ธุรกิจสายการบินทั่วโลกกำลังเเขวนอยู่บนเส้นด้าย บางเเห่งเจอวิกฤตหนักถึงขั้นเสี่ยงล้มหายตายจาก เมื่อการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนยุคใหม่จะ “ไม่เหมือนเดิม” เเม้จะผ่านวิกฤตนี้ไปเเล้วก็ตาม
ผลกระทบของ COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนเเปลงสังคม จนเกิดปรากฏการณ์ New Normal วิถีชีวิตเเบบใหม่ที่เห็นได้ชัดคือ การลดการสัมผัสระหว่างบุคคลและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างการซื้อของออนไลน์สั่งอาหารจากเดลิเวอรี่ หรือการต้อง Work from Home ประชุมออนไลน์ ไปจนถึงสวดมนต์ออนไลน์ ตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลชาติต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องงดการเดินทางทั้งในเเละนอกประเทศ
สายการบินต้องดิ้นรน “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่เเบบไม่เคยมีมาก่อน เพื่อต่อลมหายใจให้อยู่รอด เเม้ทางออกจะยังไม่ชัดเจนเเต่การได้กลับมาเริ่มบินอีกครั้ง เเม้จะต้องเปิดให้บริการเเค่ “บางเส้นทาง” เเต่ก็เป็น “โอกาสเดียว” ที่จะต้องคว้ามันไว้ให้ได้
เราจึงจะได้เห็นมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายการบินต่างๆ ข้อปฏิบัติใหม่ๆ ที่จะกลายเป็น New Normal ในอนาคต ซึ่งถ้าโชคดีก็เป็นเเบบชั่วคราว แต่ถ้าโชคร้ายการเดินทางของเราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
Low-Cost ที่ราคาไม่ Low
การที่ธุรกิจสายการบินนำมาตรการ Social Distancing มาใช้นั้นทำให้ราคาตั๋วเครื่องบิน “เเพงขึ้น” อย่างเเน่นอน เมื่อต้องมีการ “เว้นที่นั่ง” ให้ผู้โดยสารนั่งโดยมีระยะห่างจากกันคงเหลือแต่ตั๋วสำหรับที่นั่งติดริมทางเดิน และที่นั่งริมหน้าต่างเท่านั้น
สายการบินต้นทุนต่ำหรือ Low-Cost Airlines ที่ต้องอาศัยการมีจำนวนผู้โดยสารเยอะ เพื่อให้ได้ขายตั๋วราคาถูก ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่นี้โดยตรง เพราะจำนวนที่นั่งของสายการบินต่างๆ จะหายไปราว 30-40% อย่างเช่น Jetstar Asia ที่กลับมาให้บริการอีกครั้งในบางเส้นทาง เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีผู้โดยสารไม่เกิน 112 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน หรือมีผู้โดยสารเพียง 60% อีกทั้งยังต้องหยุดบินในบางเส้นทางต่อไป
สำหรับในประเทศไทย ณ ตอนนี้ (12 พ.ค.) มีสายการบินกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางภายในประเทศเเล้วจำนวน 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท ทั้งหมดก็มีมาตรการ “เว้นที่นั่ง” เช่นกัน
ในเส้นทางการบินระยะใกล้ๆ สายการบินต้องดเสิร์ฟน้ำและอาหาร เพื่อให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ที่นั่งในส่วนท้ายจึงสงวนเอาไว้ เพื่อสร้างระยะห่างให้กับผู้โดยสารบางคนที่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อทานยาเพราะมีปัญหาสุขภาพ
เนื่องจากการปรับลดจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทำให้ต้นทุนการขนส่งของสายการบินเพิ่มขึ้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จึงออกข้อกำหนดว่า หากสายการบินจะมีการปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารก็สามารถทำได้ แต่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กิโลเมตร ซึ่ง Low-Cost ส่วนใหญ่จำหน่ายบัตรโดยสารราคาต่ำ เพียง 4-5 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น หมายถึงสามารถปรับขึ้นราคาได้ 100% หรือไม่เกินเพดาน 9.40 บาท แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนัก เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางไม่มาก คนที่อาจจะได้รับผลกระทบจะเป็นเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเท่านั้น
