ในฐานะอีกหนึ่ง Cinema Operator รายใหญ่ของเมืองไทย เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ เล็งเห็นถึงสัญญาณดีของหนัง 3D มานาน จนกระทั่งส่วนผสมทุกอย่างพร้อมลงตัว จุดระเบิดก็เกิดขึ้น
สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ POSITIONING ถึงทิศทางธุรกิจของเอสเอฟฯและอนาคตของหนัง 3D ในไทย
ค่ายนี้ลงทุนติดตั้งดิจิตอลเมื่อ 4-5 ปีทีผ่าน ถือโปรเจคเตอร์เป็นรายแรกของเอเชียใกล้เคียงกับในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากนั้นลงทุนในอุปกรณ์ 3D เพิ่ม และปัจจุบันโรงหนังที่ฉายหนัง 3D ของเอสเอฟนั้นฉายด้วยระบบ DOLBY 3D DIGITAL ซึ่งเป็นระบบสำหรับการดูหนังระยะยาวในโรงหนังโดยเฉพาะ โดยแว่นตา 3D ก็ได้รับการพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาใส่แล้วสบายตา สามารถวามแว่นตา 3D ทับได้เลย
สุวิทย์ยกตัวอย่างของ AVATAR เช่นเดียวกับวิชาที่ว่า AVATAR เป็นจุดเปลี่ยนของหนัง 3D ทั้งในระดับโลกและในไทยด้วย
“ไม่มีใครสงสัยอีกต่อไปแล้วสำหรับหนัง 3D และเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับคนทำหนัง 3D ว่า ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะหนัง Animation ซึ่งมีโอกาสสูงสุดสำหรับหนัง 3D เท่านั้น”
เขาบอกว่า หนัง Box Office ที่เป็นภาคต่อต่างๆ เช่น Spider Man ที่กำลังจะสร้างก็ประกาศสร้างเป็นหนัง 3D แล้ว
ส่วนราคาตั๋วที่แพงขึ้นจากโรงหนังทั่วไปหรือหนัง 2D นั้นเขามองว่าไม่เป็นอุปสรรค จากราคาตั๋วเฉลี่ยของเอสเอฟฯ อยู่ที่ 120-160 บาท (ขึ้นอยู่กับที่นั่งและโลเกชั่น) ขณะที่ราคาตั๋วหนัง 3D เริ่มต้นที่ 220 บาท สูงกว่าปกติ 20-30% และนั่นหมายถึง ATP (Average Ticket Price) ย่อมสูงขึ้น และรายได้ของโรงหนังและค่ายหนังก็สูงขึ้นโดยอัติโนมัติ
“คนดูยอมจ่าย เพื่ออรรถรสในการชมที่เต็มอิ่มมากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตามการดูหนังก็ถือเป็นความบันเทิงนอกบ้านราคาถูกและเป็นกิจกรรม Top of Mind ของคนในปัจจุบัน”
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายหลักของเอสเอฟฯ คือกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงานอายุ 16-30 ปี กลุ่มเป้าหมายรองคือ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่
สุวิทย์บอกว่าหนัง 3D มีมานานมากแล้ว แต่เป็น 3D บนฟิล์ม ดูผ่านแว่นตากระดาษเป็นฟิล์มสีแดง-น้ำเงิน ให้ภาพที่ไม่สมบูรณ์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีรุดหน้าไปมากและถือว่าเป็นช่วงที่หนัง 3D สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
“ทุกวันนี้ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ปูพื้นรออยู่แล้ว และ 3D พัฒนาบนแพลตฟอร์มของดิจิตอล และบูมไปในแทบทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้ง Supply Chain แต่รวมถึงสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย เช่น โทรทัศน์ เป็นต้น”
นอกจากนี้เพื่อกระตุ้นให้คนดูหันมาดูหนัง 3D มากขึ้นจึงมีกิจกรรมโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับเซ็นทรัล การ์ด กับแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
หนังไทยทำได้ แต่ไอเดียต้องเด็ดจริง
ที่สำคัญแม้เขาจะบอกว่าการลงทุนสำหรับ 3D ดิจิตอล โปรเจคเตอร์ จะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวดอกผลในระยะสั้นหรือคืนทุนในเร็ววันได้ก็ตาม แต่เขามองว่านี่คือ “สีสัน” ที่ขาดไม่ได้
