สำรวจ 9 ธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนวิกฤต COVID-19 ให้เป็นโอกาส

(Photo by Carl Court/Getty Images)
ไวรัส COVID-19 สะเทือนธุรกิจทั่วโลก ห้างร้านปิดตัว หลายธุรกิจต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ บางกิจการอาจต้องล้มละลาย ผู้คนมากมายตกงาน แต่ในญี่ปุ่นมีธุรกิจบางอย่างที่ได้โอกาสจากวิกฤตครั้งนี้หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน และเรียกร้องให้ผู้คนอยู่บ้านหยุดเชื้อ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ปิดทำการ ธุรกิจซบเซาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ยังมีธุรกิจบางอย่างที่โดดเด่นท่ามกลางวิกฤต COVID-19 

จักรยาน

ชาวญี่ปุ่นหันมาขี่จักรยานมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถไฟ ร้านขายจักรยานบอกว่า ลูกค้ามาซื้อและซ่อมจักรยานเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ในช่วงวันหยุดก็ต้องเปิดร้านให้บริการลูกค้า

ธุรกิจให้ยืมจักรยานก็คึกคักเช่นกัน Docomo Bike Share ซึ่งมีสมาชิกกว่า 750,000 คน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายน จำนวนสมาชิกใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ทางบริษัทระบุว่า ถึงแม้จำนวนสมาชิกรวมจะลดลงเล็กน้อยจากที่ผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้านหยุดเชื้อ แต่มีอัตราการเติบโตของสมาชิกใหม่ ซึ่งมีทั้งคนที่เช่าจักรยานเพื่อใช้ส่งสินค้า และคนที่ขี่จักรยานไปทำงานเพราะทำงานที่บ้านไม่ได้

พนักงานบริษัทคนหนึ่งบอกว่า งานของเขาเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลจึงทำงานที่บ้านไม่ได้ แต่เขาไม่อยากขึ้นรถไฟที่ยังคงมีผู้คนหนาแน่นอยู่ จึงเลือกเช่าจักรยานขี่ไปทำงาน เขาเลือกเช่าจักรยานไฟฟ้าที่ช่วยผ่อนแรงในการขี่ และไม่ต้องห่วงเรื่องการหาที่จอดจักรยาน เขาใช้เวลาขี่จักรยานจากบ้านถึงออฟฟิศเพียง 45 นาที เร็วกว่าที่เคยเดินทางด้วยรถไฟที่ใช้เวลา 50 นาที

บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่เคยห้ามพนักงานขี่จักรยานมาทำงาน ด้วยเหตุผลความปลอดภัย ได้เปลี่ยนกฎอนุญาตให้ขี่จักรยานมาทำงานได้ แต่ต้องมีการป้องกันความปลอดภัย เช่น สวมหมวกนิรภัย ทำประกันภัยอุบัติเหตุ รวมทั้ง สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาด้วย

ภาชนะใส่อาหาร

ร้านอาหารในญี่ปุ่นปกติแล้วไม่ให้นำอาหารกลับไปกินที่บ้าน เพราะเหตุผลเรื่องสุขอนามัย ร้านต้องรับผิดชอบหากลูกค้านำอาหารกลับไปกินแล้วท้องเสีย แต่วิกฤต COVID-19 ทำให้ร้านอาหารในญี่ปุ่น ต้องปรับตัวมาขายอาหารแบบ Take out หรือ Delivery

ผลพวงจากเรื่องนี้ ทำให้มีความต้องการภาชนะบรรจุอาหารเพิ่มขึ้นมาก เป็นธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสโรคระบาด

ส่งอาหาร และสินค้า

เมื่อผู้คนอยู่บ้านหยุดเชื้อ ร้านอาหารและร้านค้าไม่สามารถให้บริการได้เหมือนปกติ การสั่งอาหารและสินค้าทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญ คนที่ว่างงานหลายคนก็ผันตัวมาขี่จักรยานส่งสินค้า หารายได้ประทังชีวิตในช่วงนี้

ผู้ประกอบการรายใหญ่ในญี่ปุ่น คือ UBER eats ระบุว่า คนส่งสินค้าจะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยราว 500 เยนต่อครั้ง (ราว 150 บาท) ซึ่งอาจน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองใหญ่ที่ 1,000 เยนต่อชั่วโมง แต่ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ถือว่าดีกว่าไม่มีงานเลย คนที่ไม่มีจักรยานก็สามารถเช่าจักรยานมาใช้ส่งของ และยังได้ออกกำลังกายด้วย

ท้องถนนในญี่ปุ่นโล่งว่างจากที่ผู้คนลดการออกนอกบ้าน แต่ขวักไขว่ด้วยคนที่ขี่จักรยานส่งอาหาร รวมทั้งรถขนส่งสินค้าของบริษัทต่างๆ ที่ได้อานิสงส์จากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ซูเปอร์มาร์เก็ต และอาหาร

ซูเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้คนที่เคยทานอาหารนอกบ้านต้องหันมาทำอาหารเองที่บ้าน ถึงแม้ในช่วงแรกของการประกาศภาวะฉุกเฉิน ชาวญี่ปุ่นจะแห่ไปซื้อสินค้ากักตุน หลายแห่งเติมสินค้าไม่ทัน แต่ญี่ปุ่นก็ไม่เผชิญกับการขาดแคลนอาหารเลย

ทางการญี่ปุ่นขอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น จำกัดจำนวนลูกค้าในช่วงเวลาหนาแน่น ฆ่าเชื้อตะกร้า และรถเข็น เว้นระยะห่างระหว่างลูกค้าที่รอชำระเงิน ติดตั้งแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างลูกค้ากับแคชเชียร์ รวมทั้งขอให้แต่ละครอบครัวออกไปซื้อของเพียงคนเดียว และไปซื้อสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

สินค้าที่ขายดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ซึ่งสะดวกในการปรุงสำหรับเด็กๆ ที่ต้องอยู่บ้าน นัตโตะและกิมจิที่เชื่อว่ามีจุลินทรย์ที่เพิ่มภูมิต้านทาน รวมทั้งสุรา เพราะญี่ปุ่นไม่มีมาตรการจำกัดการซื้อสุราเหมือนไทย หากแต่ก็มีความกังวลเช่นกันว่า การอยู่บ้านทำให้ปริมาณการบริโภคสุราเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพและอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว

ร้านขายผ้า

การขาดแคลนหน้ากากอนามัยในญี่ปุ่น ทำให้บรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นตัดเย็บหน้ากากอนามัยไว้ใช้เอง ส่งผลให้ด้าย ผ้า และอุปกรณ์ตัดเย็บขายดีอย่างมาก ฟูจิกซ์ ผู้จำหน่ายสิ่งทอรายใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มียอดขายเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัว โดยเฉพาะด้ายและผ้าสีขาวขาดตลาดมานานแล้ว ตัวแทนขายของทางบริษัทระบุว่า ได้ยินมาว่าโรงเรียนและที่ทำงานบางแห่งออกกฎให้ใช้หน้ากากอนามัยสีขาวเท่านั้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองต่างบ่นว่า หาซื้อด้ายและผ้าสีขาวไม่ได้

การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

ญี่ปุ่นถือ “เงินสดเป็นพระเจ้า” ถึงแม้ระบบการเงินผ่านแอปพลิเคชันจะแพร่หลายในหลายประเทศ แต่ร้านค้าจำนวนมากในญี่ปุ่นยังรับเฉพาะเงินสด บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง 7-11 เคยนำระบบชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันมาใช้ แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ก็ตัดสินใจยุติระบบ

การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นเริ่มแพร่หลายอย่างช้าๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และเกาหลีใต้ ที่ต่างจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก ในปี 2561 การใช้จ่ายแบบ “ไร้เงินสด” ในญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียงแค่ 24%

แต่ไวรัส COVID-19 ทำให้หลายคนหวาดหวั่นเชื้อโรคที่อาจแพร่ผ่านเงินสด การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับหลังจากขึ้นภาษีผู้บริโภคเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินอุดหนุนธุรกิจต่างๆ ติดตั้งระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด และให้ส่วนลด 2% และ 5% กับลูกค้าที่จ่ายค่าสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันชำระเงินบางรายก็บวกส่วนลดให้เพิ่มอีกต่อหนึ่ง วิกฤตโควิดผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว

เกม และธุรกิจออนไลน์

เมื่อผู้คนอย่บ้านหยุดเชื้อ กิจกรรมส่วนใหญ่จึงอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งการช้อปปิ้ง เรียนหนังสือผ่านหน้าจอ ดูหนังฟังเพลง จนถึงบทเรียนทำอาหาร ออกกำลังกายที่นำเสนอในเว็บไซต์ ชาวญี่ปุ่นที่เคยสังสรรค์ดื่มกินหลังเลิกงาน ก็กันมา “นัดสังสรรค์ออนไลน์” ด้วยเช่นกัน

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนปริมาณการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนบริษัทต้องเพิ่มความเร็วและเสถียรภาพของการรับส่งข้อมูลเพื่อรองรับ มหาวิทยาลัยหลายแห่งให้เงินสนับสนุนกับนักศึกษา 50,000-100,000 เยนเพื่อเป็นค่าอินเทอร์เน็ตในการเรียนผ่านระบบออนไลน์

เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่าง Amazon Japan, Rakuten, mercari ต่างมียอดสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ที่ต้องปิดร้านจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็หันมาจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์เช่นกัน

เครื่องเล่นเกมอย่าง Nintendo Switch ขายดิบขายดี จนสินค้าขายตลาด เนื่องจากผู้คนซื้อหาไปเล่นในช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน

คอมพิวเตอร์

วิกฤต COVID-19 ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องทำงานและเรียนหนังสือที่บ้าน แต่หลายคนไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เพราะท่องโลกออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ผู้คนจึงหาซื้อคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นด้วยความจำเป็นในการใช้งาน ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ต่างระบุว่า คอมพิวเตอร์ขายดีจนขาดตลาด เนื่องจากมีความต้องการซื้อจำนวนมาก แต่สินค้าผลิตไม่ทันเพราะขาดแคลนชิ้นส่วนจากประเทศจีน ที่ห่วงโซ่อุปทานติดขัดจากการระบาดของไวรัส

ขณะเดียวกัน ธุรกิจซ่อมและทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ก็มีลูกค้าไม่ขาดสายเช่นกัน มีทั้งลูกค้าที่นำคอมพิวเตอร์มาฆ่าเชื้อ และนำคอมพิวเตอร์เก่ามาอัปเกรด เพราะหาซื้อเครื่องใหม่ไม่ได้

ร้านหนังสือ

ไม่เพียงแต่โลกออนไลน์คึกคักยามโควิด แต่ชาวญี่ปุ่นที่เก็บตัวอยู่บ้านก็ใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ร้านหนังสือหลายแห่งไม่สามารถเปิดบริการได้ แต่กาารขายหนังสือทางออนไลน์คึกคักอย่างมาก หลายร้านบอกว่ายอดขายหนังสือดีกว่าช่วงเวลาปกติด้วยซ้ำ

ไวรัส COVID-19 สร้างวิกฤตรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่วิกฤตนี้ก็เป็นโอกาสให้สังคมอนุรักษ์นิยมอย่าง ญี่ปุ่น ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด ทั้งรูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิต