ยอดสั่งซื้อ “โลงศพ” ในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้นในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยรายงานของ Reuters ระบุว่าในช่วงเดือนมี.ค. พิธีฝังศพในกรุงจาการ์ตา เพิ่มขึ้นถึง 40% เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ายอดเสียชีวิตจากเชื่อไวรัสอาจสูงกว่าตัวเลขที่ทางการรายงาน
“ปกติแล้วเราจะขายโลงศพได้วันละ 5-7 โลง แต่ตอนนี้เราขายโลงศพได้ถึง 20-30 โลงต่อวัน “
ณ สุสานเเห่งหนึ่งทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เหล่าคนงานต้องทำงานต่อโลงศพกันอย่างหนักกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
“ตอนนี้เราต้องทำงานตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน” Sahroni ชายวัย 38 ปี ผู้ทำธุรกิจโลงศพในกรุงจาการ์ตากล่าว
จากเดิมบริษัทของเขามีความเชี่ยวชาญในการทำโลงศพสำหรับชาวคริสเตียน ซึ่งเป็นส่วนน้อยในอินโดนีเซีย เเต่ตอนนี้เขาต้องจัดทำโลงศพสำหรับทุกนิกาย รวมถึงชาวมุสลิมด้วย ที่จะมีทั้งผู้ที่ป่วยหรือผู้สงสัยว่าเป็น COVID-19
โรงงานทำโลงศพรายอื่นก็มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ยังมีการขอให้บริจาคโลงศพ 1,000 โลง ให้แก่โรงพยาบาลในกรุงจาการ์ตาและเมืองอื่น ๆ ในจังหวัดชวาตะวันตกด้วย
นอกจากธุรกิจโลงศพที่ต้องทำงานข้ามวันข้ามคืนเเล้ว อาชีพ “ผู้ให้บริการขนส่งศพ” ก็กำลังเหนื่อยหนักในช่วงนี้ Sumiyati หญิงวัย 48 ปี พนักงานขับรถฉุกเฉินของสำนักงานสุสานและสวนสาธารณะกรุงจาการ์ตา บอกว่าเธอต้องทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึง 4 ทุ่ม
“การฝังศพเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 40 รายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และเพิ่งมีการเปิดสถานที่ฝังศพแห่งใหม่เมื่อต้นเดือน”
“เราต้องยอมรับความเสี่ยง” โดยในตอนทำงานนั้นเธอต้องสวมชุดป้องกัน ที่ทำมาจากเสื้อกันฝน หน้ากาก และรองเท้าบูท ก่อนเข้าบ้านครอบครัวของเธอก็จะเตรียมสเปรย์ฉีดฆ่าเชื้อไว้ให้
สำนักข่าว Reuters เปิดเผยข้อมูลว่าในเดือน มี.ค. ประชาชนได้ทำพิธีฝังศพในกรุงจาการ์ตา เกือบ 4,400 ครั้ง นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงเวลาปกติ เป็นสัญญาณว่าผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 อาจจะสูงกว่าที่ทางการรายงานมาก
ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกที่ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อราว 3,000 คน เเละยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 240 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่นถึง 10 ล้านคน
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา เผยว่ามีการฝังศพผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่า 438 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 2 มี.ค. ถึง 6 เม.ย. เเต่ตัวเลขของรัฐบาลกลับน้อยกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง โดยพบว่าผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อบางคนเสียชีวิตก่อนที่ผลตรวจจะออก ทำให้ต้องเร่งฝังศพตามมาตรการป้องกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและนักระบาดวิทยาให้ความเห็นว่า จำนวนการตรวจหาเชื้อที่ค่อนข้างต่ำและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ชี้ให้เห็นว่าอัตราการติดเชื้อที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก
ที่มา : Reuters / Jakarta coffin maker faces gruelling days as coronavirus death toll climbs