เพราะหากดูจากจำนวนหนังต่อปีแล้วมีกว่า 250 เรื่องที่เป็นหนัง 2D และมีเพียง 20 เรื่องที่เป็นหนัง 3D คิดเป็นสัดส่วนยังไม่ถึง 10% ดังนั้นอีกนานกว่าที่หนัง 3D จะกลายเป็น Mainstream
แต่ผลทางอ้อมที่ดีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบคือ หนัง 3D จะช่วยทำให้แผ่นผีลดน้อยลงโดยเฉพาะกับหนังฟอร์มใหญ่
“ถามว่าคุ้มหรือเปล่าตอนนี้ คำตอบคือยังไม่คุ้ม แต่ก็ช่วยกระตุ้นให้คนออกมาดูหนังมากขึ้น เพราะกว่าจะคืนทุนก็ใช้เวลา7-8 ปี และลงทุนแพงกว่าปกติ 4-5 เท่า แต่ถือว่าเป็นสีสันของโรงหนัง และเป็น Good Sign แน่นอน”
สุวิทย์บอกว่าจากที่พูดคุยกับค่ายหนังหลายๆ ค่าย พบว่ามีความสนใจที่จะทำหนัง 3D หนึ่งในนั้นคือค่ายใหญ่ทุนหนาอย่างสหมงคลฟิล์ม
“หนังไทยยุคนี้ไม่ได้มองโอกาสเฉพาะในประเทศเท่านั้น ผู้สร้างหนังมองตลาดต่างประเทศซึ่งมีศักยภาพมาก ดังนั้นหากจะลงทุนทำหนัง 3D ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีกำลังเพียงพอที่จะทำได้ แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะประสบความสำเร็จ เพราะมีหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบโดยเฉพาะบทและสไตล์ของหนัง เพราะลำพังคำว่าหนัง 3D ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ”
“ที่ตอนนี้ฮือฮากันเพราะคนตื่นเต้นและสนใจกับเทคโนโลยีนี้มาก แต่ On-Going แล้วจะไปได้ไกลแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับหนังเรื่องนั้นๆ เป็นหลัก ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะทำก็ทำได้หมด”
เขายกตัวอย่างหนัง 3D เรื่องราวของนักเต้นอย่าง Street Dance ที่เพิ่งลาจอไป ก็ถือว่าเป็นหนัง 3D ที่ไปไม่ถึงเส้นชัย ขณะที่ Step Up หนังแนวเดียวกันอีกเรื่องจ่อคิวฉายในรูปแบบของ 3D เช่นเดียวกัน
ก้าวช้า แต่ชัวร์
ปัจจุบันเอสเอฟฯ มีโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 180 โรง มีเครื่องฉาย 3D DOLBY DIGITAL จำนวน 16 เครื่องซึ่งกระจายในทุกสาขา เพื่อรองรับความต้องการดูหนัง 3D ของผู้บริโภคที่มีอยู่ในทุกโลเกชั่น
“เราเน้นการขยายสาขาใน Strategic Location ไปกับศูนย์การค้า จะเห็นว่าเอสเอฟฯ มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้าที่มี Traffic สูงอันดับต้นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเดอะมอลล์ บางกะปิ มาบุญครอง เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล เวิลด์ ซึ่งสาขาหลังกำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงพร้อมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ที่จะเปิดให้บริการในตุลาคม 2553 นี้”
ขณะที่แผนลงทุนเพิ่มเกี่ยวกับโรงหนัง 3D นั้น สุวิทย์บอกว่า จะพิจารณาจากจำนวนหนัง 3D ที่กำลังจะเข้าฉายและพิจารณาจากโลเกชั่นและกำลังซื้อ ทั้งนี้จะมีการลงทุนเพิ่มอย่างแน่นอน แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด
ส่วนสาขาใหม่ในปีนี้จะมี 1 สาขา คือ โรบินสัน ตรัง และต้นปีหน้าจะเปิดอีก 1 สาขาที่ Terminal 21 บริเวณแยกอโศก
สำหรับก้าวต่อไปของเอสเอฟฯ คือ การลงทุนสาขา Stand Alone และจะกลายเป็น Retail Developer ไม่ใช่ Cinema Operator อีกต่อไป โดยมองรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ที่จะเสริมศักยภาพให้กับเอสเอฟฯ ต่อไป
“ยังมีโลเกชั่นดีๆ อีกมาก บนถนนสายหลักของกรุงเทพฯ”