ค่ายรถทั่วโลกพร้อมใจปรับไลน์ผลิตเครื่องมือรบ COVID-19 หน้ากากอนามัย ยันเครื่องช่วยหายใจ

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ ทำให้ไลน์ผลิตของแบรนด์ต่างๆ ไม่เฉพาะรถยนต์ แต่รวมถึงหลากหลายผลิตภัณฑ์ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อรองรับกับสิ่งที่แพทย์ และระบบสาธารณสุขทั่วโลกต้องการเพื่อใช้ในการต่อสู้ครั้งนี้

ในส่วนของแบรนด์ระดับหรูทั้งหลาย เช่น Louis Vitton, DIOR, BVLGARI หรือ Givenchy เราคงได้ยินข่าวในเรื่องของการปรับปรุงไลน์ผลิตของตัวเอง เช่น ไลน์ผลิตน้ำหอมหรือเครื่องประทินผิวก็ปรับมาเป็นการผลิตเจลแอกอฮอล์ หรือไลน์ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เช่น Giorgio Armani หรือ New Balance ก็เปลี่ยนไปผลิตหน้ากากอนามัยแทน

ส่วนพวกแบรนด์รถยนต์นั้นก็มีการช่วยเหลือในการต่อสู้ครั้งนี้เช่นกัน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตอะไรที่มีความซับซ้อนมากกว่าอย่างเครื่องช่วยหายใจ

ระดมผลิตเครื่องช่วยหายใจ

Ford, Tesla และ GM หรือ General Motors ลุยไปก่อนแล้ว เมื่อประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศเปิดไฟเขียวให้โรงงานของแบรนด์เหล่านี้เข้ามาช่วยเสริมการผลิตเครื่องช่วยหายใจเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการที่แบรนด์ผู้ผลิตเหล่านี้ได้เปลี่ยนการทำงานของคนงานบางส่วนจากเดิมผลิตรถยนต์มาผลิตอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับทีมแพทย์ และผู้ป่วย

โดยได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่าง 3M และ GE Healthcare ผลิตพัดลมระบายอากาศและเครื่องช่วยหายใจ พร้อมกับตั้งชื่อโครงการนี้ด้วยว่า “Project Apollo” ว่ากันว่า Ford จะผลิตเครื่องช่วยหายใจที่ทำงานโดยใช้ความดันอากาศและไม่ใช้ไฟฟ้าจำนวน 50,000 เครื่องภายใน 100 วันโดยจะเริ่มทำงานที่โรงงานในมิชิแกน โดยล็อตแรกจะเริ่มส่งออกมาภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้จำนวน 1,500 เครื่อง ก่อนจะเพิ่มเป็น 12,000 เครื่องในเดือนพฤษภาคม และครบ 50,000 เครื่องในเดือนกรกฎาคม

ผลิตเครื่องช่วยหายใจ

สำหรับทางด้าน GM เองนั้น ได้ทำงานร่วมกับ Ventec Life System ผลิตเครื่องช่วยหายใจโดยตั้งเป้าการผลิตเอาไว้ที่ 1,000 เครื่องต่อเดือนและจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนั้นทาง GM เริ่มผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อส่งมอบให้กับคนงานของตัวเองทั่วประเทศ เพื่อช่วยในเรื่องลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19

GM บอกว่าในเรื่องของวัตถุดิบสำหรับการผลิตนั้นตอนนี้ยังพอหาได้จาก Supply Chain ที่เป็นคู่ค้าของตัวเอง และการผลิตได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ 50,000 ชิ้นต่อวันหรือ 1.5 ล้านชิ้นต่อเดือน

ขณะที่ทาง Tesla เองแม้ว่าไลน์ผลิตของพวกเขาอาจจะไม่สามารถรองรับกับการผลิตเครื่องช่วยหายใจ หรือการทำงานในเชิงที่เน้นปริมาณได้เหมือนกับ Ford และ GM และทาง Elon Musk ซึ่งเป็น CEO ของ Tesla ก็กล่าวว่า พวกเขาทุ่มเงินในการตามหาซื้อเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าเป็น Rare Item ในตลาดเลยก็ว่าได้ โดยทาง Tesla ได้ซื้อเข้ามาจำนวน 1,000 เครื่อง และเตรียมส่งต่อให้กับมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่เป็นฐานที่ตั้งใหญ่ของแบรนด์

ส่วนด้านพีเอสเอ บริษัทฝรั่งเศสเจ้าของ Peugeot และ Citroen เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจังมาก เรื่องการผนึกกำลังกับบริษัทต่างๆ ผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้

