พาไปพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” บอสใหญ่แห่ง “Wongnai” ที่วันนี้เจอพายุลูกใหญ่ที่ชื่อว่า COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งในแง่ของธุรกิจ และพาร์ตเนอร์คนสำคัญก็คือ “ร้านอาหาร” กลายเป็นศึกใหญ่ที่ต้องฝ่าวิกฤตธุรกิจ และพาร้านอาหารในไทยรอดไปด้วยกัน
ยอมหั่นเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายบริษัท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกะรทบไปทั่วโลกในตอนนี้ เรียกว่าสร้างความเสียหายทางด้านร่างกาย และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในประเทศไทยเองได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการล็อกดาวน์ และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทุกธุรกิจต้องหยุดชะงักกันตามๆ กัน
วันนี้ Positioning ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม วงใน (Wongnai) แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ที่เติบโตจากการรีวิวอาหาร และได้ต่อยอดไปยังไลฟ์สไตล์อื่นๆ ทั้งท่องเที่ยว บิวตี้ และทำอาหาร
วงในไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งต้องฝ่าวิกฤตของทั้งบริษัทตัวเอง และช่วยพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านอาหารให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน แต่ด้วยความที่ Culture ขององค์กรเป็นสตาร์ทอัพที่คิดเร็ว ทำเร็ว ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการปรับตัวครั้งนี้
ยอดบอกว่า มาตรการเบื้องต้นของบริษัทในตอนนี้คือ “ลดค่าใช้จ่าย” เป็นนโยบายที่หลายองค์กรเริ่มใช้แล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ปรัยลดสวัสดิการของพนักงานต่างๆ แต่ยืนยันไม่ปลดพนักงาน
“ตอนนี้ทุกวงการได้รับผลกระทบหมด วงในมีทั้งสื่อ และงานอีเวนต์ ก็ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ส่วน เพราะสปอนเซอร์หาย แบรนด์ชะลอการใช้จ่าย ตอนนี้ได้มีมาตรการปรับลดเงินเดือนบางส่วน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ลดสวัสดิการของพนักงาน ตัดงบการตลาดเหลือศูนย์ จากปกติที่ใช้หลักหลายล้าน”
การปรับลดเงินเดือนของวงในมีเป็นขั้นบันได และเบื้องต้นได้ลดเป็นเวลา 2 เดือนก่อน ตัวของยอดเองยอมลดเงินเดือน 50% ระดับเมเนจเมนต์ลด 30% และพนักงานทั่วไปลด 20% มีการปรับลดสวัสดิการอย่างอาหารกลางวัน เบิกค่ารถ ค่า และกิจกรรมอื่นๆ และให้พนักงาน Work from Home
โดยปกติแล้ววงในจะมี Core Value ที่เรียกง่ายๆ เหมือนค่านิยมองค์กร 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Impact, Grit, Speed และ Flexible เพื่อสะท้อนการทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อเกิดวิกฤตครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยน Core Value เป็น “ออกศึก” เพียงคำเดียวเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้พนักงานสู้ไปด้วยได้
พร้อมกับกำหนดวลี และคำย่อใหม่ว่า #สปดกรจรกม แปลว่า “สู้ไปด้วยกันเราจะรอดกันหมด”
ปรับคอนเทนต์ตามสถานการณ์
นอกจากการมีมาตรการเรื่องลดค่าใช้จ่ายแล้ว ในเรื่องการทำงานก็ต้องปรับครั้งใหญ่ เพราะ COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการเสพสื่อ เสพคอนเทนต์อย่างสิ้นเชิง
ธุรกิจหลักของวงในก็คือการทำสื่อ การทำคอนเทนต์ต่างๆ ที่วันนี้มีแตกไลน์ออกมาทั้ง Wongnai Beauty, Wongnai Travel และ Wongnai Cooking เมื่อวิถีชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไปทานอาหารเหมือนเดิมไม่ได้ เดินศูนย์การค้าก็ไม่ได้ ท่องเที่ยวก็ไม่ได้ การทำคอนเทนต์ของวงในก็ต้องมีการปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
“ด้านคอนเทนต์มีการปรับใหม่ ทำแบบเดิมไม่ได้เพราะคนไม่สนใจ สำหรับอาหารต้องมาดูว่าคนใช้ชีวิตอย่างไรในตอนนี้ รวมถึงทำคอนเทนต์ช่วยเหลือร้านอาหารด้วย ร้านมีการปรับตัวอย่างไร มีโปรดักต์อะไรใหม่ๆ รวมถึงทำ Unbox สำหรับเดลิเวอรี่ ส่วนของบิวตี้มาทำคอนเทนต์พวกออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน แต่ท่องเที่ยวจะกระทบหนัก ก็หยุดทำหมดเลย แต่คอนเทนต์ทำอาหารคนยังสนใจอยู่ เพราะคนอยู่บ้านกัน”
ทำให้มีการ Rotation ตำแหน่งงานกันภายในชั่วคราว ย้ายทีม หรือตำแหน่งที่ทำหน้าที่เดิมไม่ได้ ไปช่วยทีมอื่น ที่ผ่านมีการโยกตำแหน่งเป็นร้อยคนแล้ว เป็นการปรับเรื่องการทำงานภายในให้คล่องตัว
ต้องพาร้านอาหารรอดไปด้วยกัน
“ร้านอาหารกระทบหนักกว่า ข้อมูลจาก Wongnai POS ของเราพบว่า ร้านอาหารยอดขายหายไป 80%”
