กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่าจะปรับลดกำลังผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด
มาตรการชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง และราคาร่วงดิ่งเหว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาติผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก รวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมันจากหินดินดาน (shale) ในสหรัฐฯ ที่เสี่ยงต่อปัญหาราคาตกต่ำมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
กลุ่มโอเปกพลัสมีมติเห็นพ้องให้ลดกำลังผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราวๆ 10% โดยจะมีผลในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. หลังใช้เวลาเจรจาต่อรองกันนานถึง 4 วัน และยังถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กดดันให้เร่งแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ
มติครั้งนี้ถือเป็นการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุด มากกว่าเมื่อช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ถึง 4 เท่า และแม้ว่าผู้ผลิตจะทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป แต่กำลังการผลิตก็จะยังต่ำกว่าปกติไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน เม.ย. ปี 2022
“ข้อตกลงน้ำมันที่ยิ่งใหญ่กับโอเปกพลัสสำเร็จลุล่วงแล้ว และมันจะช่วยปกป้องงานหลายแสนตำแหน่งในอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ” ทรัมป์ ทวีตข้อความ พร้อมกล่าวขอบคุณประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดข้อตกลงนี้ขึ้น
การระบาดใหญ่ (pandemic) ของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงราว 1 ใน 3 ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวตคาดการณ์ว่า ท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงของโอเปกพลัสอาจทำให้กำลังผลิตทั่วโลกหายไปถึง 20 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากผู้ผลิตที่อยู่นอกกลุ่มก็คงจะช่วยลดกำลังผลิตด้วยส่วนหนึ่ง
เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุฯ บอกกับรอยเตอร์ว่า ยอดการผลิตที่ลดลงอย่างแท้จริงในกลุ่มโอเปกพลัสอาจสูงถึง 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวตมีแนวโน้มว่าจะลดกำลังการผลิตลงอีก ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกอย่างบราซิล, แคนาดา, อินโดนีเซีย, นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา ก็คาดว่าจะลดกำลังผลิตของตัวเองลงประมาณ 4-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ได้ข่มขู่ซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มโอเปกว่าจะรีดภาษีน้ำมันและใช้บทลงโทษอื่นๆ หากไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำมันล้นตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐฯ ด้วย
ข้อตกลงลดกำลังผลิตของโอเปกพลัสฉบับก่อนหน้านี้ต้องล่มไป หลังเกิดข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับซาอุดีอาระเบียจนนำมาสู่สงครามตัดราคา ซึ่งส่งผลให้น้ำมันล้นตลาดในช่วงที่อุปสงค์ทั่วโลกร่วงดิ่งเหวจากมาตรการล็อกดาวน์