Kantar Worldpanel เปิดข้อมูลผลสำรวจผู้บริโภคคนไทยในช่วงเวลากักตัวจากช่วงล็อกดาวน์ประเทศจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าตอนนี้คนไทยอยากกลับไปทานอาหารที่ร้าน เลิกกักตุนอาหาร เพราะรู้แล้วว่าร้านค้าไม่ปิด
ทำอาหารมากขึ้น แต่อยากกลับไปทานที่ร้านแล้ว
ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดช่วงสงกรานต์ถูกยกเลิก ยิม บาร์ และสถานบันเทิงถูกบังคับให้ปิด ตามด้วยห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารในร้าน
โดยข้อมูลจาก Kantar Worldpanel (คันทาร์ เวิร์ลพาแนล) บริษัทด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก เผยว่า ตั้งแต่มีการห้ามรับประทานอาหารภายในร้านตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
- การจับจ่ายรายสัปดาห์สำหรับ Packaged Foods ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสูงถึง 40% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย สวนกับสินค้าประเภทอื่นๆ อย่าง Beverage Homecare และ Personal Care
- คนไทยทำอาหารที่บ้านมากขึ้น สินค้าเช่นปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่นิยม ขณะเดียวกันก็มีการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery มากขึ้น
จากการสำรวจในผู้บริโภค 1,638 ราย อายุระหว่าง 15 – 49 ปี อาศัยอยู่ใน Urban Thailand ระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน พบว่า
- ผู้บริโภคมากถึง 38% สั่งอาหารมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน
สอดคล้องกับข้อมูลจาก Google Trend ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม จำนวนการค้นหา “Delivery” มากกว่า “Restaurant” ทั้งนี้ทั้งนั้นกระแส Food Delivery อาจจะสั้น
79% ของผู้บริโภค รอไม่ไหวที่จะกลับไปทานอาหารในร้าน และจะลดความถี่ในการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery ลง
เมินกักตุนอาหาร
พฤติกรรมการซื้อจำนวนมาก หรือกักตุนจะไม่เกิดขึ้นอีก ผู้บริโภคเข้าใจดีว่าร้านขายของชำและร้านค้าปลีกยังคงเปิดให้บริการตามปกติ นอกจากนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการผ่อนคลายในการเปิดธุรกิจบางประเภทซึ่งรวมไปถึงร้านอาหาร ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการควบคุม Social Distancing และระยะเวลาเปิดทำการ ผู้บริโภคชาวไทยยังคงทำอาหารที่บ้านและสั่งอาหารจาก Food Delivery จนกว่าพวกเขาจะรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจเหมือนแต่ก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมในการรักษาหรือวัคซีนที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน
แบรนด์สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มจะยังคงได้รับผลประโยชน์จากการบริโภคที่บ้าน แพ็กขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมในระยะสั้น เนื่องจากสามารถแบ่งปันสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้ ในระยะยาวทุกแบรนด์จะต้องเข้าใจความหมายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครัวเรือน ซึ่งขนาดครัวเรือน 1 หรือ 2 คนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 45%
การระบาดของ Covid-19 อาจเปลี่ยนแปลงวิถีการจับจ่ายในระยะสั้น แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ “ความต้องการด้านสะดวกสบาย คุ้มค่าเงิน และคุณประโยชน์ทางสุขภาพและโภชนาการ”