เป็นข้อมูลที่หลายคนรู้อย่างดี เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการแบบปกติไม่ได้ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ไม่สามารถให้บริการแบบนั่งทานที่ร้านได้ ต้องซื้อกลับบ้าน หรือแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ทำให้ร้านอาหารต้องประสบวิกฤตอย่างหนัก บางเจ้าต้องหากลยุทธ์หนีตายเพื่อให้ร้าน และพนักงานอยู่ ความท้าทายของวงในจึงต้องทำให้ร้านอาหารในไทยอยู่รอดไปด้วยกัน
ยอดบอกว่าร้านอาหารกลุ่ม Fine Dining ร้านที่ต้องอาศัยกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงร้านชาบู ปิ้งย่าง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการนั่งทานที่ร้าน แต่ก็พบว่าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการทำโปรโมชั่นซื้อชาบูแถมหม้อให้เห็นบ้างแล้ว ก็ทำให้มียอดขายกลับมาบ้าง
“ทางรอดของร้านอาหารในตอนนี้ ต้องลดรายจ่าย เพราะรายได้ไม่เท่าเดิมอีกต่อไป และร้านปรับตัวให้เร็ว ตอนนี้เดลิเวอรี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ต้องปรับเมนูให้เหมาะเดลิเวอรี่มากที่สุด”
แต่ถึงแม้ว่าเดลิเวอรี่จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่สามารถทดแทนได้แค่ 30% เท่านั้น อีกทั้งเรื่องการใช้จ่ายต่อครั้งก็ต่างกัน ด้วยพฤติกรรมคนไทย ถ้าไปทานอาหารที่ร้านยอมจ่ายหัวละ 500 บาทได้ ได้ทานอาหารครบทั้งคาวหวาน แต่กับช่องทางเดลิเวอรี่คนยอมจ่ายเฉลี่ย 150 บาท เป็นเรื่องของประสบการณ์ล้วนๆ
เดลิเวอรี่โตสุด แต่กำไรแสนบาง
นอกจากธุรกิจสื่อ วงในยังมีกลุ่มธุรกิจ POS เป็นผู้ช่วยให้กับร้านอาหาร และยังมีธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง LINE MAN และ Lalamove เป็นผู้บุกเบิกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยก็ว่าได้
ในวิกฤตนี้ตลาดเดลิเวอรี่เติบโตสูงสุดในบรรดาทุกธุรกิจ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจนี้กลับไม่มีกำไรมากมายขนาดนั้น เพราะด้วยการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
LINE MAN ได้เปิดตลาดมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่การแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เริ่มมีให้เห็นอย่างดุเดือดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นเจ้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทั้ง GrabFood, Food Panda และ GET ซึ่งทำให้ตลาดแข่งกันด้วย “ค่าส่ง” ที่แสนถูก เริ่มต้นเพียงแค่ 10 บาท เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้งาน แต่ส่วนทางกับต้นทุน
แน่นอนว่าการตัดราคาเรื่องค่าส่ง ทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน เพราะจริงๆ แล้วตลาดเดลิเวอรี่ต้องมีการคิดค่าส่งตามระยะทางของลูกค้า การแข่งขันแบบนี้เป็นการ “สปอย” ผู้บริโภค เมื่อทางแพลตฟอร์มเก็บค่าส่งกับลูกค้าในราคาถูกที่ 10 บาท แพลตฟอร์มก็ต้องมาเก็บรายได้จากทางร้านในรูปแบบของค่า GP หรือค่าธรรมเนียมร้านค้าในอัตรา 25-30%
เมื่อดูข้อมูลตลาดในต่างประเทศในตลาดใหญ่ๆ อย่างเกาหลี หรือสหรัฐอเมริกา จะมีการต่อสู้กันราวๆ 2-3 ปี จนถึงจุดหนึ่งที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ทั้งแพลตฟอร์ม ร้านค้า และลูกค้า ค่าส่งอาจจะเพิ่มขึ้น และลด GP ร้านค้าลง
ยอดได้พูดถึงประเด็นดราม่าที่ว่าแพลตฟอร์มมีการเก็บค่า GP ที่แพง “เราอยากช่วยร้านอาหารจริงๆ ช่วยโดยที่ไม่ตาย แต่ถ้าเราลดค่า GP เราตายก่อน เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้มีกำไร อาจจะสามารถลดค่า GP ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านการแข่งขัน แล้วตลาดมีความลงตัว ตอนนี้เอาตัวรอดให้ได้ก็เก่งแล้ว”
สุดท้ายยอดได้พูดถึงวิกฤตครั้งนี้ไว้ว่า “ครั้งนี้เป็นผลกระทบที่หนักจริงๆ หาคนที่ไม่กระทบน้อยมาก เราเป็นสตาร์ทอัพก็เหนื่อย อยากให้ทุกคนต้องดูเรื่องกระแสเงินสดให้ดี ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้ ตอนนี้ยังไม่รู้วิกฤตจะจบเมื่อไหร่ ต้องแข่งกันดำน้ำ ใครไม่ไหวตายไปก่อน”
สำหรับ 3 กิจกรรมที่ยอดอยากทำมากที่สุด หลังจากหมดวิกฤต COVID-19 ได้แก่ ไปทานอาหารร้านที่จองยากๆ อย่างร้าน “มหาสาร” ไปเที่ยวต่างจังหวัด และปาร์ตี้กับเพื่อน
- อินทัช ควักเงินหนุน “วงใน” อัดฉีดสตาร์ทอัพครั้งใหญ่สุดใน 9 ราย
- Wongnai #Saveร้านอาหาร ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ให้ “ทุกร้าน” เปิดขายเดลิเวอรีบน LINE MAN ได้ทันทีภายใน 1 ชั่วโมง! ฟรี เพียงดาวน์โหลด Wongnai Merchant App