King Power ยันจ่ายเงินเดือนพนักงานครบ 12,000 คน แม้ปิดสาขา กางแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยว

Photo : Shutterstock
กลุ่มคิงเพาเวอร์ยืนยันจ่ายเงินเดือนพนักงานครบ 12,000 คน แม้ท่องเที่ยวฟุบ-สาขาถูกปิดหมด ยันไม่มีนโยบายเลิกจ้าง พร้อมทุ่มโครงการเพื่อสังคมอีกนับพันล้าน พร้อมเสนอ 7 ข้อ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย

กลุ่มคิง เพาเวอร์ เผยแพร่เนื้อหาเพื่อตอบจดหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกรณีที่ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2563 ออกแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ของครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” ซึ่งนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนะประภา ซีอีโอของกลุ่มได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 6 ของมหาเศรษฐีไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ระบุใจจดหมายตอบนายกรัฐมนตรีว่า

เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 บริษัทมีมาตรการสำหรับพนักงานด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานจำนวน 12,000 คน เต็มจำนวนตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และไม่มีนโยบายเลิกจ้างงาน แม้ว่าสาขาทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ จะถูกปิดทำการตามนโยบายความปลอดภัยของรัฐก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการแจกหน้ากากอนามัย และมาตรการคัดกรองโรคให้กับพนักงานอย่างเคร่งครัด มีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นมา ยังมีนโยบายทำงานที่บ้าน (Work from Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อจากการเดินทางอีกด้วย

กางโครงการเพื่อสังคมปี 63-65 ทุ่มนับพันล้าน

กลุ่มคิงเพาเวอร์ยังเปิดเผยถึงงบประมาณในโครงการเพื่อสังคมที่จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563-2565 รวมมูลค่ามากกว่า 1,400 ล้านบาท ประกอบไปด้วยโครงการด้านเยาวชน, ด้านสาธารณสุข, พัฒนาสังคมในด้านชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน, เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ และโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทย ทั้งนี้สามโครงการหลังถือเป็นโครงการใหม่ ที่ใช้เงินประมาณ 719.5 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กลุ่มคิงเพาเวอร์ยังมีข้อเสนอด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยที่หยุดชะงักจากวิกฤต COVID-19 จำนวน 7 ข้อดังนี้

1. ตั้งกองทุนเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว
2. จัดเตรียมประกันภัย Covid-19 สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย
3. การจัดคลัสเตอร์ กลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยว
4. การพัฒนาระบบ E-Visa on Arrival การตรวจคนเข้าเมืองและการบริหารจัดการสลอตการบิน
5. การพัฒนาองค์ความรู้การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีใหม่ (New Normal)
6. การพัฒนาซูเปอร์ แอปพลิเคชัน สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ
7. แก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอของมัคคุเทศก์สำหรับนักท่องเที่ยวบางสัญชาติ

Source