อยู่กันยาวๆ “บิล เกตส์” วิเคราะห์สภาพสังคมจาก COVID-19 จะอยู่กับเราอีกนานกว่า 1 ปี

(Photo by Mike Cohen/Getty Images for The New York Times)
บิล เกตส์ วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ อาจยิงยาวไปถึงฤดูใบไม้ร่วงปีหน้าหรือราวเดือนกันยายน 2564 เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ช่วยได้ไม่สมบูรณ์จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโรค

บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft และมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ PBS Newshour เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมาว่า เขามองว่าสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์จนกว่าจะถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2564 (ราวเดือนกันยายน-พฤศจิกายน) เพราะจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาไวรัส COVID-19 น่าจะต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 1 ปีกว่าจะสำเร็จ

“วัคซีนจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจนกว่าจะมีวัคซีน อะไรๆ จะยังไม่เป็นปกติอย่างแท้จริง” มหาเศรษฐีใจบุญรายนี้กล่าว “การเปิดเมืองจะทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อซ้ำจะยังอยู่จนกว่าเราจะระดมฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง”

เกตส์อธิบายว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้ โดยวิธีการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้อยู่ในระดับที่สามารถติดตามผู้ใกล้ชิดที่อาจจะติดโรคจากผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด เพื่อนำตัวทุกคนมากักกันโรค

เขายังกล่าวถึงภาพในอนาคต 6-12 เดือนข้างหน้าว่าน่าจะใช้โมเดลประเทศจีนเป็นตัวอย่าง “พวกเขากำลังเปิดให้คนกลับไปทำงาน แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยและตรวจไข้อยู่ และยังไม่มีการจัดอีเวนต์กีฬาขนาดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำเป็นวงกว้าง” เกตส์กล่าว

ความเป็นไปได้อีกหนึ่งอย่างในการดำเนินนโยบายเปิดเมืองคือ การอนุญาตการจับกลุ่มได้แบบจำกัดอายุ

“การอนุญาตให้จัดห้องเรียนที่มีแต่คนหนุ่มสาวสัก 30 คนในนั้นอาจจะทำได้ เพราะเราน่าจะเข้าใจบทบาทการเป็นพาหะนำโรคของพวกเขามากขึ้นในอีกประมาณหนึ่งเดือนข้างหน้า การอนุญาตนี้อาจจะเกิดขึ้นจำกัดและน่าจะผ่อนปรนให้กับหนุ่มสาวมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ทั่วไป” เกตส์กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าการจัดชุมนุมชนขนาดใหญ่ “ยังไม่ควรจัดขึ้นจนกว่าจะมีการปูพรมฉีดวัคซีนเสร็จสิ้น”

สำหรับ “การกลับสู่สภาวะเกือบปกติ” เขามองว่าน่าจะดูตัวอย่างได้จากบางประเทศ เช่น สวีเดน เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้ล็อกดาวน์ประชาชนมากนัก ทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาน่าจะมีประโยชน์

บิล เกตส์ นั้นเป็นหนึ่งในพันธมิตรของ สถาบันวัดผลและวิวัฒนาการสุขภาพ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขระดับโลกของ University of Washington เพื่อร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “นโยบายใดในแต่ละประเทศที่ดูจะทำงานได้ผล” กับการรับมือ COVID-19

Source