นอกจากนั้น ทางด้านทีมแข่งรถ F1 ทั้งหลายที่ว่ากันว่าถือเป็นศูนย์รวมแห่งความไฮเทคและบรรดาวิศวกรชั้นแนวหน้า ก็ได้ร่วมมือกันพัฒนาเครื่องช่วยหายใจด้วยเช่นกัน ซึ่งตามปกติแล้ว ทีมแข่งส่วนใหญ่จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอังกฤษ เช่น McLaren, Williams, Red Bulls ซึ่งทั้ง 3 ทีมรวมถึงทีมที่มีฐานอยู่นอกอังกฤษ เช่น Mercedes BWT Racing Point F1 Hass และ Renault ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษในการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

แผนงานนี้มีชื่อว่า Project Pitlane ประกอบด้วยสามส่วนหลัก ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ล้ำหน้าด้านระบบอัดอากาศมาประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางการแพทย์, การสนับสนุนการสร้างต้นแบบจำลองที่ทีม F1 สามรถขึ้นรูปได้อย่างรวดเร็ว และ การสร้างและออกแบบระบบทางเดินอากาศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ โดยช่วงแรกจะเน้นที่การผลิต เครื่องช่วยหายใจ รองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะในยุโรปที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง BBC รายงานว่า เครื่องช่วยหายใจล็อตแรกจะเริ่มส่งมอบได้ในเวลาไม่กี่วันนับจากวันนี้

การเลือกขอความร่วมมือจากทีมแข่ง F1 นั้น เนื่องจากทีมแข่งเหล่านี้ต่างมีบุคคลากร เช่นทีมวิศวกรและช่างที่เก่งที่สุด, ศูนย์วิจัย, เครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมที่สุด รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบและผลิตทุกอย่างได้ด้วยความรวดเร็วและมีคุณภาพสูง โดยทุกทีมต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในเวลานี้

หน้ากากอนามัยก็มี

ลัมโบกินี่ ผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับซูเปอร์คาร์สัญชาติอิตาลี ได้ปรับไลน์การผลิตรถยนต์บางส่วนของตัวเองที่เมืองเซนต์อากาต้า โบโลญญา โดยเปลี่ยนมาผลิตหน้ากากทางการแพทย์เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้วิกฤตจากการระบาดของไวรัส COVID19 ซึ่งหน้ากากที่ผลิตจากโรงงานผลิตรถของลัมโบกินี่แห่งนี้จะถูกส่งมอบให้กับโรงพยาบาล Sant’Orsola-Malpighi ในเมือง โบโลญญา

การผลิตหน้ากากดังกล่าวของลัมโบกินี่ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมกับมหาวิทยาลัยโบโลญญา โดยผ่านการตรวจสอบจากแผนกวิทยาการทางการแพทย์และผ่าตัด จึงมั่นใจได้ในแง่ของคุณภาพ มีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย 1,000 ชิ้นต่อวัน และหน้ากากป้องกันทางการแพทย์ที่ทำจากพลาสติกพิเศษอีก 200 ชิ้นต่อวัน

ขณะที่ ค่ายเฟอร์รารี่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายบริหาร จะสามารถผลิตชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ สำหรับเครื่องช่วยหายใจ ได้จากโรงงานชิ้นส่วน ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานของ แซร์ เอ็นจิเนียริ่ง

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดในการร้องขอให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกมาสนับสนุนด้านนี้ เริ่มมาจากประเทศจีน ที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บีวายดี ปรับสายการผลิตรถยนต์ให้ทำการผลิตหน้ากากป้องกัน เป้าหมายจำนวน 5 ล้านชิ้น และเจลทำความสะอาดอีก 300,000 ขวดต่อวัน

ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่าในช่วงวิกฤตจากไวรัส COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกนั้น ได้รับน้ำใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลากหลายธุรกิจต่างออกมายื่นมือช่วยกันสู้กับความโหดร้ายของ COVID-19 แม้กระทั้งบริษัทรถยนต์เอง ต่างพากันหาวิธีการ ปรับไลน์การผลิต โดยหันมาผลิตเครื่องช่วยหายใจ, หน้ากากทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย เพื่อสนับสนุนในการรักษาผู้ป่วยที่ติดไวรัส COVID-19 และความร่วมมือดังกล่าวของทุกคน ทุกบริษัท จะช่วยให้เราฝ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน

Source