จับชีพจรบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกกลางวิกฤต COVID-19 มีทั้งคนที่ “รอด” และคนที่ “ร่วง”

(Photo by Mario Tama/Getty Images)
วิกฤตโรคระบาดไวรัส COVID-19 สำแดงฤทธิ์ในรายงานผลประกอบการบริษัทไตรมาสแรก โดยบริษัทระดับโลกถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ยังดำเนินงานต่อได้แถมยังทำรายได้พุ่งทะยาน กับกลุ่มบริษัทที่ต้องกัดฟันสู้

สำนักข่าว CNN รายงานสถานการณ์บริษัทในตลาดหุ้น หลังทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2020 พบว่าธุรกิจบางประเภท ได้แก่ ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจเทคโนโลยี สามารถทำรายได้พุ่งทะยานแม้จะมีคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน

ธุรกิจคลาวด์ของ Microsoft เติบโตติดจรวดจนมีผู้ใช้เฉลี่ย 75 ล้านคนต่อวัน ขณะที่บริษัทยา Eli Lilly ได้อานิสงส์เมื่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ อนุญาตขึ้นทะเบียนยารักษามะเร็งตัวใหม่ของบริษัท

แต่ทว่า กลุ่มที่ใหญ่กว่าคือ บริษัทที่ไม่มีลูกค้าจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือดีมานด์สินค้าหดตัวอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น Disney ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิง และ Marriott เชนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งคู่ต่างรายงานผลกำไรดิ่งเหว หลังจากสวนสนุกและโรงภาพยนตร์ถูกปิดทำการ รวมถึงการท่องเที่ยวถูกจำกัด แถมยังประเมินว่าอนาคตจะยังมีความท้าทายต่อไป

Hua Hin Marriott Resort and Spa
เชนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก Marriott รายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 หดตัวรุนแรงถึง 92% จากโรคระบาดไวรัส COVID-19 หยุดการท่องเที่ยว

“การฟื้นตัว (ทางเศรษฐกิจ) จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันทุกภูมิภาค และไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน” อาร์น โซเรนสัน ซีอีโอแห่ง Marriott กล่าวกับนักวิเคราะห์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “มันอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่พวกเราต้องการ”

หนทางข้างหน้ายังคงไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับทั้ง 2 กลุ่มบริษัท เพราะการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ยากที่จะวางแผนอนาคต แต่สำหรับบริษัทที่ไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้ในวิกฤตครั้งนี้ เส้นทางไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการเสี่ยงดวงว่าจะออกหัวหรือก้อย

 

บริษัทที่ยังยิ้มได้

กลุ่มบริษัทที่เห็นได้ชัดว่ารอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้คือ บริษัทเทคโนโลยี แน่นอนว่าพวกเขาเผชิญความท้าทายบางประการเช่นกัน เช่น การขาดแคลนซัพพลายเชน แต่ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจกลุ่มนี้ได้อานิสงส์จากการทำงานทางไกลที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้การใช้งานออนไลน์สูงขึ้นตาม เข้าทางกลุ่มบริษัทเทคฯ ที่พัฒนาสินค้าและบริการตอบโจทย์เหล่านี้อยู่แล้ว

Google และ Facebook ต่างทำยอดขายโฆษณาออนไลน์ได้ตามเป้าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Google รายงานรายได้ Q1/20 อยู่ที่ 4.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Facebook รายงานรายได้ 1.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ฝั่ง Netflix มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 16 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี และทำกำไรเพิ่มมากกว่าเท่าตัวเทียบช่วงเดียวกันของปี 2019 ฟากบริษัทเกม Nintendo ทำกำไรในรอบบัญชีที่ปิดเมื่อเดือนมีนาคม 2020 สูงขึ้น 41% จากความสำเร็จล้นหลามของเกม Animal Crossing และการขายเครื่อง Nintendo Switch

Netflix คือหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นในวิกฤต COVID-19 โดยมียอดสมัครสมาชิกเพิ่ม 16 ล้านรายภายในไตรมาสเดียว

กระนั้นเอง สถานการณ์ไวรัส COVID-19 จะเริ่มกระทบบริษัทที่ยังยิ้มได้เหล่านี้ในไม่ช้า ตัวอย่างเช่น Netflix แม้จะถ่ายทำคอนเทนต์สำหรับฉายในปี 2020 ไปเกือบหมดแล้ว แต่สำหรับการถ่ายทำคอนเทนต์ที่จะฉายปี 2021 นั้นเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

Amazon ที่มียอดเดลิเวอรี่สูงขึ้นมาก บริษัทกล่าวว่า หากบริษัททำยอดขายได้เท่านี้ในช่วงเวลาปกติ Amazon จะมีกำไร 4 พันล้านเหรียญภายในไตรมาสแรก แต่ เจฟฟ์ เบโซ ซีอีโอบริษัทกล่าวว่า กำไรทั้งหมดนั้นหรืออาจจะมากกว่านั้นจะต้องถูกนำกลับไปลงทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เกี่ยวเนื่องไวรัส COVID-19 เช่น อุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสให้กับพนักงาน กระบวนการทำความสะอาดคลังสินค้า

ในทำนองเดียวกัน Tesco เชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรับมือไวรัสอาจพุ่งไปแตะ 650 ล้านปอนด์หากการล็อกดาวน์เกิดขึ้นระยะยาวถึง 12 สัปดาห์ เพราะบริษัทต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานเพิ่ม บริหารการกระจายสินค้า ค่าใช้จ่ายการทำความสะอาดและซ่อมบำรุง

