วิเคราะห์เศรษฐกิจ ‘อาเซียน’ ที่กำลังเผชิญ ‘จุดต่ำสุด’ พร้อมแนะหลัก ‘3 อยู่’ ไว้รับมือ New Normal

เรียกได้ว่าวิกฤติไปทั่วโลก สำหรับการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่แม้จำนวนผู้เสียชีวิตอาจดูไม่รุนแรงหากเทียบภัยพิบัติอื่น ๆ แต่เพราะการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศของตัวเอง โดย ดร. สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Sea (Group) ได้ออกมาวิเคราะห์ทิศทางของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเผชิญวิกฤติ ว่าจากนี้จะเป็นอย่างไรกันบ้าง และจุดสิ้นสุดจะจบที่ตรงไหน

ดร. สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Sea (Group)

ไตรมาสแรกไม่ใช่จุดต่ำสุด

มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ 1.การควบคุมการระบาด 2.การพึ่งพาอุตสาหกรรม และ 3.นโยบายเศรษฐกิจ อย่าง

  • สิงคโปร์ ต้องพึ่งพาการส่งออก ขณะที่การควบคุมก็ทำได้ไม่ดีจนเกิดการระบาดระลอกสอง ทำให้ต้องเพิ่มมาตราการล็อกดาวน์
  • มาเลเซีย ก็เน้นส่งออกน้ำมันยิ่งได้รับผลกระทบหนัก
  • ฟิลิปปินส์ แม้ไม่พึ่งพาการส่งออก แต่มาตรการล็อกดาวน์ทำได้ไม่ดีทำให้กระทบต่อระบบขนส่ง
  • อินโดนีเซีย ก็จัดการช้า อีกทั้งค่าเงินผันผวนง่าย
  • ไทย ถือว่าสาธารณสุขดีกว่าประเทศอื่น แต่เศรษฐกิจเราพึ่งพาท่องเที่ยวสูงมาก ส่วนเกษตรก็กระทบจากภัยแล้ง ดังนั้นเราจึงไม่ได้รับผลกระทบแค่ทางเดียว
  • เวียดนาม ควบคุมได้ดีมาก ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ดังนั้น เกือบทุกประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบหนัก โดย GDP ไตรมาสแรกของหลายประเทศออกมา แย่ กว่าที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งถือว่าแย่กว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่น่ากลัวคือ ไตรมาสแรกไม่ใช่จุดต่ำสุดของภูมิภาคและทั่วโลก แต่เป็นจุดต่ำสุดของจีนประเทศเดียว เพราะได้รับผลกระทบก่อน ดังนั้นจึงค่อนข้างน่ากลัว

ฟื้นตัวอีกทีปีหน้า

จุดต่ำสุดของอาเซียนจะอยู่ที่ไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 จะยังไม่ดีขึ้น เพราะคนยังรู้สึกแย่ อีกทั้งช่วงไตรมาส 2 อาจจะเป็นการยื้อให้รอดของผู้ประกอบการ แต่ไตรมาส 3 อาจจะยื้อไม่ไหววิกฤติจะยิ่งหนัก ดังนั้น ยังพูดได้ยากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ เพราะคงไม่ฟื้นแบบทันที แต่จะค่อย ๆ ฟื้น แต่ถ้าจะเสี่ยงเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นเร็วอาจเสี่ยงเจอการระบาดระลอกสอง ดังนั้นเศรษฐกิจจะไม่มีการฟื้นตัวที่รู้สึกได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นอาจต้องรอปีหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกือบทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หายไป แต่จะมีอุตสาหกรรมกลุ่ม 2H ได้แก่ Health Care และ From Home หรือเศรษฐกิจคนติดบ้านที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก อาทิ แอปพลิเคชันสำหรับทำงานออนไลน์ที่เติบโต อีกส่วนคือกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ หนัง ซีรีส์ เกม และอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบหนักสุด คือ อุตสาหกรรมที่ต้องใกล้ชิดลูกค้า เช่น ท่องเที่ยว, บันเทิง

หลัก 3 อยู่ ใช้กับ New Normal

ตอนนี้ยังไม่เข้าสู่ New Normal เพราะตอนนี้ยังไม่มีไวรัส แต่ถ้าทุกอย่างเป็นปกติ แล้วคนยังติดพฤติกรรมเดิม ถึงจะเป็นว่า New Normal ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งได้ 3 เฟส

1. Abnormal เป็นช่วงเริ่มต้นวิกฤติที่ทำให้คนต้องอยู่แต่บ้าน โดยในส่วนของผู้ประกอบการต้อง อยู่รอด โดยต้องกลั้นหายใจ โดยต้องลดต้นทุนต่าง ๆ ดูแลกระแสเงินสดให้ดี

2. New Abnormal การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ยังไม่เข้าสู่ความปกติ ในเฟสนี้ผู้ประกอบการต้อง อยู่เป็น โดยค่อยเริ่มดำเนินธุรกิจต่อ แต่อย่าออกตัวแรง อย่าทุ่มเงิน เพราะความไม่แน่นอนสูง เป็นช่วงที่ต้องทดลอง ต้องปรับตัวให้เร็ว

3. New Normal จริง เมื่อเริ่มชิน คนจะกลับมากังวลเรื่องเศรษฐกิจไม่แพ้เรื่องสาธารณสุข จากตอนแรกคนกลัวติดโรค แต่ตอนนี้คนกลัวแรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจมากกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้อง ทำความเข้าใจว่าอะไรที่น่าจะเปลี่ยนไปถาวร อะไรเป็นแค่ชั่วคราวที่จะอยู่แค่ช่วง Abnormal เพื่อให้องค์กรนั้น อยู่ยืน ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาพใหญ่ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาของตัวเอง แต่ต้องช่วยกันในทุกภาคส่วน อย่างใน ระยะกลาง นี้ รัฐและเอกชนควรออกมาช่วยกันสร้างงานและสร้างคน อาจช่วยหาเงินทุนให้คนที่ไม่มีงานอยู่บ้านได้เฉย ๆ เพื่อให้ไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดโรค ส่วนอาชีพที่ไม่ต้องพบคนมากก็มีโอกาสจะถูกหุ่นยนต์แทนที่ในอนาคต ดังนั้นต้องไปเพิ่มคนกลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มที่ต้องเจอคนเยอะแต่สามารถไปออนไลน์ได้ เช่น ครู หรือค้าขาย ก็ต้องสนับสนุนอีกแบบหนึ่ง โดยสอนให้ใช้เครื่องมือดิจิทัล ส่วน ระยะยาว อาจต้องมานั่งคิดกันในทุกภาคส่วน ดูว่า New Normal จริง ๆ จะเป็นอย่างไร จะแตกต่างไปกว่าที่คาดไว้อย่างไร นี่ต้องมานั่งทบทวนแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติกันอีกที