วงการ “สาเกบริวเวอรี่” ของญี่ปุ่นกำลังถึงจุดเปลี่ยน เพราะนาทีนี้กลุ่มโรงผลิตเหล้าสาเกกำลังเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อผลิตเหล้าพิเศษที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูงกว่าปกติ สินค้ากลุ่มนี้สามารถนำไปใช้ทดแทนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ที่กำลังขาดตลาดอย่างหนักในยุค COVID-19
ภาวะแอลกอฮอล์ขาดตลาดนั้นไม่ต่างจากสินค้ากลุ่มหน้ากากอนามัย ซึ่งขาดแคลนอย่างหนักในช่วงการระบาดของโควิด แอลกอฮอล์ที่หายากและราคาแพงสร้างความเดือดร้อนในหลายอุตสาหกรรม แม้แต่กลุ่มสัตวแพทย์ไทยก็ยังต้องหยิบยืมแอลกอฮอล์ที่เตรียมไว้ใช้กับสัตว์มาใช้ในครัวเรือนก่อน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเหล้าสาเก ประธานบริษัท Kikisul Sake Company ยอมรับว่าแปลกใจกับจำนวนคำสั่งซื้อมหาศาลที่ได้รับมาในขณะนี้ ซึ่งหลังจากเริ่มเปิดจำหน่ายจริงในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ ออเดอร์สาเกรุ่นพิเศษนี้ทะลุเกิน 10,000 รายการไปเรียบร้อย
เปิดสายการผลิดเต็มสูบ
สาเกรุ่นพิเศษนี้ถูกเรียกว่า High-alcohol-content liquid หรือของเหลวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูง Kazuki Haruta ประธาน บริษัท Kikisui Sake ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดโคชิ กล่าวว่าของเหลวรุ่นใหม่ที่บริษัทกำลังเร่งผลิตนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ 77% ซึ่งการตัดสินใจผลิตนั้นเป็นผลจากการพิจารณาว่า Kikisui Sake สามารถมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับไวรัสได้อย่างไรบ้าง
Kikisui Sake มีจุดเด่นเรื่องวัตถุดิบครบเครื่อง และโรงกลั่นสุราที่มีอยู่ เมื่อตัดสินใจเปิดสายการผลิตสินค้าใหม่และเริ่มวางจำหน่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Kikisui Sake ก็ได้รับยอดสั่งซื้อเกิน 10,000 รายการจากทั่วประเทศ คำสั่งซื้อบางส่วนมาจากโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แม้ว่าในช่วงแรก Kikisui Sake จะวางเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ผู้บริโภคทั่วไป
ความสนใจใช้สาเกพิเศษที่มีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์สูงมากแทนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อนั้นเกิดขึ้นทันทีที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 63 ว่าสถานพยาบาลสามารถใช้เหล้าแอลกอฮอล์สูงแทนได้เมื่อเหล้านั้นมีแอลกอฮอล์ระหว่าง 70-83% แม้ว่าแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มจะเป็นคนละชนิดกัน แต่สามารถใช้เป็นทางเลือกได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแอลกอฮอล์ประเภทอื่น
เหตุผลที่ทำให้สาเกเข้มข้นสูงเป็นสารฆ่าเชื้อได้ คือเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมที่ใช้ในการฆ่าเชื้อนั้นมาจากน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นวัตถุดิบเดียวกันกับที่ใช้ในการหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ในเหล้าขาว เช่น สาเก รวมถึงเหล้าโชชูคุณภาพสูงของญี่ปุ่น ที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นต้องนำเข้าแอลกอฮอล์ 90% ที่ทำจากวัตถุดิบเช่นอ้อยในบราซิลหรือข้าวโพดจากสหรัฐอเมริกา แล้วกลั่นให้เป็นแอลกอฮอล์ 95%
จากนั้นผู้ผลิต sanitizer หรือน้ำยาฆ่าเชื้อจะซื้อแอลกอฮอล์นี้มาเจือจางความเข้มข้น ให้กลายเป็น 80% เพื่อป้องกันไม่ให้ระเหย ซึ่งบางรายจะเพิ่มสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวสำหรับการผลิตเป็นเจลฆ่าเชื้อสำหรับใช้กับมือ
หลายโรงงานเปลี่ยนทิศ
บริษัท Meirishurui ซึ่งเป็นโรงบริวเวอรี่ในเมืองมิโตะ จังหวัดอิบารากิ เป็นผู้ชิงเปิดจำหน่ายสุราเข้มข้นที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 65% ในวันที่ 6 เมษายน หลังจากได้รับคำขอให้เปลี่ยนมาผลิตของเหลวที่สามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ ด้านโรงกลั่น Wakatsuru ในจังหวัดโทยามะ ก็เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ 77% แล้ว ในขณะที่ บริษัท Seifuku Distillery Co. ในโอกินาว่าเริ่มจำหน่ายสุราท้องถิ่นที่มีแอลกอฮอล์เข้มกว่าเดิม ซึ่งนอกจากกลุ่มกลั่นสุรา ผู้ผลิตวิสกี้หลายรายก็เปลี่ยนมาผลิตสารฆ่าเชื้อ จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเช่นกัน
ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในวงการสาเกญี่ปุ่นมีหลายแง่มุม เพราะแม้ว่าอาจฟังดูง่ายในการเจือจางแอลกอฮอล์เข้มข้น แต่อุปกรณ์ในโรงงานต้องมีการอัปเกรดปรับปรุงในอนาคต เนื่องจากการผลิตสุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% หรือมากกว่าแบบจำนวนมาก (mass-produced) นั้นถือเป็นการผลิตสารอันตรายตามกฎหมายป้องกันอัคคีภัยของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ โรงกลั่นสุรายังสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีแรง หลังจากต้องเจรจากับรัฐบาลท้องถิ่นมานาน ประเด็นนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้เกมพลิกได้ ในเวลาที่ผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อตัวจริงก็กำลังเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่
Kenei Pharmaceutical Co. ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในโอซาก้านั้นเปิดสายการผลิตตลอดเวลา ในขณะที่ Kao Corp. ก็ประกาศเพิ่มกำลังการผลิต 20 เท่า ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีแผนให้เงินอุดหนุนกับหลายบริษัทเพื่อขยายและแก้ปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขายแอลกอฮอล์เกรดเชื้อเพลิง (fuel grade alcohol) ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และไม่ควรนำมาใช้แทนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเด็ดขาด.
Source
- https://www.industryglobalnews24.com/alcohol-over-sanitizersbreweries-flooded-with-orders
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/04/16/business/corporate-business/sake-breweries-strong-alcohol-sanitizers/#.XpkAzC-ca9Y