จากการสำรวจราคาตั๋วเที่ยวบินในประเทศไทยที่เริ่มเปิดบินตั้งเเต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เส้นทางอุบลราชธานี-ดอนเมือง ราคาตั๋วเฉลี่ยของสายการบินต่างๆ จะอยู่ที่ราว 1,400 – 2,500 บาท (ตามระยะการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์) เเพงขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ตอนนั้นเเข่งราคากันอย่างมาก ซึ่งจะมีตั๋วโปรโมชันออกมาในราคาเริ่มต้นเเค่ 500-800 บาท หรือตั๋วปกติจะอยู่ที่ราว 1,000 -1,300 บาท
นอกจากนี้ ทางท่าอากาศยานจะมีการออกกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพิ่มระเบียบในการบริหารการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยมากขึ้นซึ่งอาจจะยังถูกบังคับใช้เเม้จะผ่านพ้นช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไปเเล้วก็ตาม เช่น
- การกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อใช้บริการ
- งดจำหน่าย รวมทั้งไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารเเละเครื่องดื่มบนเครื่อง
- กำหนดมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่รัดกุมร่วมกับท่าอากาศยาน การตรวจวัดอุณหภูมิที่ประตูขึ้นเครื่อง เเละหากพบว่าผู้โดยสารมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการไอ จาม หรือเข้าข่ายผู้ต้องเฝ้าระวัง สายการบินอาจจำเป็นต้องปฏิเสธการเดินทางนั้น
- จำกัดการนำของขึ้นเครื่อง เช่นการอนุญาตให้นำเฉพาะกระเป๋าถือหรือกระเป๋าคอมพิวเตอร์ น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัมขึ้นเครื่องได้ 1 ใบเท่านั้น โดยมีขนาดไม่เกิน สูง 40 ซม. X กว้าง 30 ซม. X ลึก 10 ซม.
ส่วนสัมภาระอื่นที่มีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม สามารถโหลดลงใต้ท้องเครื่องได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย - แนะนำให้ผู้โดยสารทุกคนเช็กอินด้วยตนเองผ่านเว็บ โมบาย หรือคิออสเช็กอิน เพื่อลดโอกาสสัมผัส สำหรับผู้โดยสารกับพนักงานผู้ให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม : เช็กให้ชัวร์ ! เตรียมตัวอย่างไร…ก่อนขึ้นเครื่องบินในประเทศ ช่วง COVID-19
ความหวังของสายการบิน Low-Cost ยังมีอยู่ เพราะมาตรการเว้นระยะห่างของที่นั่ง จะไม่ได้คงอยู่ตลอดไปในประเทศที่ควบคุมการเเพร่ระบาดได้ดีอย่างเช่นเวียดนาม ล่าสุดสายการบินต่างๆ ของเวียดนามได้รับอนุญาตให้ยกเลิกมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมบนเครื่องบินและการจำกัดจำนวนผู้โดยสารโดย มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เเม้จะไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างของที่นั่งเเล้ว เเต่จำนวนผู้โดยสารก็ไม่อาจฟื้นคืนมาได้ในระดับปกติ เป็นความท้าทายหลังวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มักจะมี “รายได้พิเศษ” จากบริการอื่นร่วมด้วย อย่างค่าโหลดกระเป๋า ค่าที่นั่งพิเศษ อีกทั้งจากเดิมก็มักจะใช้รันเวย์ไกลจากตัวอาคารเพราะค่าเช่าถูกกว่า เเละจัดสรรรถบัสเวียนรับผู้โดยสาร ต่อไปก็จะต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสาร การขนย้ายคนนานขึ้นก็ทำให้ต้องจอดบนรันเวย์นานขึ้นนั่นเอง
ยูนิฟอร์มใหม่ของชาวลูกเรือ
ชุดเเอร์โฮสเตสสวยงามที่เราคุ้นเคย ไม่เหมือนเดิมเเล้วในยามที่ไวรัส COVID-19 ระบาด บรรดาสายการบินต่างๆ ต้องจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันไวรัสให้เหล่าลูกเรือสวมใส่ ขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องใกล้ชิดกับผู้โดยสารจำนวนมาก
