ทำความรู้จักภาวะ ‘Cabin fever’ หรือ ‘อาการเบื่อบ้าน’ พร้อมแนะ 10 Tips วิธีรับมือ

ภาวะว่า ‘Cabin fever’ หรือสภาวะกดดันทางจิตใจที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านลบและความทุกข์ที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ กระสับกระส่ายและไม่มีสมาธิ เดิมทีภาวะดังกล่าวเป็นการพูดถึงคนที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกล แต่ในช่วงที่ต้องอยู่เเต่บ้านเป็นเวลานานเเบบนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเช่นกัน

Vaile Wright นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์วิจัย American Psychological Association กล่าวว่า อาการดังกล่าวไม่ใช่อาการป่วยทางจิตแต่อย่างใด โดยผู้ที่หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ หรือใช้เวลาใดการจัดการบ้าน มีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะ Cabin Fever ช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น แนวทางในการลดความตึงเครียดและความรู้สึกที่ถูกจำกัดอยู่ในบ้านของตัวเอง สามารถทำได้เองง่าย ๆ ดังนี้

1.สร้างกิจวัตรประจำวัน หรือทำทุกอย่างเป็นปกติตามตารางเวลาเดิมเท่าที่จะสามารถทำได้ แทนที่จะทำเหมือนว่าฃเป็นวันหยุดพักผ่อน

2.จัดบ้านใหม่ การย้ายข้าวของ จัดบ้านใหม่ อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

3.ออกกำลังกายและใจสม่ำเสมอ ออกกำลังกายบ้าง หรืออาจจะออกไปเดินเล่นบ้าง แต่พยายามเว้นระยะห่างจากผู้คนไว้ด้วย

4.ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง คุยกันผ่านกล้องวีดีโอ การเข้าร่วมชุมชนออนไลน์ อาจช่วยให้คลายเหงาหรือหงุดหงิดได้

5.ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย ที่ปัจจุบันในไทยมีกว่า 5 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะ ‘Cabin fever’ เนื่องจากวัยรุ่นมักจะใช้เวลาอยู่หน้าจอนานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง ดีแทค เองก็มี 5 ข้อแนะนำ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อการดูแลลูกหลานในช่วงอยู่บ้านยาว ๆ ดังนี้

1.หมั่นพูดคุย อธิบายเหตุการณ์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ผู้ปกครองสามารถช่วยอธิบายข้อมูลที่แท้จริงด้วยภาษาที่เรียบง่าย เพื่อช่วยลดความสับสน ความโกรธ ความเศร้าและความกลัว ที่อาจเกิดจากการรับข่าวสารที่ถาโถมบนโลกออนไลน์ได้

2.ออกแบบกิจกรรมเพื่อการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็ก ๆ แบ่งเวลาทำกิจกรรมให้สมดุลกัน สำหรับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอย่างเกมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำร่วมกับการวิดีโอคอลกับเพื่อน ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

3.อย่าเชื่อข้อมูลอะไรง่าย ๆ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการย้ำเตือนลูกหลานต่อการแยกแยะก่อนที่จะเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งบนโลกออนไลน์ โดยแหล่งข้อมูลควรมาจากพ่อแม้ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เชื่อถือได้

4.หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลาน ในช่วงที่เด็ก ๆ ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อกับบุคคลแปลกหน้าหรือผู้ไม่ประสงค์ดีมากขึ้น ดังนั้น การเข้าไปพูดคุยและใช้เวลากับเด็ก ๆ มากขึ้น จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมที่ผิดแปลกได้อย่างทันท่วงที

5.สร้างวินัยในการชีวิตในแต่ละวัน พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากในการออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เด็กๆ มีวินัยในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากขึ้น ซึ่งอาจหมายรวมตั้งแต่เวลาในการรับประทานอาหารจนถึงเล่นเกม โดยควรเลือกกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ มีความสุขและไม่เครียดจนเกินไป