“นูทานิคซ์” เผย Work from Home ส่งยอดผู้ใช้โซลูชัน Virtual Desktop พุ่งสูงในเอเชีย

เช่นเดียวกับอีกหลายเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์ออฟฟิศทำงานจากบ้าน (Work from Home) ได้ราบรื่น โซลูชัน Xi Frame Virtual Desktop ของนูทานิคซ์ได้รับความสนใจสูงในช่วงการระบาด มีการเพิ่มดาต้าเซ็นเตอร์อีก 5 แห่งรวมเป็น 25 แห่งในภูมิภาคเอเชียเพื่อรองรับความต้องการ คาดได้รับผลเชิงบวกในระยะยาวจากความไม่แน่นอนของการระบาดไวรัส COVID-19

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ นูทานิคซ์ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีดีมานด์จากลูกค้าเพิ่มขึ้นมากจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายบริษัทต้องปรับการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานจากบ้านได้

โดยความสนใจจากลูกค้ารายใหม่ ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นแต่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย ก่อนหน้านี้นูทานิคซ์เปิดข้อมูลในเดือนมีนาคมว่าบริษัทเพิ่มการให้บริการบนดาต้าเซ็นเตอร์อีก 5 แห่ง กระจายอยู่ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย รวมทั้งภูมิภาคนี้มี 25 แห่งเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

ทวิพงศ์กล่าวว่า การปรับตัวมา Work from Home ทำให้เกิดปัญหาหนึ่งที่สำคัญของทุกบริษัทคือ ระบบไอทีต้องเตรียมอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ การเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ให้พร้อม ปกติแล้วบริษัทมักจะเลือกใช้โซลูชัน Virtual Desktop Interface (VDI) เพราะเป็นการจำลองหน้าจอ โปรแกรม ข้อมูลในระบบดาต้าบริษัท เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ที่พนักงานใช้ที่บ้าน

แต่ปัญหาของระบบ VDI แบบดั้งเดิมคือมักจะต้องลงทุนสูงเพราะสัญญาการใช้งานจะเป็นแพ็กเกจระยะยาว ใช้เวลานานในการติดตั้งและพนักงานที่ใช้งานมักจะพบปัญหาการล็อกอินเข้าเครือข่ายมีความหน่วง/ช้าจนปฏิเสธที่จะใช้งาน

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทยของนูทานิคซ์

ในขณะที่ปัญหาการระบาดในปัจจุบัน ไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน หรือถ้าหากการระบาดหยุดลง สามารถกลับไปทำงานในออฟฟิศได้ตามปกติแล้ว อนาคตจะเกิดการระบาดซ้ำอีกหรือไม่ ทำให้บริษัทคำนวณหรือวางแผนการลงทุนระบบ VDI ดั้งเดิมสำหรับ Work from Home ได้ยาก เพราะไม่ต้องการลงทุนระยะยาว

ทำให้โซลูชัน Xi Frame ซึ่งเป็นระบบ VDI บนเครือข่ายคลาวด์เข้ามาตอบโจทย์ เป็นระบบ DaaS ที่ดึงโปรแกรมและไฟล์งานจากบริษัทมาที่อุปกรณ์ของในบ้านพนักงานเช่นเดียวกัน แต่เปิดแพ็กเกจให้สมัครใช้งานเป็นรายเดือนได้ เปลี่ยนจำนวนบัญชีที่จะใช้งานในแต่ละเดือนได้ตามสถานการณ์ หรือยกเลิกการใช้ได้ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจนไม่ต้อง Work from Home อีก

อย่างไรก็ตาม Xi Frame มีข้อด้อยที่อาจเป็นอุปสรรคเช่นกัน คือพื้นฐานระบบข้อมูลของบริษัทต้องใช้งานคลาวด์อยู่ก่อนแล้วจึงจะใช้ VDI โซลูชันนี้ได้ (แนะนำให้ทำระบบคลาวด์พ่วงไปพร้อมกันหากต้องการใช้งาน) อีกส่วนหนึ่งคือ บริษัทที่ยังใช้งานโปรแกรมแบบเก่าที่ยังรันบน Windows 7 หรือ Windows 2003 อาจจะใช้งานบน Xi Frame ไม่ได้

ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์และการระบาดที่มีผลกระทบกับบริษัททุกขนาด ทวิพงศ์มองว่าไม่ได้มีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่สนใจเตรียมระบบฉุกเฉินเหล่านี้ไว้รองรับ แต่องค์กรขนาดกลางถึงเล็กที่มีบุคลากรไอทีจำกัดให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน