ซาอุฯ จ่อเก็บ VAT เพิ่มจาก 5% เป็น 15% หลังพิษราคาน้ำมัน พ่วง COVID-19 ทำศก.ทรุด

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)
ซาอุดีอาระเบียเตรียมปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และงดจ่ายเบี้ยเลี้ยงรายเดือนให้แก่พลเมือง โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เริ่มซวนเซจากพิษราคาน้ำมันตกต่ำ และการระบาดของไวรัส COVID-19

สื่อรัฐบาลซาอุฯ รายงานว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านริยัล หรือประมาณ 857,000 ล้านบาท

มาตรการรัดเข้มขัดคราวนี้คาดว่าจะสร้างความไม่พอใจต่อพลเมืองซาอุฯ ซึ่งเผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว และอาจทำให้โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของริยาด รวมถึงแผนการซื้อสโมสรฟุตบอล “นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด” ของกองทุนความมั่งคั่งแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะระงับเงินอุดหนุนค่าครองชีพตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2020 และจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 15% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป” สำนักข่าว SPA อ้างคำแถลงของ โมฮัมหมัด อัล-ญาดาน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังซาอุฯ

ญาดาน ยืนยันว่า มาตรการเหล่านี้จำเป็นต่อการเสริมสภาพคล่องให้กับรัฐบาล ซึ่งกำลังเผชิญทั้งปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำและวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกลดลง

รัฐบาลยังจะยกเลิก ขยายเวลา หรือเลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณของบางหน่วยงานออกไปก่อน รวมถึงตัดงบประมาณบางโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูป “Vision 2030’ ที่มุ่งสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับยุคที่น้ำมันหมดไป

ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในโลกอาหรับ ได้สั่งปิดโรงภาพยนตร์และร้านอาหาร, ระงับเที่ยวบิน และยังงดการประกอบพิธีอุมเราะห์ที่นครเมกกะ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งเวลานี้มีผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศแล้วกว่า 39,000 ราย

รัฐบาลซาอุฯ เริ่มเก็บภาษีสินค้า และบริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018 ในอัตรา 5% เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่รัฐ ขณะเดียวกันก็จ่าย “เงินอุดหนุนค่าครองชีพ” ให้แก่พลเมืองรวมมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ รายได้จากมาตรการรัดเข็มขัดคาดว่าจะยังไม่พอแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณของซาอุฯ ซึ่งบริษัทลงทุน Jadwa Investment ประเมินว่าอาจจะสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) ในปีนี้

Source