นอกเหนือจากหนัง 3D จะมาเขย่าจอแล้ว ธุรกิจสื่อในโรงภาพยนตร์พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย จากแนวโน้มที่จะมีการผลิตหนังโฆษณาในรูปแบบ 3D โดยเฉพาะ
นิธิ พัฒนภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีแอด จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ POSITIONING ว่า มีลูกค้า 2-3 ราย ในกลุ่มธุรกิจยานยนต์และธุรกิจสื่อสาร พูดคุยถึงแนวทางการทำหนังโฆษณา 3D กับทางเมเจอร์ฯ แล้ว และภายในเดือนกันยายน 2553 นี้จะได้บทสรุป
หนังโฆษณาที่ฉายในโรงดิจิตอล 3D จะมีค่าบริการสูงกว่าการฉายในโรงทั่วไปราว 20% ดังนั้นเมื่อจำนวนสัดส่วนของโรงดิจิตอล 3D เพิ่มมากขึ้นและกระจายไปตาม Strategic Location ต่างๆ ก็จะทำให้เมเจอร์ ซีนีแอด มีรายได้จากหนังโฆษณามากขึ้นตามไปด้วย
แม้ตั๋วของโรงดิจิตอล 3D จะมีราคาสูงกว่าตั๋วโรงทั่วไป แต่ก็มี Occupancy สูง เนื่องจาก หนังโฆษณาที่นำมาฉายในโรงหนังดิจิตอล 3D นั้น จะเสียค่าคอนเวิร์ทจากเทปมาเป็นดิจิตอลในราคาที่ต่ำลง จากเดิมค่าคอนเวิร์ทจากเทปมาเป็นฟิล์มมีต้นสูงทำให้หนังโฆษณาส่วนใหญ่ในโรงหนังเป็น Coporate Ad ที่ต้องยืนระยะนาน 3-6 เดือน หรือบางรายอาจเป็นปี เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน
นิธิบอกว่า จากนี้ไปหนังโฆษณาโปรโมชั่นจะมีให้เห็นมากขึ้นด้วย เช่น แมคโดนัลด์และบรรดาร้านอาหารและ FMCG ทั้งหลายซึ่งนิยมใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นกันมากเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำลง
ภาพรวมสื่อโฆษณาในโรงหนัง เขาคาดว่าจะเติบโตจากปี 2552 ราว 15-20% เช่นเดียวกับอัตราการเติบโตของจากสื่อโฆษณาในโรงหนังของเครือเมเจอร์ โดยมีเครือเมเจอร์ครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 70%
ทั้งนี้ปี 2552 ที่ผ่านมา นีลเส็นรายงานว่า สื่อโรงภาพยนตร์มีมูลค่า 4,947 ล้านบาท เติบโตจากปี 2551 ถึง 18.55% ส่วนภาพรวมการใช้สื่อโฆษณาโรงภาพยนตร์ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2553) เติบโต 38.33%
นอกเหนือจากปัจจัยที่มีหนัง 3D ฟอร์มใหญ่มากขึ้น และจำนวนโรงหนังดิจิตอล 3D มีมากขึ้นนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการเติบโตของสื่อนี้ด้วย คือ มีลูกค้าที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและลงเม็ดเงินกับสื่อในโรงหนังแบบครบวงจร อาทิ ยูนิลีเวอร์ เนสกาแฟ โตโยต้า ปตท. และอื่นๆ เป็นต้น จากลูกค้าทั้งหมดในปี 2552 ที่มีอยู่ 70-80 ราย เพิ่มขึ้นในปี 2553 อีก 20-30%
หนังโฆษณาส่วนใหญ่ที่เลือกลงในเครือเมเจอร์ฯ นั้นมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษาและคนทำงานรุ่นใหม่ที่คิดเป็นสัดส่วน 70% ของลูกค้าเครือเมเจอร์ฯ ทั้งหมด
นิธิเชื่อว่าหากมีหนังโฆษณา 3D มากขึ้น ย่อมทำให้พฤติกรรมลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบดูโฆษณาก่อนหนังจะเริ่มฉายเปลี่ยนไป คือ เข้าโรงหนังตามเวลารอบฉาย เพราะมีแรงดึงดูดที่จะดูหนังโฆษณา 3D ด้วยนั่นเอง
“เราเคยทำผลสำรวจใน 30 สาขาของเครือเมเจอร์ฯ ถึงพฤติกรรมการรับชมหนังโฆษณาในโรงหนังพบว่า 50% เข้าชมในรอบเวลาที่กำหนด และไม่ปฏิเสธที่จะรับชมหนังโฆษณา และมีเพียง 3-4% เท่านั้นที่ตั้งใจกะเวลาเข้าโรงหนังในเวลาที่หนังจะเริ่มฉายจริงๆ”
ปัญหาดังกล่าวเขาได้นำเสนอให้กับลูกค้าให้ทำหนังโฆษณาเวอร์ชั่นพิเศษที่แตกต่างจาก TVC หรือมีความยาวมากขึ้นซึ่งจะดึงดูดอารมณ์ร่วมและทำให้คนรู้สึกเต็มอิ่มกับโฆษณามากขึ้นโดยเฉพาะแคมเปญโฆษณาที่ต้องการสร้าง Emotional Engagement
เมื่อฮาร์ดแวร์พร้อม ที่เหลือก็เพียงแค่ว่าจะออกแบบซอฟต์แวร์อย่างไรเพื่อทำให้คนดูรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและรู้สึกร่วมกับหนังโฆษณา 3D ในโรงหนังให้ได้
โฆษณา 3มิติจดจำได้มากกว่า
จากผลวิจัยของ Pearl & Dean พบว่า 88% ของคนที่เข้าไปชมหนัง 3D จดจำโฆษณา 3D ในโรงหนังได้ และนั่นคือเหตุผลที่ว่า อุตสาหกรรมโฆษณาและนักการตลาดต่างตื่นเต้นกับหนัง 3D และมองเห็นโอกาสที่จะใกล้ชิดและ Engage กับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
39% บอกว่า พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้นเมื่อชมโฆษณา 3D ในโรงภาพยนตร์
ปัจจุบันในต่างประเทศมีหลายอุตสาหกรรมที่กระโจนทำโฆษณา 3D ในโรงภาพยนตร์ เช่น ยานยนต์ ท่องเที่ยว ขนมขบเคี้ยว อาหาร โทรศัพท์มือถือและหน่วยงานรัฐบาล
Cadbury และ Nickelodeon เป็นแบรนด์แรกๆ ที่อยู่ในระหว่างการทดลองโฆษณา 3D
แต่ก็ต้องระวังด้วย ทั้งเนื้อเรื่อง ดารา และตัวบทที่ต้องน่าสนใจจริงๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า “The Storytelling is always King” ก็ยังเป็นจริงอยู่เสมอ