนออริจินอล คอนเทนต์อีก 5 เรื่องที่จะลงจอ ได้แก่ Mother เรียกฉันว่าแม่ ร่วมกับ JSL ซีรีส์ดราม่ารีเมกจากต้นฉบับของประเทศญี่ปุ่น, เป็นต่อ Uncensored สำมะเล เพลย์บอย, BKPP The Series (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ร่วมกับนาดาวบางกอก หยิบกระแสคู่จิ้นบิวกิ้น-พีพีมาสร้างซีรีส์เรื่องใหม่, The Graduate ร่วมกับ Bearcave ซีรีส์เกี่ยวกับการหางานทำของเด็กจบใหม่ และ The Secret เกมรัก เกมลับ ร่วมกับ Change 2561 ผลิตละครดราม่ารวมนางร้าย 5 คนจาก Club Friday The Series

 

ส่งคอนเทนต์ไทยเจาะอาเซียน

นอกจากในไทยแล้ว LINE TV ยังเตรียมสยายปีกเจาะตลาดอาเซียน โดยวางเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 แพลตฟอร์มรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ของภูมิภาคนี้ภายในปี 2565

โดยจะเริ่มจากไตรมาส 2/63 ประเดิมเจาะ 3 ประเทศ เมียนมา ลาว และกัมพูชา นำละครไทยไปเปิดตัวบนแพลตฟอร์ม LINE TV จากปัจจุบันยังไม่มีการทำตลาดเลยใน 3 ประเทศดังกล่าว ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการใช้งานแอปพลิเคชั่น และเจรจาค่าลิขสิทธิ์ละคร

“คอนเทนต์ที่ไปจะเริ่มจากของไทยก่อน เพราะ 3 ประเทศนี้บริโภคคอนเทนต์ไทยมากที่สุดแล้วในอาเซียน” กณพกล่าว “ส่วนถ้าวัดจากจำนวนผู้ใช้แอป LINE ฐานผู้ใช้ที่ใหญ่มากคืออินโดนีเซีย แต่เราต้องเตรียมหาคอนเทนต์จากฝั่งเกาหลีและประเทศอื่นๆ ไว้มากกว่านี้ก่อน เพื่อให้ตอบความต้องการ”

 

LINE TODAY โตเงียบ เจาะกลุ่ม SMEs

ขณะที่อีกขาหนึ่งของธุรกิจคอนเทนต์ของ LINE คือ LINE TODAY มีความน่าสนใจเช่นกัน ด้วยฐานผู้อ่าน 36 ล้านคนต่อเดือน และ จำนวนเพจวิวเฉลี่ย 1,000 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงเม็ดเงินโฆษณาที่โตเฉลี่ยปีละ 150% นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2559 ทำให้รายได้จากโฆษณาแบบ Display ad ทั้งที่ปรากฏบนหน้าข่าว LINE TODAY และ Timeline เป็นตัวทำเงินอันดับ 2 ของบริษัท LINE Thailand รองจากรายได้ LINE Official Account

กลุ่มผู้อ่าน LINE TODAY แบ่งตามช่วงอายุ

กลุ่มผู้อ่าน LINE TODAY มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ แม้ผู้อ่านกลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนวัย 25-34 ปี (สัดส่วน 41%) แต่กลุ่มรองลงมาไม่ใช่เด็กวัยรุ่น กลับเป็นผู้ใหญ่วัย 45 ปีขึ้นไป (สัดส่วน 22%) และกลุ่มนี้เติบโตสูงถึง 50% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าคนทุกวัยเริ่มเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มที่แล้ว

“นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพาณิชย์ LINE Thailand ยังเปรียบเทียบด้วยว่า LINE TODAY สร้างความรู้สึกต้องการซื้อเมื่อเห็นสินค้าในอัตรา 60% สูงกว่าเมื่อเทียบกับ LINE TV ซึ่งอยู่ที่ 49%

LINE TODAY สร้างความสนใจซื้อสินค้าได้สูงยิ่งกว่า LINE TV

ส่วนหนึ่งเกิดจาก LINE TODAY เริ่มใช้ฟีเจอร์ ‘Personalized’ ตั้งแต่ปีก่อน โดยจะส่งคอนเทนต์ที่คาดว่าผู้ใช้รายนั้นๆ จะสนใจให้แบบเฉพาะบุคคลในแบนเนอร์บนส่วนหัวของหน้าแชท LINE และหน้าแรกของ LINE TODAY ทำให้ตรงใจผู้บริโภคมากกว่า

ด้านภาพรวมธุรกิจโฆษณาปีนี้ นรสิทธิ์มองว่าการปรับคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยทำให้องค์กรใหญ่หลายแห่งเริ่มทบทวนแผนการใช้เม็ดเงินโฆษณา ด้วยความกังวลที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน กลุ่ม SMEs มีแนวโน้มจะลงโฆษณามากขึ้น เพราะยังต้องหาช่องทางขายและส่งเสียงไปให้ถึงผู้ซื้อ ดังนั้นปีนี้น่าจะได้เห็นโฆษณา SMEs ใน LINE TODAY สูงขึ้น