แต่อย่างน้อยๆ บริษัทเหล่านี้ก็มีรายได้เข้ามาให้บริหาร…

 

บริษัทที่ต้องเอาตัวรอด

ตัดภาพมาอีกกลุ่มบริษัทหนึ่งอย่าง สายการบิน โรงแรม เสื้อผ้าแฟชั่น ฯลฯ ช่องทางหารายได้ของพวกเขาถ้าไม่ถูกปิดโดยสมบูรณ์ก็มีมาตรการจำกัดอย่างรุนแรง บริษัทเหล่านี้ก้าวเข้าสู่โหมดเอาตัวรอดไปแล้วและกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อรักษากระแสเงินสด

“ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เราก็ถูกหยุดทุกอย่าง” ไมเคิล ราปิโน ซีอีโอบริษัท Live Nation ผู้จัดอีเวนต์ กล่าวกับนักวิเคราะห์เมื่อสัปดาห์ก่อน “เราไม่ได้จัดคอนเสิร์ตแม้แต่ครั้งเดียวมาเกือบสองเดือนแล้ว”

Disney ต้องปิดทำการสวนสนุกทั่วโลก และต้องเลื่อนการฉายภาพยนตร์ Mulan ออกไป (photo: Disney World)

Disney บริษัทยักษ์ใหญ่เผชิญปัญหากำไรดิ่งลงถึง 91% ในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากบริษัทถูกบังคับปิดทำการสวนสนุกและรีสอร์ต รวมถึงต้องดีเลย์การเปิดฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Mulan ออกไปก่อน

บ๊อบ ไอเกอร์ ประธานบริหาร Disney ยังมองในแง่บวกว่าถ้าหากวิกฤตจบลงเมื่อไหร่ เขามั่นใจว่าผู้บริโภค “จะกลับมาทำกิจกรรมที่คุ้นเคย” แต่สำหรับตอนนี้ บริษัทยังอยู่ในช่วงที่บีบคั้น

Marriott มีสถานการณ์ไม่ต่างกันนักด้วยกำไรที่ลดลง 92% รายได้เฉลี่ยต่อห้องลดลงไป 90% ในเดือนเมษายน โดยที่ 1 ใน 4 ของโรงแรมในเครือทั่วโลกยังคงปิดทำการ

สำหรับธุรกิจแฟชั่นได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนมีการล็อกดาวน์ทั่วโลก เพราะผู้บริโภคเริ่มระมัดระวัง ใช้จ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็นทำให้ดีมานด์ลดลงอยู่แล้ว จนกระทั่งการทยอยเว้นระยะห่างทางสังคมก็เริ่มที่การปิดศูนย์การค้าก่อน บางบริษัทในสหรัฐฯ ที่ไม่แข็งแรงพอ เช่น J.Crew และ Neiman Marcus นั้นยื่นขอล้มละลายไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

 

“ดาวร่วง” มีมากกว่า “ดาวรุ่ง”

สรุปรวมแล้ว ผลประกอบการไตรมาสแรกชี้ชัดว่าบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในภาวะยากลำบากมากกว่ากลุ่มบริษัทที่กำลังเติบโต โดยกลุ่มบริษัทใน S&P 500 มีการรายงานผลประกอบการแล้ว 430 บริษัท ในจำนวนนี้มีเพียง 10% ที่ปรับคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาสสองขึ้นอีก ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

“ทุกคนได้รับผลกระทบเชิงลบจากสิ่งที่เกิดขึ้น คำถามมีเพียงว่า ‘หนักแค่ไหน?'” ปีเตอร์ บุ๊กวาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจาก Bleakley Advisory Group กล่าว

สายการบิน : กลุ่มธุรกิจที่เผชิญวิกฤตหนักที่สุดจากโรคระบาดครั้งนี้ (Photo by Paula Bronstein/Getty Images)

บริษัทส่วนมากพยายามอยู่กับความเป็นจริง หลายบริษัทส่งสัญญาณประเมินสถานการณ์แล้วว่า ธุรกิจของตนคงไม่ฟื้นตัวเร็วนัก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจที่ถูกตัดช่องทางหารายได้แทบจะสิ้นเชิง เช่น สายการบิน จำเป็นต้องกลับมาดำเนินธุรกิจให้ได้ในเร็วๆ นี้ มิฉะนั้นการปลดพนักงานจะยิ่งพุ่งสูงและการลดขนาดองค์กรในช่วงที่ผ่านมาจะกลายเป็นสิ่งถาวร แต่จะยังไม่ใช่การเปิดธุรกิจอย่างเต็มที่ เพราะหลายบริษัทยังคงระมัดระวังเรื่องการระบาดซ้ำ ซึ่งจะสร้างบาดแผลให้ธุรกิจเป็นระลอกที่สองและอาจจะมากเกินกว่าที่บริษัทรับได้ไหว

เมื่อการคลายล็อกดาวน์เริ่มบังคับใช้ สถานที่ต่างๆ อย่างศูนย์การค้า โรงแรม ร้านค้า จะมีบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แผงพลาสติกจะกั้นกลางระหว่างลูกค้ากับพนักงานร้าน และทุกประตูจะมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิรออยู่ แต่นั่นคงเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดแล้วสำหรับหลายๆ บริษัท

Source