การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ท้าทายองค์กรในทุกมิติ รวมถึงการบริหาร “พนักงาน” ในบริษัทด้วย เพราะสถานการณ์ไม่ปกติทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจเกิดความไม่มั่นคงของบริษัททำให้พนักงานหวั่นกลัว จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่ทุกบริษัทควรใส่ใจกับ “คน” ของตนเองให้มากที่สุด
SkillSolved บริษัทเอเจนซีจัดหาบุคลากร จึงชวน บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด (Wongnai) และ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยถึงการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรช่วง COVID-19 ระบาดเป็นกรณีศึกษา โดยมี “อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์” Head of People จากวงใน , “ภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล จากไมเนอร์ ฟู้ด และ “เทียนธันย์ ณีศะนันท์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ SkillSolved Recruitment ร่วมให้ข้อมูลในอีเวนต์เสวนาออนไลน์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63
การสื่อสารสำคัญที่สุด
สิ่งแรกที่ทุกคนในเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญในการจัดการด้านการบริหารบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ คือ “การสื่อสาร”
อานนทวงศ์กล่าวถึงกรณีของวงในก่อนว่า บริษัทมีพื้นฐานการบริหารบุคลากรในแนวทางสตาร์ทอัพที่พนักงานจะใกล้ชิดกับผู้บริหาร แม้ว่าวันนี้วงในจะขยายใหญ่จนมีพนักงาน 300-400 คนแล้วก็ตาม แต่การสื่อสารองค์กรยังใช้แนวทางเดิม คือเป็นการสื่อสารโดยตรง จากผู้บริหารคือ “ยอด ชินสุภัคกุล” ซีอีโอวงใน
ตั้งแต่เริ่มเกิดสถานการณ์ COVID-19 ระบาด วงในมีการสื่อสารรายวันเกี่ยวกับความปลอดภัย และซีอีโอมีการเขียนจดหมายถึงพนักงานผ่านทางอีเมลไปแล้ว 8 ฉบับ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่บริษัทกำลังเผชิญ บริษัทกำลังทำอะไรบ้าง และขอให้ทุกคนช่วยกัน รวมถึงเมื่อมีการตัดสินใจที่กระทบเชิงลบ เช่น การตัดงบค่าใช้จ่าย ยอดจะเปิดวิดีโอคอลตรงกับพนักงานบริษัท เพื่อให้เป็นการสื่อสารสองทาง
“ควรเป็นวิดีโอคอลเพราะจะเห็นสีหน้า อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด ไม่แห้งเหมือนการเขียนอีเมล และวิดีโอคอลยังทำให้พนักงานที่มีคำถามสามารถถามตอบได้ทันที พนักงานที่รู้สึกไม่ดีจะมีช่องทางพูดคุย แน่นอนว่าจะยังมีคนที่รู้สึกไม่ดี นั่นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็พยายามลดช่องว่างระหว่างกันให้มากที่สุด” อานนทวงศ์กล่าว
ด้านภาณุวัฒน์จากเครือไมเนอร์ บริษัทผู้บริหารเชนร้านอาหาร เช่น พิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ควีน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ ฯลฯ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในจีนด้วย ทำให้ทราบสถานการณ์จากทีมงานในจีนที่เกิดโรคระบาดก่อน ดังนั้นจึงมีโมเดลต้นแบบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในไทย ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสื่อสารต่อในองค์กร
โดยเฉพาะเรื่องที่ไมเนอร์ ฟู้ดกำลังให้ความสำคัญคือ “New Normal” จากเคสที่ประเทศจีน หลังจากผู้บริหารรับทราบสถานการณ์แล้วจะนำมาสื่อสารต่อกับพนักงาน ในรายการ “Live สาระ” ผ่านระบบ MS Teams เพราะบริษัทมองว่า New Normal เหล่านี้จะเป็นความท้าทายใหม่ของบริษัท และบริษัทจะมีการส่งเสริมพนักงานให้ปรับตัว ทำให้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจตั้งแต่วันนี้