เเละก็สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อ AirAsia ในฟิลิปปินส์เปิดตัว “ยูนิฟอร์มใหม่” เป็น “ชุดกันไวรัส” สำหรับลูกเรือที่จะให้บริการผู้โดยสารในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (ชุด PPE) ดีไซน์โดยนักออกเเบบชื่อดังชาวฟิลิปปินส์ Puey Quiñones เน้นความทันสมัย มีสไตล์เข้ากับเเบรนด์ รักษาความปลอดภัยของลูกค้าและลูกเรือ เเละยังต้องใช้งานสะดวกเมื่อลูกเรือต้องเคลื่อนที่อยู่บนเครื่องบินตลอด
ขณะนี้เริ่มใช้แล้วกับ AirAsia ฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าต่อไปจะกำหนดให้ลูกเรือของสายการบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศสวมใส่ชุดป้องกันดังกล่าว รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
“เราได้ทำการทดสอบความเครียดของผู้สวมใส่ชุด PPE นี้ด้วย โดยถูกออกเเบบมาให้รู้สึกสบาย ไม่หนาเกินไปเเละไม่หนักมาก ฉันชอบที่มันมีความชิคเเละสปอร์ตอยู่ด้วยกัน คล้ายกับชุดนักเเข่งรถ F1 เป็นการผสมผสานระหว่างแฟชั่นและความปลอดภัย ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับสายการบินต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้” ผู้บริหาร AirAsia ฟิลิปปินส์กล่าว
เเม้ตอนนี้ในหลายสายการบินที่เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง จะยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนยูนิฟอร์มของลูกเรือให้เป็นชุด PPE เเต่ก็มีอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย Face Shield ถุงมือ ฯลฯ รวมไปถึงการทำความสะอาดเครื่องบินด้วยการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็น New Normal ของทั้งผู้ปฏิบัติงานเเละผู้โดยสาร เเละอาจจะต้องคงมาตรการนี้ไว้เเม้จะผ่านพ้นวิกฤตไวรัสไปเเล้วก็ตาม
ล้ำไปกว่าวัดไข้ คือตรวจ COVID-19 ก่อนขึ้นเครื่อง
การตรวจวัดไข้ก่อนขึ้นเครื่องดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไป เมื่อสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง Emirates เป็นสายการบินแรกในโลกที่ทำการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีตรวจเร็วหรือ Rapid Test รู้ผลภายใน 10 นาที ให้กับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ซึ่งเริ่มทำครั้งเเรกในเที่ยวบินระหว่างดูไบ-ตูนีเซียเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทย ให้ความเห็นว่า ชุดตรวจ Rapid Test เป็น “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5–7 วัน
ดังนั้นการตรวจ Rapid Test จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 -10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ที่สำคัญหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ โดยวิธีการตรวจที่ใช้เป็นมาตรการทางการแพทย์ทั่วโลก รวมถึงในไทยใช้อยู่ที่ได้ผลดีที่สุด และองค์การอนามัยโลกแนะนำ คือวิธีตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง โดยวิธีการตรวจที่ไวที่สุดคือ “การตรวจสารพันธุกรรม”
เเม้ชุดตรวจ Rapid Test จะไม่ได้เเม่นยำ 100% เเต่ก็สร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้อยู่ไม่น้อย การที่สายการบิน Emirates ลงทุนในมาตรการนี้จึงมีเเต่ได้กับได้ ทั้งการรักษาความปลอดภัย ดึงดูดผู้โดยสาร สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เเละสร้างความภักดีในเเบรนด์ช่วงวิกฤต
Emirates Airlines เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงมีผลประกอบการดีเเละมีกำไรต่อเนื่อง เเต่คาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในปีนี้อย่างแน่นอน โดย Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum ประธานเเละซีอีโอของบริษัท ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือนในการฟื้นตัว
รัฐอุ้ม-ไม่อุ้ม วัดชะตาสายการบิน
