ต้องรอด! ฝ่าวิกฤต COVID-19

ณ ปัจจุบันที่บทความนี้ได้ถูกเขียนขึ้น ประเทศไทยมีคนติดไวรัสโคโรนาถึง 212 รายแล้ว และตัวเลขผู้ติดเชื้อก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คงไม่มีข้อโต้แย้งอีกต่อไปว่าประเทศเรากำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี การระบาดครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคงเป็นความตายที่อาจจะไม่ใช่แค่กับตัวเราเอง แต่กับคนที่เรารักและห่วงใย
Source : Ipsos

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล รวมถึงประชาชนบางส่วนทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา โดยจากผลสำรวจของ Ipsos ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 70-80% ของหลายประเทศที่สำรวจยกเว้น เวียดนาม จีน อิตาลี และอินเดีย ยังมองว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้

อาจเพราะจำนวนกรณีเคสผู้ติดเชื้อที่ยังไม่สูงมากในความรู้สึก และคนรอบข้างที่ยังไม่มีใครติด ทำให้หลายคนยังคงมีการใช้ชีวิตรูปแบบเดิม ไปในพื้นที่ หรือทำกิจกรรมที่ยังมีความเสี่ยง จริงๆ แล้วความน่ากลัวของโรคระบาดคือสิ่งที่เรียกว่า ‘paradox of pandemics’ หรือการที่คนเราไม่ตระหนักว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในโรคระบาดคือการเพิ่มจำนวนอย่างทวีคูณ หากไม่หยุดยั้งตั้งแต่เริ่มแรก รู้ตัวอีกทีจำนวนผู้ติดเชื้อจะมากขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบมหาศาล

Source: New England, journal of medicine, WHO

หากมองย้อนกลับในช่วงศตวรรษที่ 20 การระบาดของโรคที่น่าจะมีความใกล้เคียงกับ COVID-19 มากที่สุดคือการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ในช่วงปี 1918 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) การระบาดครั้งนั้นมีคนเสียชีวิตถึง 50 ล้านคนทั่วโลก และมีคนติดไวรัสถึง 500 ล้านคน หรือ 1/3 ของประชากรโลกในยุคนั้น

ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของไข้หวัดสเปนอยู่ที่ 2% อัตราการเสียชีวิตของ COVID-19 ด้วยข้อมูลปัจจุบันนั้นสูงถึง 3.4% หรือมากกว่าเกือบ 1.5 เท่า โดยหากเทียบกับไข้หวัดทั่วไปแล้ว COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเป็นพันเท่าเลยทีเดียว

ในความเป็นจริง ถึงแม้ COVID-19 จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมันคงเป็นไปได้ยากมากที่โลกเราจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 50 ล้านคน ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่จัดการให้ดี การระบาดครั้งนี้ก็ยังสามารถคร่าชีวิตคนจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ดี

ณ ตอนนี้ เราไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดโรคระบาด COVID-19 ได้อีกต่อไป วิธีเดียวที่จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีที่สุดคือ ต้องทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อทุกช่วงระยะอยู่ในจำนวนที่ระบบสาธารณสุขไทยเรายังรองรับไหวเสมอ

หากดูจากรูป เส้นประคือความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของระบบสาธารณะเรา ความสามารถในการรองรับในที่นี่หมายถึง จำนวนเตียง หมอ รวมไปถึงเครื่องช่วยหายใจ ถึงแม้หลังๆ จะได้ยินข่าวว่าหมอไทยเราเก่ง ระบบสาธารณสุขเราดี ให้เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของเรา

โดยหากอ้างอิงจากข้อมูลของหน่วยงานบริการสุขภาพของสำนักนโยบาย และยุทธศาสตร์ ในปี 2017 ประเทศไทยมีจำนวนเตียงของภาครัฐอยู่ที่ 122,470 เตียง หรือคิดเป็นสัดส่วนเตียง 1.9:1,000 คนต่อประชากร ซึ่งในความเป็นจริงยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ยของ OECD หรือระดับสากลเองก็ตาม

“เกาหลีใต้” ที่มีการระบาดรุนแรงเป็นลำดับต้นๆ มีสัดส่วนเตียงอยู่ที่ 6.4: 1,000 ประชากร และใน “ญี่ปุ่น” เองคือ 7.9: 1,000 ประชากร พูดง่ายๆ คือต่อให้หมอไทยเราเก่งแค่ไหน แต่หากจำนวนเครื่องช่วยหายใจ จำนวนหมอ พยาบาล หรือจำนวนเตียงไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย เมื่อนั้นอัตราการเสียชีวิตของคนไทยเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

คงมีไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถสร้างโรงพยาบาลชั่วคราว และเพิ่มจำนวนเตียงจำนวนมากได้เพียงในเวลาสั้นๆ เหมือนประเทศจีน ที่แน่ๆ ประเทศไทยคงไม่ใช่หนึ่งในนั้น แปลว่าก่อนที่โลกเราจะสามารถผลิตยาหรือวัคซีนสำหรับ COVID-19 ได้สำเร็จสิ่งเดียวที่เราทำได้ ณ ปัจจุบันคือต้องพยายามทำให้จำนวนผู้ป่วยในทุกช่วงเป็นแบบกราฟสีส้มคือ น้อยกว่าเส้นประอยู่เสมอ เพราะหากมีจำนวนผู้ป่วยพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วตามกราฟสีเขียวแล้วหลายคนที่ควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้คงสูญเสียไปอย่างน่าใจหาย

จะใช้มาตรการหรือจะใช้คำว่า ‘lockdown’, ‘quarantines’, ‘isolation’, ‘ban’, ‘social distancing’ อะไรก็แล้วแต่ สรุปโดยรวมคือ ต้องพยายามที่สุดที่จะไม่ทำให้ตัวเองติดเชื้อ หรือหากติดก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่แพร่เชื้อตัวเองให้ใคร อย่าฝากความหวังไว้กับรัฐบาล แต่มาช่วยตัวเรา ครอบครัวเรา และประเทศของเราด้วยตัวเราเอง เริ่มตั้งแต่วันนี้ก่อนที่เราจะเห็นคนใกล้ตัวของเราต้องสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินจากโรคระบาดนี้ไป