ด้านเทียนธันย์สรุปประเด็นการสื่อสารว่า เป็นสิ่งแรกๆ ที่องค์กรต้องทำเพื่อบริหารบุคลากร ยิ่งในช่วงวิกฤตมีความจำเป็นที่ต้องพูดถึงสถานการณ์จริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
“การสื่อสารอาจไม่ใช่การบอกเรื่องที่ดีตลอดเวลา บางครั้งการบอกสถานการณ์จริงนั้นสำคัญกว่า” เทียนธันย์กล่าว
การสื่อสารอาจไม่ใช่การบอกเรื่องที่ดีตลอดเวลา บางครั้งการบอกสถานการณ์จริงนั้นสำคัญกว่า
แคร์พนักงานจากใจจริง
ประเด็นต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลพนักงานทั้งกายและใจ ดูแลทั้งความปลอดภัยจากโรคระบาด และแสดงออกถึงความใส่ใจในแง่จิตใจด้วย
ในแง่ความปลอดภัยจากโรค ทั้งวงในและไมเนอร์ ฟู้ดมีนโยบาย ทำงานจากบ้าน (Work from Home) ไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม โดยวงในยังทำงานจากบ้านทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นทีมที่ยังต้องไปเยี่ยมร้านอาหาร ส่วนไมเนอร์ ฟู้ด มีการแบ่งเป็น 2 ทีมเพื่อสลับกันเข้าออฟฟิศแล้ว แต่มีการจัดออฟฟิศใหม่ให้โต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร รวมถึงมีนโยบายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการประชุม
ส่วนในแง่จิตใจ ภาณุวัฒน์กล่าวว่า สถานการณ์นี้ทำให้บริษัทต้องโยกย้ายพนักงานจากร้านที่มียอดขายต่ำไปอยู่ในร้านยอดขายสูง เช่น บอนชอน ซึ่งมีการขยายสาขาเพิ่ม และพนักงานบางกลุ่มต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ทีมเดลิเวอรี่ ดังนั้นบริษัทจึงให้ผู้บริหารอัดคลิปสั้นๆ ส่งถึงพนักงานระดับปฏิบัติการเพื่อขอบคุณความเสียสละ โดยบริษัทไม่เคยมีการสื่อสารลักษณะนี้มาก่อน
ฟากวงใน มีเดียมีสถานการณ์ที่สาหัสกว่า เพราะต้องรัดเข็มขัดทุกทางจนมีผลกระทบถึงตัวพนักงานคือ การลดสวัสดิการและการตัดเงินเดือน แต่ซีอีโอยังยืนยันว่าไม่มีการเลย์ออฟ อานนทวงศ์กล่าวเชื่อมโยงกับประเด็นการสื่อสารว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าบริษัท “แคร์” พนักงาน การตัดสินใจปรับลดค่าใช้จ่ายบริษัทต้องมีเหตุผลรองรับว่าได้ตัดส่วนที่ไม่สำคัญไปก่อนแล้ว ก่อนจะมาถึงสิ่งที่กระทบกับพนักงานโดยตรง
เทียนธันย์กล่าวสรุปว่า อย่างไรก็ตาม การแสดงออกถึงความแคร์พนักงานเป็นสิ่งที่ต้องสร้างรากฐานมาก่อนหน้านี้จึงจะมีประสิทธิภาพ และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการตัดสินใจลดเงินเดือนหรือเลย์ออฟคนจะมีผลกระทบระยะยาว เนื่องจากในอนาคตเมื่อองค์กรกลับมายืนได้ใหม่และต้องการคนเพิ่ม ต้องมีพื้นฐานชื่อเสียงที่ดีเกี่ยวกับการบริหารพนักงานจึงจะมีคนต้องการร่วมงานด้วย
สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ข้อนี้เป็นเรื่องการบริหารทีมให้ยังรู้สึกใกล้ชิดกัน โดยยกกรณีของไมเนอร์ ฟู้ด ที่นอกจากมีการทำ Live สาระ เป็นประเด็นสาระความรู้แล้ว ยังจัดกิจกรรมไลฟ์สไตล์ออนไลน์ในช่วงที่ต้อง Work from Home ด้วย เช่น จัดให้พนักงานรีวิวการทำอาหารหรือการออกกำลังกายจัดโปรแกรม Minor Got Talent และ TikTok Challenge ประกวดผ่าน MS Teams ซึ่งมีพนักงานทุกระดับเข้าร่วมรวมถึง C-level องค์กร โดยคลิปที่ชนะ TikTok Challenge บริษัทจะนำไปเผยแพร่ใน TikTok จริงๆ
“เราทำทั้งหมดนี้เพื่อให้คน Work from Home ได้โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว” ภาณุวัฒน์กล่าว
ทั้ง 3 ข้อคือสิ่งที่องค์กรต่างๆ ควรนำไปปรับใช้ เพราะช่วงเวลาวิกฤต COVID-19 คือบทพิสูจน์การบริหารอย่างแท้จริงว่าบริษัทไหนที่ “แคร์พนักงาน” และต้องการ “รอดไปด้วยกัน”