ธุรกิจการบินทั่วโลกกำลังเสี่ยง “ล้มละลาย” เมื่อการท่องเที่ยวเเละการเดินทางต้องหยุดชะงักจากการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เเม้สายการบินหลายเจ้าจะประสบปัญหาการเงินมาก่อนหน้านี้เเล้ว เเต่เมื่อต้องเจอมรสุมอันหนักหน่วงนี้เข้าไป จุดที่ “ยื้อต่อไม่ไหว” ก็มาถึง
เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์การบินในรอบ 100 ปี เมื่อ Avianca สายการบินของโคลอมเบีย ซึ่งเป็นสายการบินเก่าแก่อันดับ 2 ของโลกที่ก่อตั้งมาตั้งเเต่ปี 1919 ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในลาตินอเมริกา ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะ “ล้มละลาย” (Chapter 11) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา
การยื่นล้มละลายของ Avianca Airlines ครั้งนี้ เเม้จะมีปัญหาสะสมยาวนาน เเต่ก็สะท้อนถึงความท้าทายของธุรกิจสายการบินที่ไม่สามารถพึ่งพาการช่วยเหลือของรัฐหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เร็วพอ อย่างไรก็ตาม ทางสายการบินยังคงหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับ สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia ที่กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้พนักงานกว่าหมื่นคนเสี่ยงตกงานกะทันหัน
Virgin Australia พยายามยื่นขอให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ ในวงเงิน 888 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่รัฐบาลออสเตรเลีย “ปฏิเสธ” ด้วยเหตุผลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Virgin Australia เป็นสายการบินต่างชาติ
ตัวเเทนของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาเตือนว่า การล้มละลายของ Virgin Australia เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของวิกฤต ต่อจากนี้ 2-3 เดือน จะมีสายการบินล้มละลายอีกจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน มีหลายสายการบินที่ได้รับการ “อุ้ม” จากภาครัฐเพื่อต่อลมหายใจไปได้ อย่างเช่น Qantas สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 715 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
รวมถึง “Air France” สายการบินเเห่งชาติ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติเงินกู้ 7,000 ล้านยูโร ช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายใต้เงื่อนไขให้สายการบินปรับลดเที่ยวบินในประเทศลงบางส่วน ก่อนหน้านี้ บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านยูโรด้วย
ด้านสายการบินเเห่งชาติของไทยอย่าง “การบินไทย” ก็กำลังเป็นประเด็นการถกเถียงในสังคม มีการเเสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลอย่างดุเดือด ว่ารัฐควรเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ ขณะที่ปฏิบัติการกู้ชีพการบินไทย เริ่มเห็นรูปเห็นร่างกันบ้างแล้ว เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติหลังการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบ “แผน” แก้ไขปัญหาการบินไทยทั้งระยะสั้น และระยะยาว
อ่านรายละเอียด : เปิดปฏิบัติการกู้ชีพ “การบินไทย” ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย ทุ่มหมื่นล้านลดพนักงาน 6,000 คน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า ธุรกิจการบินทั่วโลกจะติดลบ 55% จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ขณะที่ยอดผู้โดยสายจะลดลงกว่า 48% ขณะที่รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงกว่า 67% เหลือเพียง 13.1 ล้านคน
สายการบินไหนจะรอดหรือจะร่วง ต้องวัดใจกันในมหาสงคราม COVID-19 …เเละเเม้จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ศึกใหม่อย่างการปรับตัวรับ New Normal ของการเดินทางที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็ท้าทายไม่เเพ้กัน